ปลัดแรงงานเผย คณะกรรมการค่าจ้างยืนยันใช้ขึ้นค่าแรง 2-16 บาท ตามมติวันที่ 8 ธ.ค. 2566
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ครั้งที่ 10/2566 ว่า มติของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 มีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 ตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 เนื่องจากสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างใช้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 เป็นสูตรที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเห็นชอบให้อนุกรรมการจังหวัดทุกจังหวัดใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นการพิจารณาด้วยเหตุผลและบนข้อมูลเศรษฐกิจปัจจุบัน
สำหรับข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คณะกรรมการค่าจ้างจะได้นำไปประกอบพิจราณาปรับสูตรในการกำหนดค่าจ้างใหม่ เพื่อพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำโดยเร็วที่สุด เมื่อสภาพเศรษฐกิจมีความเปลี่ยนแปลง หรือมีข้อเรียกร้องของลูกจ้าง หรือเป็นความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ
"ตอนนี้ใช้ตามมติเดิมไปก่อน ก็คือขึ้นค่าแรงตามมติเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ส่วนเมื่อคำนวณสูตรใหม่โดยเร็วก็จะเรียกประชุมบอร์ดพิจารณาค่าจ้างใหม่อีกครั้ง" นายไพโรจน์กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ได้สูตรใหม่แล้วจะมีการประชุมอีกครั้งหมายความว่าอาจจะมีการเพิ่มค่าแรงรอบ 2 ในปีหน้าใช่หรือไม่
นายไพโรจน์ กล่าวว่า ใช่ ในปีหน้า และจะคำนวณโดยเร็วที่สุด ซึ่งสูตรเก่าคำนวณเรื่องของค่าเงินในปี 63-64 ที่มีโควิด ซึ่งช่วงนั้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ ก็นำมาคำนวณใหม่เพื่อให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น ผลเป็นอย่างไรจะแจ้งให้ทราบต่อไป นอกจากนี้ตนเองจะเสนอรายชื่อคณะอนุกรรมการปรับสูตรในวันที่ 17 ม.ค. 2567
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 คณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั้ง 77 จังหวัด ในอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท ซึ่งค่าจ้างค่าขั้นต่ำที่เพิ่มมากที่สุดคือ จ.ภูเก็ต คือ 370 เพิ่มขึ้นจาก 354 บาท และต่ำที่สุดคือ 330 บาท ใน 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 328 บาท รวม 77 จังหวัด เฉลี่ย 345 บาท
อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 370 บาท 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต จากเดิม 354 บาท
อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 363 บาท 6 จังหวัด กรุงเทพมหานคร (353) จังหวัดนครปฐม (353) นนทบุรี (353) ปทุมธานี (353) สมุทรปราการ (353) และสมุทรสาคร (353)
อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 361 บาท 2 จังหวัด จังหวัดชลบุรี (354) และระยอง (354)
อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 352 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา (340)
อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 351 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสงคราม (338)
อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาท จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (343) สระบุรี (340) ฉะเชิงเทรา (345) ปราจีนบุรี (340) ขอนแก่น (340) และเชียงใหม่ (340)
อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 349 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี (340)
อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 348 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี (340) นครนายก (338) และหนองคาย (340)
อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 347 บาท จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ (340) และตราด (340)
อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 345 บาท จำวน 15 จังหวัดกาญจนบุรี (335) ประจวบคีรีขันธ์ (335) สุราษฎร์ธานี (340) สงขลา (340) พังงา (340) จันทบุรี (338) สระแก้ว (335) นครพนม (335) มุกดาหาร (338) สกลนคร (338) บุรีรัมย์ (335) อุบลราชธานี (340) เชียงราย (332) ตาก (332) พิษณุโลก (335)
อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 344 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี (335) ชุมพร (332) สุรินทร์ (335)
อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 343 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยโสธร (335) ลำพูน (332) นครสวรรค์ (335)
อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 342 บาท จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช (332) บึงกาฬ (335) กาฬสินธุ์ (338) ร้อยเอ็ด (335) เพชรบูรณ์ (335)
อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 341 บาท จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท (335) สิงห์บุรี (332) พัทลุง (335) ชัยภูมิ (332) และอ่างทอง (335)
อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 340 บาท จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง (332) สตูล (332) เลย (335) หนองบัวลำภู (332) อุดรธานี (334) มหาสารคาม (332) ศรีสะเกษ (332) อำนาจเจริญ (332) แม่ฮ่องสอน (332) ลำปาง (332) สุโขทัย (332) อุตรดิตถ์ (335) กำแพงเพชร (332) พิจิตร (332) อุทัยธานี (332) และราชบุรี (332)
อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 338 บาท จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตรัง (332) น่าน (328) พะเยา (335) แพร่ (332)
อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 330 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส (328) ปัตตานี (328) และยะลา (328)