16 ธ.ค. 2566 ปากีสถานทดลองฝนเทียมครั้งแรก หลังพบวิธีการใหม่ในการรับมือระดับความอันตรายของมลพิษทางอากาศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2566 สำนักข่าว South China Morning Post รายงานการทดลองฝนเทียมครั้งแรกของประเทศปากีสถาน เพื่อรับมือกับปัญหาฝุ่นควัน โดยผลการทดลองมีฝนตกปรอย ๆ อย่างน้อยใน 10 พื้นที่ในเมืองลาฮอร์ (เมืองหลวงแคว้นปัญจาบ)
นายโมห์ซิน นัควี (Mohsin Naqvi) หัวหน้าคณะรัฐมนตรีแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน กล่าวว่า มีฝนตกปรอย ๆ อย่างน้อย 10 พื้นที่ ในเมืองลาฮอร์ ทั้งนี้เมืองลาฮอร์เป็นเมืองที่ติดอันดับเมืองที่มลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่องรวมถึงวันที่มีการทดลองฝนเทียม โดยเจ้าหน้าที่ได้ติดตามตรวจสอบผลกระทบหลังการทดลองฝนเทียมในรัศมี 15 กิโลเมตร ซึ่งการทดลองครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
นายโมห์ซินให้ความมั่นใจกับประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของฝนเทียม โดยอ้างถึงจำนวนภารกิจประจำปีมากกว่า 1,000 ครั้งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเทคโนโลยีที่คล้ายกันที่ใช้โดยสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ
ทั้งนี้คุณภาพอากาศในเมืองลาฮอร์แย่เป็นพิเศษในช่วงสองถึงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลเมืองลาฮอร์ใช้หลายวิธีในการรับมือ รวมถึงการปิดธุรกิจก่อนกำหนดและการปิดโรงเรียนเพิ่มอีกสองวัน เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศ แต่ก็ไม่ได้ผล
ทางการปากีสถานตำหนิการปล่อยมลพิษทางอุตสาหกรรม ได้แก่ ควันจากเตาเผาอิฐและยานพาหนะ และการเผาเศษพืชผลและขยะทั่วไป ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและหมอกควันในแคว้นปัญจาบตอนกลาง
นายโมห์ซิน กล่าวอีกว่า จะมีฝนเทียมตกมากขึ้นในเมืองที่จะติดตั้งหอหมอกควันในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ทั้งนี้มีหมอกควันสีขาวปกคลุมอย่างน้อย 10 เขตของจังหวัดปัญจาบตอนกลาง รวมถึงเมืองลาฮอร์เมืองหลวงของแค้วน ซึ่งมีประชากรมากกว่า 11 ล้านคน
นอกจากนี้ประเทศปากีสถานรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของโลก แต่เป็นหนึ่งใน 10 ประเทศที่มีความเปราะบางทางสภาพอากาศมากที่สุด