สภาผู้บริโภค ค้านตั้งบอร์ดกำกับบัตรทองเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มี ปชช. ด้าน 'ชลน่าน' ชี้ปัญหาหนี้ให้ชะลอเรียกเก็บไปก่อน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากกรณีเครือข่ายสถานพยาบาล 5 สถาบัน เรียกร้องต่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ให้มีการตั้งคณะกรรมการด้านผู้ให้บริการ (Provider Board) และปรับระบบบริหารจัดการของ สปสช. ซึ่งที่ผ่านมาทำให้สถานพยาบาลการเงินติดลบ โดยเบื้องต้นหลังรับฟังและหารือร่วมกันกับ สปสช. เบื้องต้นให้มีการยกร่างตั้ง Provider Board ภายใต้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และชะลอการหักเงินที่มีการติดหนี้กันอยู่
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 สภาผู้บริโภคย้ำชัดถึงหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) จะต้องยึดถือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ คือ ประชาชน
สะท้อนได้จากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่กำกับคุณภาพและมาตรฐานของบัตรทองในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติจนถึงท้องถิ่น มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน ถึงแม้สัดส่วนประชาชนจะจำกัดและน้อยกว่า แต่ก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีในเฝ้าระวังและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขควรต้องมีการทบทวนและเพิ่มสัดส่วนของภาคประชาชนเข้าไปในบอร์ดดังกล่าวฯ และอาจทำให้สิทธิบัตรทองถอยหลังเข้าคลองและถูกรัฐคุมเบ็ดเสร็จ โดยที่ภาคประชาชนจะไม่มีส่วนร่วมกำกับมาตรฐานการให้บริการสุขภาพ
'ชลน่าน' หนุนตั้งบอร์ดผู้ให้บริการ ชี้ปัญหาหนี้ให้ชะลอเรียกเก็บไปก่อน
โดยในวันเดียวกันนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า Provider Board จะเป็นผู้ให้บริการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ภาคเอกชน รพ.สังกัด สธ. หรือกระทรวงอื่น ซึ่งในกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้พูดถึงตรงนี้ แต่ไปกำหนดมาตรฐาน โดยมีคณะกรรมการควบคุมมาตรฐาน แต่จากวิธีการ กระบวนการ และเทคนิคการให้บริการต่างๆ และค่าใช้จ่ายที่ฝั่งผู้ให้บริการเห็น จึงอยากมีส่วนร่วมในการนำเสนอเพื่อพัฒนาระบบ เลยมีความคิดว่าน่าจะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งมารองรับ ที่เป็นตัวแทนของผู้ให้บริการทุกฝ่ายเข้ามาอยู่ เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและนำสู่ปฏิบัติ ซึ่งเรื่องนี้เคยเสนอบอร์ด สปสช.แล้ว มีมติให้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่า อำนาจหน้าที่ของบอร์ดจะสามารถแต่งตั้งกรรมการชุดนี้ได้หรือไม่ อยู่ในขั้นตอนการศึกษาของอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง
"ในส่วนที่เขาต้องการ Provider Board หรือคณะกรรมการผู้ให้บริการ คาดหวังแม้กระทั่งเสนอเรื่องที่เรียกว่า National Clearing House เป็นหน่วยงานกลางดูแลการเบิกจ่ายเงินทั้งหมดทุกสิทธิ ยังไม่มีหน่วยงานกลาง เป็นข้อเสนอ ส่วนจะเป็น สปสช.หรือไม่ จริงๆ โดยมิติของกฎหมายควรจะเป็นอย่างนั้น สปสช.ไม่ได้ดูเฉพาะบัตรทอง สปสช.ควรจะต้องดูทุกระบบ เพราะกรรมการ สปสช.มาจากทุกภาคส่วนอยู่แล้ว เพียงแต่เข้าใจว่าวิธีปฏิบัติดูเหมือน สปสช.ดูเฉพาะบัตรทองซึ่งไม่ใช่" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินว่า มันเป็นหนี้เชิงระบบทางบัญชีของวิธีการคิดค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่าง สปสช.กำหนดการจ่ายอยู่ที่ 8,350 บาทต่อหน่วย เมื่อไปดูหน่วยบริการต่างๆ ทำงานได้แค่ 7,900 บาท แต่จ่ายไปแล้ว 8,350 บาท ก็เป็นภาระหนี้ค้างบัญชี ในการตีความเรื่องหน่วยน้ำหนักแต่ละที่วิธีคิด อาจจะไม่สะท้อน แต่กรณี รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป เขาทำถึง 2 หมื่นบาทต่อหน่วย แต่จ่าย 8,350 บาท ตรงนี้ใครจะเป็นหนี้ เขาทำมากกว่า UHosNet โรงเรียนแพทย์ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 13,500 บาท ถ้า สปสช.จ่าย 8,350 บาท ใครเป็นหนี้ใคร ก็จะตอบในตัวอย่างนี้ แต่ตอนนี้ สปสช.เขาถือหลักว่าวิธีคิดแบบนี้ จ่าย 8,350 บาทไปแล้ว แต่ทำได้ 7,900 บาท ทำได้ 8,100 บาท ก็เป็นหนี้ สปสช.
นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า แนวทางที่เราให้ไว้เป็นหนี้ทางบัญชี เกิดจากวิธีการคิดของการจ่าย ซึ่งวิธีการคิดการจ่ายแบบนี้ สะท้อนจากการให้บริการแต่ละที่แต่ละแห่ง เราเลยให้แนวว่า การให้บริการแล้วไปกำหนดวิธีคิดแบบนี้ อาจไม่สอดคล้องการให้บริการจริง ภาระเรื่องการเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปกำหนดน้ำหนักอย่างนี้ก็ได้น้อย อาจจะเป็นหนี้ สปสช. แต่บางแห่งทำมากกว่านั้น ก็เลยให้ไปดูรายละเอียดวิธีการคิดให้ถูกต้องเหมาะสม เพราะเป็นหนี้แค่บัญชีเท่านั้น ถ้าวิธีการคิดที่ชอบแล้วถูกแล้วก็อาจจะเป็นหนี้จริง ไม่ว่าจะ รพ.รัฐ หรือคลินิกชุมชนอบอุ่น ก็เลยให้ชะลอการเรียกเก็บหนี้
หาวิธีคิดแบบใหม่ หาเงินชดเชย
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เดิม สปสช.จะใช้เม็ดเงินปีงบประมาณ 2567 ที่จ่ายตั้งแต่ ต.ค. 2566 จะหักไว้ตรงนั้น เช่นเป็นหนี้ 100 ก็หักไปเรื่อยๆ ตนก็ให้แนวทางว่า มันเป็นหนี้ทางบัญชีจ่ายให้เต็มไป ได้เท่าไรก็จ่ายไป ได้ 1 ก็จ่าย 1 แต่ภาระตรงนี้ 1.ไปดูรายละเอียด 2.เมื่อดูเสร็จแล้วมาดูว่าจำเป็นต้องใช้หนี้กันอย่างไร ถ้าพิสูจน์ได้ว่าวิธีการคิดแบบนี้ไม่ชอบ ไม่สอดคล้องไม่เหมาะสม มีวิธีคิดแบบใหม่อาจจะมาเท่ากัน หนี้ก็เป็นศูนย์ สปสช.ก็เป็นหนี้ด้วยซ้ำไป หรือเมื่อถูกแล้วอาจจะต้องหาวิธีการหาเงินมาชดเชยตรงนี้
นพ.ชลน่าน กล่าวถึงกรณีคลินิกชุมชอบอุ่นที่มีการเบิกค่าใช้จ่ายไปถึง 50% แล้วเพียง 4 เดือนว่า เป็นข้อเสนอหนึ่งที่เกิดจากการร่วมประชุมกันเพื่อหาแนวทางร่วมกันว่า วิธีการจ่ายที่ถูกต้องเหมาะสมคืออะไร ใช้โมเดล 5 Fee Schedule ในการกำหนดรายการและเพดานการจ่ายอาจจะไม่เหมาะ ก็บอกไม่อยากใช้โมเดล 5 แล้ว เพราะวิธีการจ่ายแบบนี้ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ขณะนี้คือ กทม. ต้องไปูรายละเอียด
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ส่วนจะเหลืองบพอหรือไม่นั้น เราต้องเข้าใจระบบประกันสุขภาพ เป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนมีสิทธิเข้าสู่หลักประกัน 67 ล้านคนในเรื่องส่งเสริมป้องกัน 50 ล้านคนเข้าสู่หลักประกันรักษาพยาบาล วิธีคิดขาขึ้นคิดแบบเหมาจ่ายรายหัว คือ 3,400 บาทต่อคน ทุกคนมาร่วมเฉลี่ยทุกข์สุข เพราะทุกคนไม่ได้ป่วย คนไม่ป่วยเอาของตัวเองให้คนป่วย ก็เป็นการเกลี่ยที่พอเพียง วิธีการจ่ายขาลงก็ต้องมาดูรายละเอียดให้พอเพียงอย่างไร เพราะการคำนวณขาขึ้นเชื่อว่าคำนวณรอบคอบพอแล้ว ยกเว้นว่าขาขึ้นคำนวณไม่ถูกสอดคล้องก็ต้องไปปรับ คือ วิธีการแก้ปัญหา
"วิธีการคำนวณไม่แยก แต่ขาลงแยก ถามว่าทำให้งบไม่พอด้วยหรือไม่ ควรแยกตั้งแต่ขาขึ้นหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถามว่าพอไม่พอมีข้อจำกัด ขาขึ้นที่เราคำนวณคือคำนวณถึงค่าดำเนินการ อยู่ที่ร้อยละ 60 ค่าจ้างค่าตอบแทนเงินเดือนอยู่ที่ร้อยละ 40 บวกกันเป็นขาขึ้น เมื่อก่อนขาลงไม่แยก โยนลงไปเงินเดือนกินหมดเลย อย่างบางที่หน่วยบริการเยอะ เช่น น่าน 15 รพ. ประชากร 4 แสนคน ขาลงแทนที่จะ 60:40 กลายเป็น เงินเดือน 70 งบบริการเหลือ 30 สิ่งที่ทำขณะนี้คือแยกขาลงให้ชัด พอแยกเงินเดือนออกไป เอา 60% มากระจายเข้าไปเรื่อง UC และ Non UC นี่คือขาลว ทำให้เงินเดือนไม่มากิน" นพ.ชลน่านกล่าวว่า