ป.ป.ช.เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา 'สิทธิชัย เจริญธนะจินดา' อดีตนายกเทศมนตรีตำบลท่าเสา อุตรดิตถ์ สั่งการอนุมัติให้ดำเนินการจ้างซ่อมแซมรถยนต์กับอู่ตัวเอง พร้อมเบิกจ่ายเงินค่าซ่อมแซมเป็นประโยชน์สำหรับตนเอง ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 6 พิพากษาลงโทษ จำคุก 20 ปี หลังรับสารภาพ ไม่รอลงอาญา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายสิทธิชัย เจริญธนะจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลท่าเสา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ กับพวก สั่งการและอนุมัติให้ดำเนินการจ้างซ่อมแซมรถยนต์กับอู่ซ่อมรถยนต์ของตนเอง และเบิกจ่ายเงินค่าซ่อมแซมรถยนต์เป็นประโยชน์สำหรับตนเอง ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157 และ พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 100 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มาตรา 192 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2564
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีคำพิพากษาว่า นายสิทธิชัย เจริญธนะจินดา จำเลยมีความผิดตามมาตรา 152 (เดิม) พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 100 (1) ประกอบมาตรา 122 วรรคหนึ่ง
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามมาตรา 90 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น กับฐานเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐเป็นการ กระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 91
จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 58 กระทง เป็นจำคุก 58 ปี
จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษ ตามมาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 58 กระทง เป็นจำคุก 348 เดือน
เมื่อรวมโทษทุก กระทงแล้วคงให้จำคุก 20 ปี ตามมาตรา 91 (2)
เบื้องต้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2566 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
อ่านประกอบ :