ป.ป.ช.สนธิกำลัง ปปป. ปปง. ป.ป.ท. อายัดทรัพย์ ขรก.กรมวิทย์ฯ สธ.คดีทุจริตจัดซื้อเสียหายหลายล้าน ป.ป.ท.เผยพฤติการณ์ ขรก.ทุจริตตั้งเรื่องเบิกจ่ายครั้งละไม่เกินแสนจัดซื้อเข้าบริษัทเครือญาติกว่าสิบปีเสียหายหลายสิบล้าน
สืบเนื่องจากที่ปรากฎเป็นข่าวเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.กรณีที่พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผบช.ก. มอบหมายให้ พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. พ.ต.อ.สิทธิพร กระสิ ผกก.2.บก.ปปป. พร้อมด้วย นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)สนธิกำลังกันจับกุมข้าราชการในสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากมีพฤติการณ์ทุจริตเอกสารการจัดซื้ออันเป็นเท็จ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าจากกรณีดังกล่าวในช่วงเย็นวันที่ 7 ธ.ค. ป.ป.ช.ได้มีการทำเอกสารข่าวแจกสรุปในคดีนี้ระบุว่า
สำนักงาน ป.ป.ช. ภายใต้การอำนวยการของนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้นายสุขสันต์ ประสาระเอ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ นายไพโรจน์ นิยมเดชา ผู้อำนวยการกลุ่มสืบสวนและปฏิบัติการข่าว 2 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. เข้าปฏิบัติการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. และเจ้าหน้าที่ ปปง. เข้าจับกุมตัวนางรัตนาภรณ์ หงษ์ทอง นักวิชาการพัสดุ สังกัดสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนางจรรยา ทรัพย์ธรณี เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน สังกัดสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. ได้รับเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรณีตรวจพบว่า นางจรรยา ทรัพย์ธรณี และนางรัตนาภรณ์ หงษ์ทอง ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นมารดาและบุตรสาว และบุคคลทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ได้ร่วมกันทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างฯทำให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับความเสียหาย
พบว่าในช่วงปีงบประมาณ 2566 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ได้มีการทำเอกสารเกี่ยวกับการจัดซื้อพัสดุประเภทพัสดุวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีการเฉพาะเจาะจง จำนวน 44 ครั้ง มูลค่า 4,386,313.06 บาท กับ บริษัท เอ็น วาย พลัส จำกัด ซึ่งมี นายอานนท์ หงษ์ทอง เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และจากการตรวจสอบยังพบว่า นายอานนท์ เป็นสามีของ นางรัตนาภรณ์ฯ
เมื่อตรวจสอบเอกสารการจัดซื้อพัสดุในเบื้องต้น โดยพบว่าบุคคลทั้งสามได้ร่วมกันจัดซื้อจัดจ้างเครื่องมืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ โดยไม่มีการส่งมอบของแต่อย่างใด แต่กลับมีการเบิกจ่ายงบประมาณการจัดซื้อให้แก่บริษัทของ นายอานนท์ฯอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปรากฏพยานหลักฐานในชั้นต้นว่ามีความเชื่อมโยงทางการเงินของบุคคลทั้งสาม
ทำให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. จึงนำกำลังเข้าจับกุมตัว นางรัตนาภรณ์ฯ และนางจรรยาฯที่สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจับกุมนายอานนท์ฯ ที่บ้านพักในอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งได้แจ้งข้อกล่าวหาพร้อมกับแจ้งสิทธิตามกฎหมายแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามราย
ในเบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งสามให้การรับสารภาพ จึงได้ควบคุมตัวไปที่ บก.ปปป. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ยังได้ขยายผลตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 5 จุด เบื้องต้นพบเงินสดจำนวนกว่า 4 ล้านบาทอาวุธปืนออโตเมติกและลูกโม่ จำนวน 6 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุนจำนวน 40 นัด โฉนดที่ดิน จำนวน 6 ฉบับ รถยนต์จำนวน 4 คัน รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ (DUCATI กับ HARLEY) จำนวน 2 คัน นาฬิกา ROLEX จำนวน6 เรือน และกระเป๋าแบรนด์เนมจำนวน 6 ใบ และทรัพย์สินอื่น ๆ อีกหลายรายการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการยึดอายัดไว้เพื่อตรวจสอบต่อไป
สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวเพิ่มเติมว่าเกี่ยวกับคดีนี้นั้นมีการแถลงข่าวไปเมื่อเวลา 15.00 น. โดยในการแถลงข่าวนายภูมิศาล เกษมสุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เปิดเผยว่า คดีนี้เกิดขึ้นจากการร้องเรียนผ่านบัตรสนเทห์ ที่ระบุใจความสำคัญถึงกระบวนการของผู้ต้องหา ซึ่งระบุว่า “ด้วยมีรายชื่อหนึ่งรายชื่ออยู่ที่ฝ่ายบริหาร สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการจัดซื้อวัสดุ โดยวิธีเจาะจงกับร้านที่ร่วมกระทำความผิดบ่อยครั้ง แต่ละครั้งยอดนั้นไม่เกิน 100,000 บาท ที่อยู่ของร้านนั้น อยู่ที่เดียวกับบ้านของผู้ที่กระทำความผิดรายนี้ ขอให้ช่วยไปดำเนินการตรวจสอบให้หน่อย”
เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ก็พบว่าพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหา มีการกระทำที่เป็นการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างจริง โดยนางรัตนาภรณ์ เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุจัดทำรายการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ จากนั้นก็เสนอรายการต่อนางจรรยา ซึ่งเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และมีความสัมพันธ์เป็นแม่ของนางรัตนาภรณ์เอง ซึ่งนางจรรยา มีอำนาจในการอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างโดยตรง ซึ่งในกรณีนี้มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้วิธีเฉพาะเจาะจง กรณีงบประมาณไม่เกิน 100,000 บาท
เมื่อได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้วก็จะมีการสั่งซื้อพัสดุในนาม สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยสั่งซื้อจากบริษัท เอ็นวาย พลัส จำกัดในเบื้องต้นการตรวจสอบรายการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 จนถึงช่วงเดือนสิงหาคมปี 2566 พบการจัดซื้อจัดจ้าง รวม 89 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 8,865,640.15 บาท
"นางจรรยา รับข้าราชการที่สถาบันชีววิทยาวิทยาศาสตร์มานานกว่า 30 ปีแล้ว จึงมีการตรวจสอบ บริษัทลูกสาวและบริษัทลูกเขยเมื่อทำการตรวจย้อนหลังกลับไป 10 ปีจนถึงปี 2566 รวมแล้วทั้งสิ้นมีการเบิกทิพย์เป็นตัวเลขทีน่ากลัวถึง 721 ครั้ง มูลค่าความเสียหายวันนี้ที่ตรวจพบเจอ 51.3 ล้านบาทถ้วน" นายภูมิศาลกล่าว
สรุปการจัดซื้อที่เป็นปัญหาในแต่ละปี
ทางด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวว่าเรื่องนี้ได้รับหนังสือขอความร่วมมือจาก ป.ป.ท.ว่าสงสัยในการจัดซื้อของสถาบันชีววิทยาทางการแพทย์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีนางรัตนาภรณ์ทำงานอยู่ เนื่องจากว่ามีการจัดซื้อที่ค่อนข้าผิดปกติจึงขอให้ทางกรมวิทย์ฯ ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมา
"โดย ป.ป.ท.ได้ถามผมประมาณ 17 ข้อแล้วให้ผมรายงานไปภายใน 30 วัน ผมก็เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาปรึกษาหารือ ซึ่งจากการตรวจสอบภายในก็พบว่ามีเรื่องน่าสงสัยเป็นอย่างยิ่ง " นพ.ยงยศกล่าวและกล่าวต่อไปว่าจึงได้ส่งรายละเอียดสิ่งที่ได้สืบค้นไปยัง ป.ป.ท.
ทางด้านพ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาใช้การกระทำซ้ำ ๆ ข้อพิรุธคือมีเลขหนังสือเป็นเลขเดียวกันทั้งหมด และการกระทำของนางจรรยา กับกรรมการตรวจรับไม่สอดคล้องกัน ซึ่งในการตรวจสอบเชิงลึกพบว่าเป็นการปลอมรายมือชื่อ ผอ.และ กรรมการตรวจรับอีก 2 รายชื่อ ในทุกรายการที่ปลอมเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง
พ.ต.ท.สิริพงษ์ กล่าวต่อว่ากรณีนี้มีช่องว่างทางระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำให้นางจรรยา พบช่องทางในการทุจริตคือใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการเฉพาะเจาะจงงบประมาณไม่เกิน 100,000 บาท และเลือกซื้อรายการ วัสดุอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์แบบชิ้นเล็ก ๆ ประเภทสิ้นเปลือง เช่น น้ำยาเคมี ชุดตรวจสารคัดหลั่ง ซึ่งเหล่านี้เป็นวัสดุชิ้นเล็กสิ้นเปลืองและมีราคาสูง
"ผู้ต้องหาสามารถกระทำการได้แต่เพียงผู้เดียวมาตลอดหลายปีเพราะในอำนาจหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้แต่เพียงผู้เดียว ส่วนการขยายผล ผู้เกี่ยวข้อง คือบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์วิทยาศาสตร์การแพทย์ คือ พบพฤติกรรมการซื้อซ้ำๆ กับบริษัทเดิม 2 บริษัท ในบริษัทแรก คือ บริษัท เอ็น วาย พลัส จำกัด ซึ่งมีสามีของนางรัตนาภรณ์ เป็นเจ้าของ เปิดดำเนินการปี 2554 ในปีงบประมาณ 2566 พบการซื้อ 44 ครั้ง รวม 153 รายการ เป็นเงินมากกว่า 4,300,000 บาท และอีกบริษัทคือ บริษัท กู้ด แฟมิลี่ เปิดดำเนินกิจการในปี 2556 พบการสั่งซื้อ 45 ครั้ง เป็นเงินมากกว่า 4,400,000 บาท ซึ่งบริษัทมีนี้นางรัตนาภรณ์ เป็นเจ้าของบริษัทเอง"พ.ต.ท.สิริพงษ์ กล่าว