เวทีเสวนาเพิ่มค่า CPI เห็นตรงกันต้องเปลี่ยนแปลงความคิดประชาชนให้รับรู้ค่าทุจริต รองเลขา ป.ป.ช.เผยอาจถึงขั้นต้องปฏิวัติวัฒนธรรม ขณะศาสตราจารย์จารกฮาร์วาร์ดชี้การเสริมสร้างตัวอย่างเป็นเรื่องสำคัญมาก ส่วนอนุ กก.โครงการสรับสนุนแผนต้านทุจริตย้ำต้องแก้ไขเรื่องการสื่อสารและการศึกษา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 19 ม.ค.มีการจัดงานเสวนาในหัวข้อ “ความท้าทายและโอกาสในการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การ ทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ของประเทศไทยอย่างมีส่วนร่วม” ภายใต้โครงการประชุมระดับชาติเพื่อการส่งเสริมศักยภาพและขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาค
โดยมีผู้เข้าเสวนาได้แก่นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการสนับสนุนแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายแมทธิว ซี สตีเฟนสัน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่วิทยาลัยกฎหมายมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
โดยนายอุทิศ กล่าวว่ากรณีค่าดัชนี CPI นั้นถูกกำหนดโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เป็นแผน 20 ปี และแผนยุทธศาสตร์ชาติมีการขับเคลื่อน ป.ป.ช.ก็ต้องเป็นผู้ดำเนินการไปตามแผนนั้น ดังนั้นการจะทบทวนว่า CPI จะเป็นตัวชี้ผลการดำเนินงานหรือ KPI ได้หรือไม่ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องกลับไปที่คณะกรรการยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ใช่ ป.ป.ช. โดย ป.ป.ช.ก็ต้องดำเนินการไปตามแผน 20 ปี ส่วนการจะแก้ปัญหาของประเทศไทยได้นั้นยอมรับว่ามันถึงขั้นต้องปฏิวัติวัฒนธรรม เพราะสิ่งที่เป็นอยู่นั้นมันอาจไม่ใช่ยุคของมัน เพราะ ทั้งโลกมันมีการปฏิวัติกันหมด แต่เรายังอยู่ในแนวคิดเดิม เปรียบเหมือนกับการเอาคนในยุคอนาล็อกมาทำงานในยุคดิจิทัล อาทิ กรณีเรื่องเปอร์เซ็นต์ยาซึ่งกว่าจะเลิกได้ก็มีปัญหากับหมอ เพราะตามหลักการเปอร์เซ็นต์ยานั้นเป็นสินบน แต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลับบอกว่าเป็นเงินบำรุง หรืออย่างเรื่องนโยบายไม่ให้ของขวัญ ป.ป.ช.ก็พยายามรณรงค์ แต่ถ้าคนเวอร์ชันเก่าอยู่มันก็เลิกไม่ได้ ดังนั้นนเราต้องรู้ตัวเราว่ารากฐานของเราเป็นอย่างไรก่อน จากนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงบุคลิก พฤติกรรมคน จากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง
ทางด้านของนายเกียรติอนันท์ กล่าวว่าสิ่งที่จำเป็นก็คือเรื่องของการศึกษา การสื่อสารให้เด็กรับทราบว่าการกระทำอะไรนั้นคือการทุจริต ต้องให้รู้ก่อน ตามด้วยการมีความซาบซึ้งและหลังจากนั้นจะมีแอ็คชั่นหรือการปฏิบัติเอง แต่ถ้าหากว่าอย่าทุจริต แต่ไม่ชี้แจงว่าการทุจริตนั้นคืออะไร คนก็จะไม่รู้ ดังนั้นการสื่อสารที่ดีคือสิ่งที่จำเป็นมาก เช่นเดียวกับทาง ป.ป.ช.ที่เขาก็ทำงานหนักมาก และก็ทำแต่เราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ดังนั้นเราทำงานในเชิงการสื่อสารยั่งอ่อนไปนิดหนึ่ง ดังนั้นสรุปก็คือว่าในกระบวนการศึกษานั้น ไม่ควรเป็นแค่การให้หลักสูตรอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการศึกษาเรื่องเชิงพฤติกรรมด้วยว่าสิ่งไหนถูก และสิ่งไหนไม่ถูก ถ้าหากสื่อสารได้แบบนี้ 10 ปี 10 เรื่อง ค่า CPI ก็สามารถขึ้นมาได้
ขณะที่นายสตีเฟนสันกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดการทุจริตนั้นต้องมีทั้งการเปลี่ยนแปลงแนวคิด เปลี่ยนแปลงการศึกษาและเปลี่ยนแปลงเรื่องวัฒนธรรมเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ทว่าไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แม้ในประเทศที่มีวัฒนธรรมการทุจริตค่อนข้างแพร่หลาย แต่การกระทำทุจริตนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดในการหาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง ดังนั้นเราต้องยืนยันในหลักการเรื่องนี้ ขอยกตัวอย่าง อาทิ วัยรุ่นที่มักจะมองเห็นพฤติกรรมเสแสร้งของผู้ใหญ่ ที่บอกว่าอย่าทำแบบนี้ อย่าทำแบบนั้นแต่ตัวเองก็ทำเรื่องนั้นเสียเอง หรือไม่ก็ผู้ใหญ่คนอื่น หรือว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียนทำในสิ่งที่ไม่ดีให้เห็นเป็นตัวอย่าง ถ้าเป็นแบบนั้นเเด็กจะเห็นว่าผู้ใหญ่เองก็ไม่ปฏิบตัิตามกฎอย่างจริงจัง สรุปก็คือว่าการสาธิตให้เห็นว่าอะไรคือมาตรฐานทางจริยธรรมนั้น การสร้างตัวอย่างให้ดูนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าหากทำได้แล้วการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมก็จะเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้น