สภาฯ มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ ‘สมศักดิ์’ แจงต้องปรับแก้ให้สอดคล้องรัฐธรรมนูญ ด้าน'วิโรจน์'ชงร่างประกบขอพบโกงสอยทันที
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 3 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ช่วงวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงรายละเอียดว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว ผ่านการแก้ไข 3 ครั้ง เพื่อได้ปรับปรุงกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงการทำงานที่ล่าช้า และมีปัญหาในทางปฏิบัติในรูปแบบทุจริตที่ซับซ้อน รวมถึงให้กรรมการป้องกันและปรามบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีอำนาจรองรับภารกิจของรัฐ ส่งเสริมสนับสนุนและให้ความรู้กับประชาชนอันตรายในการทุจริตในภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ประชาชนรวมตัวรณรงค์ ต่อต้าน ชี้เบาะแสโดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐ
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ไขล่าสุดเป็นครั้งที่ 4 เพื่อให้ ปรับปรุงหน้าที่อำนาจของ ป.ป.ท. ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ รวมถึง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ส่วนที่เกี่ยวกับการประพฤติมิชอบให้ครอบคลุมการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐทุกมิติ ของ ป.ป.ท. รวมถึงสร้างความน่าเชื่อถือของการทำงานในองค์กร เพราะมีหน่วยงานภาครัฐเข้าไปกำกับ โดยแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นสำคัญ อาทิ นิยาม ประพฤติมิชอบ ให้ ป.ป.ท. มีอำนาจ รับเรื่อง ไต่สวน ชี้มูลความผิด และให้ครอบคลุมความผิดวินัยเจ้าหน้าที่รัฐทุกเรื่อง ไม่เฉพาะเรื่องประพฤติมิชอบเท่านั้น
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เพิ่มอำนาจขอศาลออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาหลังจาก ป.ป.ท.ชี้มูลความผิด, เพิ่มสิทธิชี้แจงข้อกล่าวหาจนกว่ามีมติชี้มูลความผิด, ให้สิทธิทบทวนมติชี้มูลความผิดของ ป.ป.ท. กรณีมีพยานหลักฐานใหม่ที่เป็นสาระสำคัญ, เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อสกัดปัญหาการทุจริต ประพฤมิชอบ และตรวจสอบการทุจริตได้ทันสถานการณ์ ที่สอดคล้องกับการประเมินการจัดอันดับของไทย
“ป.ป.ท.ตรวจสอบได้ โดยไม่ต้องรอ ป.ป.ช.มอบหมาย และเริ่มไต่สวนได้ตามกฎหมาย ไม่ต้องตั้งอนุกรรมการไต่สวน สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ที่ให้ลดมีกรรมการ โดยทำให้เสร็จ 2 ปี ขยายไม่เกิน 3 ปี เพื่อให้การทำงานสำเร็จเร็วในกรอบเวลาและนำมาซึ่งการลงโทษผู้กระทำผิดรวดเร็ว รวมถึงเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้” นายสมศักดิ์ กล่าว
ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในทำนองเดียวกันด้วย โดยแถลงหลักการและให้เหตุผล ว่า ประเทศไทยยังมีภัยร้ายคอร์รัปชันที่กดขี่ประชาชน ให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจได้ตามอำเภอใจ กลายเป็นเครื่องมือในการรังแก เรียกรับผลประโยชน์จากประชาชน
"ทุกวันนี้บ้านเมืองเต็มไปด้วยผู้มีอิทธิพล มาเฟียข้ามชาติ จีนสีเทา ที่เอาเงินสกปรกของพวกมันมาติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ และมีเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มที่ไปรับประทานอาหารเม็ดของคนพวกนี้ เอาเงินของพวกมันมาซื้อตำแหน่ง สุดท้ายพอได้ตำแหน่งไป ก็ต้องยอมให้พวกนี้มาสวมปลอกคอ กระดิกหาง เป็นลูกสมุนคอยปกป้องอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจสีเทาของพวกมัน" นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวว่า แม้กระทั่งแก๊งขอทานในอดีต ท่านประธานก็คงจะเห็นว่าหัวหน้าแก๊งเป็นคนไทย แต่ทุกวันนี้ผู้มีอิทธิพลหรือหัวหน้าแก๊งที่เป็นคนไทยยังถูก Disrupt จากจีนสีเทาไปแล้ว
"ท่านประธานทราบหรือไม่ว่าในแต่ละปีมูลค่าการทุจริตคอร์รัปชันมีคุณค่าถูกประเมินเอาไว้สูงถึง 3 แสนล้านบาท มาจากส่วนแรกคือการโกงแผ่นดิน ประเภทนี้คือการเรียกรับเงินทอนจากการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ การฮั้วประมูล การขยายสัญญาสัมปทานให้เอกชนอย่างไม่เป็นธรรม การรับซื้อไฟฟ้าจากนายทุนโรงไฟฟ้าอย่างที่เกินจำเป็น เป็นต้น" นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า อีกส่วนหนึ่งเป็นสิ่งที่ร้ายกาจพอสมควร มาจากการรีดไถเก็บส่วย ไม่ว่าจะเป็นส่วยธุรกิจผิดกฎหมาย การซื้อขายตำแหน่ง การรีดไถประชาชนที่มาติดต่อราชการ ร่างกฏหมายที่ตนเสนอเพื่อให้ครอบคลุมการประพฤติผิดต่างๆของเจ้าหน้าที่รัฐ
คำว่าประพฤติมิชอบในกฎหมายปัจจุบัน นิยามให้ครอบคลุมเพียงแค่การใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ในการเก็บรักษา เงินหรือทรัพย์สินของแผ่นดินเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลที่ตนเสนอกฎหมายนี้ เพื่อให้ครอบคลุมการประพฤติผิดต่างๆของเจ้าหน้าที่รัฐ
นายวิโรจน์ ระบุรายละเอียดในร่างกฎหมายดังกล่าวว่า ต้องกำหนดให้ ป.ปท.เริ่มไต่สวนภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ได้รับเรื่องและต้องไต่สวนและพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีนับ ตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่อง และถ้าต้องการขยายเวลา รวมแล้วต้งอไม่เกิน 4 ปี
"การทุจริตแตกต่างจากความผิดประเภทอื่น ไม่ใช่เรื่องที่ค้นหาพยานหลักฐานได้ง่าย ส่วนใหญ่พยานหลักฐานมักจะอยู่กับตัวผู้กระทำความผิด และผู้กระทำความผิดมักจะชำนาญในเรื่องดังกล่าวดีที่สุด และหลักฐานการประพฤติชั่วอย่างนั้น ก็มักจะผุดขึ้นมาหลังจากที่เจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวได้คนจากอำนาจหน้าที่ไปแล้วสักระยะหนึ่ง ดังนั้น กฎหมายฉบับที่ผมและเพื่อน สส. เสนอ จึงกำหนดให้ ป.ป.ท. จะปฏิเสธการรับเรื่องเอาไว้ไม่ได้ แม้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจากพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไปนานเพียงใดก็ตาม เจอเมื่อไหร่สอยได้เมื่อนั้น" นายวิโรจน์ กล่าว