สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 และทรงเป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติประจำปี รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติประจำปี รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ A โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ หลังจากทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมแล้ว ทอดพระเนตรวีดิทัศน์ และทรงฟังการบรรยาย หัวข้อ Is our world coming together or falling apart? “โลกของเรากำลังผนึกพลัง หรือกำลังแตกสลาย?”
มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กรสุขภาพระดับโลก เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ธนาคารโลก องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ และหน่วยงานระดับนานาชาติต่างๆ ร่วมกันจัดการประชุมนานาชาติประจำปี รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 ขึ้น ระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม 2567 ภายใต้แนวคิด “ภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคงของมนุษย์ และความเสมอภาคทางสุขภาพในยุคแห่งวิกฤตการณ์หลากมิติ"
การประชุมนานาชาติประจำปี รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลนี้ เป็นการประชุมนานาชาติด้านสุขภาพที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก มีผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานระดับนานาชาติเข้าร่วมประชุมและเสนอประเด็นนโยบายด้านสุขภาพที่สำคัญ อันจะก่อประโยชน์ให้เกิดแก่นักวิชาการและผู้นำด้านการแพทย์การสาธารณสุขของไทย ในการสร้างเครือข่ายกับองค์กร นักวิชาการ และผู้นำด้านการแพทย์การสาธารณสุขระดับโลก รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและส่งผลดีต่อประเทศไทยในการแสดงบทบาททางด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้ประจักษ์แก่เวทีโลกด้วย
โอกาสนี้ ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์
จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปีนี้เป็นหัวข้อเรื่อง “พระคุณูปการของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเนื่องใน 100 ปี การอุดมศึกษาไทย”
การจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาของไทย เริ่มต้นอย่างแท้จริงเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลระหว่างที่ทรงศึกษาวิชาแพทย์และสาธารณสุข ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ทรงวางแผนพัฒนาการแพทย์ไทยไปพร้อมกัน เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาวิชาสาธารณสุขแล้ว ทรงรับเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยทรงเจรจาเพื่อความร่วมมือกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์
ประการหนึ่งนั้น คือ ยกระดับการศึกษาวิชาแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จากหลักสูตรประกาศนียบัตรแพทย์ เข้าสู่มาตรฐานสากลในระดับปริญญาแพทยศาสตร์ เป็นคณะวิชาแรกของเมืองไทย เริ่มการเรียนการสอนในพุทธศักราช 2466 จนถึงวันนี้ เป็นเวลาหนึ่งร้อยปี มีนักเรียนแพทย์สำเร็จการศึกษารุ่นต่อรุ่น จากคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ ทั่วประเทศจำนวนมาก สร้างความแข็งแกร่งให้กับการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยอย่างต่อเนื่อง นับเป็นพระคุณูปการของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ทรงมีต่อการอุดมศึกษาไทยอย่างแท้จริง
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2566
โดยวานนี้ (24 มกราคม 2567) เวลา 16 .30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2566 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
ในปีพุทธศักราช 2566 มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ทั้งสิ้น 92 ราย จาก 31 ประเทศ
ผลปรากฏว่า ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2566 สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา จากอิตาลี/สหรัฐอเมริกา และสาขาการสาธารณสุขได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค จากสหรัฐอเมริกา
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลสาขาการแพทย์ ได้ค้นพบและสกัดโปรตีนที่เร่งการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด หรือโปรตีนวีอีจีเอฟ (VEGF) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด นำไปสู่การพัฒนายาชนิดแอนติบอดีต่อโปรตีนวีอีจีเอฟ ได้แก่ ยาบีวาซิซูแมบ หรือเอวาสติน ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะที่มีความรุนแรงร่วมกับมีการสร้างหลอดเลือดอย่างหนาแน่น ได้แก่ มะเร็งสมอง มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้ และยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเอเอ็มดี ด้วยผลิตภัณฑ์ยาที่มีองค์ประกอบหลักเป็นส่วนของแอนติบอดี และมีฤทธิ์ต้านการทำงานของโปรตีนวีอีจีเอฟ คือ ยารานิบิซูแมบ (ลูเซนติส) อีกด้วย
ผลสำเร็จจากการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโปรตีนวีอีจีเอฟ และการรักษาด้วยยาแอนติบอดีต่อโปรตีนวีอีจีเอฟนี้ ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในผู้ป่วยโรคมะเร็ง และโรคตา เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลก
ศาสตราจารย์ นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลสาขาการสาธารณสุข สนใจภาวะพิษจากยาพาราเซตามอล ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะตับวายเฉียบพลันร้อยละ 40-70 ของผู้ป่วยทั่วโลก ได้รวบรวมกรณีผู้ป่วยภาวะพิษจากยาพาราเซตามอลเกินขนาด นำมาใช้เป็นข้อมูลสร้างเป็นภาพกราฟ ประดิษฐ์เป็นเครื่องมือประเมินความเสี่ยงและวินิจฉัยผู้ป่วยภาวะพิษจากยาพาราเซตามอลเฉียบพลัน เรียกว่า รูแมค-แมทธิว โนโมแกรม เป็นภาพกราฟแสดงระดับความเข้มข้นของยาพาราเซตามอลในเลือด ระยะเวลาหลังการกินยาเกินขนาด และบ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อภาวะเป็นพิษต่อตับในผู้ป่วยแต่ละราย
เครื่องมือนี้ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาภาวะพิษจากพาราเซตามอลเกินขนาดแบบเฉียบพลันได้อย่างเหมาะสม เป็นส่วนสำคัญของแนวทางการรักษา และเป็นมาตรฐานสากลในการรักษาภาวะพิษจากพาราเซตามอล การประยุกต์ใช้เครื่องมือนี้ร่วมกับประสิทธิภาพของยาต้านพิษ ช่วยลดภาวะตับอักเสบชนิดรุนแรงจากพาราเซตามอลลงอย่างมาก แนวทางการรักษานี้ยังคงใช้ในห้องฉุกเฉินทั่วโลกในปัจจุบัน นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ รูแมค ยังพัฒนาและบุกเบิกการใช้พ้อยซินเดกซ์ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลทางด้านพิษวิทยาคลินิก และเป็นฐานข้อมูลมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงในการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลและศูนย์พิษวิทยาทั่วโลกอีกด้วย
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ พุทธศักราช 2535
ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และลัทธิการเมือง เป็นประจำทุกปีตลอดมา ปีนี้นับเป็นปีที่ 32 แล้ว แบ่งเป็นทางด้านการแพทย์ 1 รางวัลและด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ
โอกาสนี้ ได้พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารด้วย