ศาลอาญาคดีทุจริตฯยกฟ้อง ขรก.สำนักการแพทย์ กทม.-เอกชน คดีฮั้วอุปกรณ์การแพทย์ หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลเมื่อปี 62 เหตุจำเลยเป็นผู้มีอำนาจกำหนดรายละเอียดจัดซื้อ ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่พบว่ากีดกันผู้เข้าประกวดราคารายอื่น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อเดือน มิ.ย.2562 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลความผิด ข้าราชการสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และตัวแทนบริษัทเอกชน จำนวนรวม 8 ราย ประกอบไปด้วย 1. นายสุรชัย ทรัพย์โมกข์ นายแพทย์ 7 วช. สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 2. นายพิพัฒน์ เกรียงวัฒนศิริ นายแพทย์ 7 วช. สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 3. นายประเสริฐ โอภาสเมธีกุล นายแพทย์ 7 วช. สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 4. นางสาวสุภคณา การุณ นายแพทย์ 6 วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และวชิรพยาบาล สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 5. นางขวัญใจ พรรณมณีทอง พยาบาลวิชาชีพ 6ว. วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ และวชิรพยาบาล สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 6. นางสาวกนกวรรณ บางเสงี่ยม พยาบาลวิชาชีพ 6 ว. วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ และวชิรพยาบาล สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 7. นายไพบูลย์ หาญดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพร์ม เมดิคอล จำกัด 8. นายอนุวัชร ปิยพงศ์ผาติ หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอ.ซี.อุปกรณ์การแพทย์
ในคดี เอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคาบางราย ได้มีสิทธิทำสัญญาในการจัดซื้อชุดตรวจ และบันทึกสัญญาณทางสรีรวิทยา แบบศูนย์รวมสำหรับ 7 เตียง และ เครื่องเฝ้าติดตามการทำงานของหัวใจ พร้อมวัดอัตราการหายใจ ความดันโลหิตแบบภายในและ ภายนอก พร้อมวัดปริมาณก๊าซ ในขณะดมยาสลบและความผิดปกติ ของสมองพร้อมอุปกรณ์และ ระบบบันทึก
- เกษียณเกือบหมดแล้ว! สำนักการแพทย์ แจงกรณี ป.ป.ช.ชี้มูล 6 หมอ-พยาบาล รอผู้ว่าฯ รับเรื่อง
- ป.ป.ช.เชือดกราวรูด 'หมอ-พยาบาล' สำนักการแพทย์ กทม. 6 ราย-เอกชน 2 เอื้อปย.ซื้อชุดตรวจ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการติดต่อจากตัวแทนเอกชนที่ถูกชี้มูลความผิดในคดีนี้ ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีนี้ไปแล้ว และคดีความจบสิ้นแล้ว
โดยคดีนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษาในสองสำนวนคดีได้แก่ 1.คดีที่อัยการสูงสุดเป็นฝ่ายโจทก์ และมีนายสุรชัย ทรัพย์โมกข์ เป็นจำเลยที่ 1 นายพิพัฒน์ เกรียงวัฒนศิริ จำเลยที่ 2 และนายประเสริฐ โอภาสเมธีกุล ที่ 3 และคดีที่สองเป็นคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ มีนายไพบูลย์ หาญดำรงศักดิ์
รายละเอียดคำพิพากษาโดยสรุประบุว่า คดีทั้งสองซึ่งอยู่ในเรื่องความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ศาลได้สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสํานวนว่า โจทก์ เรียกจําเลยทั้งสามในสํานวนแรกว่า จําเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ตามลําดับ และเรียกจําเลยในสํานวนหลัง(นายไพบูลย์)ว่า จําเลยที่ 4
สำหรับรายละเอียดของคำฟ้องสรุปได้ว่าจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กําหนดรายละเอียดและ คุณลักษณะเฉพาะชุดตรวจและบันทึกสัญญาณทางสรีรวิทยาแบบศูนย์รวม สําหรับ 7 เตียง ที่จะจัดซื้อโดยนําผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ GE จากบริษัทไพรม์ เมดิคอล จํากัด (ซึ่งเป็นผู้ชนะการเสนอราคาในครั้งนี้) เพียงรายเดียวมากําหนด จึงเป็นเหตุให้นายไพบูลย์ กรรมการบริษัทไพรม์ เมดิคอล และจำเลยที่ 4 ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมสนับสนุนกระทำความผิดด้วย
ศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่จําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันกําหนดรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะของชุดตรวจและ บันทีกสัญญาณทางสรีรวิทยา จะจัดชื้อขึ้นใหม่ นับว่าชอบด้วยเหตุผล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ความจากนายสิทธิพร พาณิช นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชํานาญการพิเศษ เบิกความว่าพยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทําการสืบสวนสอบสวนการจัดซื้อชุดตรวจและบันทึกสัญญาณทางสรีรวิทยาทั้ง 2 ชุดในคดีนี้ พยานดําเนินการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วทํารายงานการตรวจสอบสืบสวนไว้
การที่จําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กําหนดรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะของชุดตรวจและบันทึกสัญญาณทางสรีรวิทยาแบบศูนย์รวมในคดีนี้ เป็นการดําเนินการที่ไม่ได้ฝ่าฝืนหรือขัดต่อกฎหมายใด เนื่องจากเป็นการกําหนด รายละเอียดของเครื่องมือแพทย์ตามความต้องการของหน่วยงาน
สําหรับปัญหาที่ว่าห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอ.ซี.อุปกรณ์การแพทย์ ไม่ได้เป็นตัวแทนจําหน่ายผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ MDE ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เห็นว่า แม้ปรากฏว่าขณะยื่นเอกสารประกวดราคา ห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอ.ซี. อุปกรณ์การแพทย์ ไม่ได้เป็นตัวแทนจําหน่ายผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ MDE ตามหนังสือกระทรวงการต่างประเทศ เรื่อง การตรวจสอบหนังสือรับรองการขาย ที่ กต 1102/1007 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2557เอกสารหมาย จ.39 แต่ได้ความจากนายสิทธิพร นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชํานาญการพิเศษว่าการตรวจสอบเอกสารของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาในคดีนี้จะต้องเป็นไปตาม ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
แต่คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาจะมีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารลงลึกระดับใดนั้นพยานไม่ทราบ เนื่องจากเป็นเรื่องของกรุงเทพมหานคร เมื่อไม่ปรากฏว่ากรุงเทพมหานครกําหนดให้จําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณา ผลการประกวดราคาจะต้องตรวจสอบเอกสารที่ผู้เข้าประกวดราคาเสนอมาในระดับใด จึงต้องพิจารณาตามสภาพของวิญญูชนทั่ว ๆ ไป ซึ่งตามสภาพแล้วหากเอกสารที่ผู้เข้าประกวด ราคาเสนอมาไม่มีพิรุธให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ หรือมีเหตุให้สงสัยตามสมควรเกี่ยวกับเอกสาร ในขณะเปิดซองประกวดราคา ก็เป็นการยากที่วิญญูชนทั่วไปจะทราบถึงความถูกต้องแท้จริง ของเอกสารดังกล่าว และในคดีนี้แม้แต่สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบเรื่องนี้
ยังต้องมีหนังสือขอตรวจสอบความเป็นตัวแทนจําหน่ายของห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอ.ซี. อุปกรณ์การแพทย์ ไปยังกระทรวงการต่างประเทศ จึงทราบว่าห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอ.ซี. อุปกรณ์การแพทย์ ไม่ได้เป็นตัวแทนจําหน่ายเครื่องมือแพทย์ยี่ห้อ MDE
เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏว่าหนังสือรับรองการเป็น ตัวแทนจําหน่ายของห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอ.ซี. อุปกรณ์การแพทย์ มีพิรุธให้เห็นเป็นที่ประจักษ์หรือมีเหตุให้ควรสงสัยว่าจะเป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้อง
การที่จําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารดังกล่าวโดยการตรวจสอบไปยังบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ก่อนการพิจารณาผลการประกวดราคา จึงไม่อาจถือว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และไม่อาจรับฟังได้ว่าจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม
นอกจากนี้แม้ นายวิรุจน์ สุจริต พนักงานไต่สวนสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติเบิกความว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทโซวิค จํากัด มีคุณสมบัติตรงตามที่ คณะกรรมการกําหนดและสามารถที่จะเข้าประกวดราคาได้ แต่เนื่องจากเสนอราคาสูงกว่า ราคากลาง บริษัทโซวิค จํากัด จึงไม่ได้เข้าเสนอราคา คณะกรรมการไต่สวนเห็นว่าจําเลยทั้งสาม ได้ทํารายงานเสนอผู้บังคับบัญชาว่ามีเพียงบริษัทไพรม์ เมดิคอล จํากัด กับห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอ.ซี. อุปกรณ์การแพทย์ เท่านั้นที่สามารถเข้าเสนอราคาได้ คณะกรรมการไต่สวนจึงมองว่า เป็นการกีดกันรายอื่นไม่ให้เข้าร่วมเสนอราคา แต่ตามบันทึกข้อความ เรื่อง การกําหนดรายละเอียดครุภัณฑ์ดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้วตามรายละเอียดแนบท้ายโดยมีบริษัท 2 รายเป็นผู้แทนจําหน่ายผลิตภัณฑ์ คือบริษัทไพรม์ เมดิคอล จํากัด และห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอ.ซี. อุปกรณ์การแพทย์
ตามเอกสารดังกล่าว มิได้ระบุเลยว่ามีเพียงบริษัทไพรม์ เมดิคอล จํากัด และห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอ.ซี. อุปกรณ์การแพทย์ เท่านั้นที่สามารถเข้าเสนอราคาได้ ซึ่งนายวิรุจน์เองก็ตอบคําถามทนายจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า การที่คณะกรรมการกําหนดรายละเอียด และคุณลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์ ทําบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาว่ามีผู้เข้าประกวดราคาเพียง 2 รายที่สามารถเข้าประกวดราคาได้คือบริษัทไพรม์ เมดิคอล จํากัด กับห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอ.ซี.อุปกรณ์การแพทย์ นั้น ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้ประกอบการรายอื่นที่จะเข้าประกวดราคา ข้อเท็จจริงส่วนนี้จึงสนับสนุนให้รับฟังว่าการกระทําของจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่เป็นการกีดกัน ผู้เสนอราคารายอื่นมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคา
ข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยมารับฟังไม่ได้ว่าจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กําหนดรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะชุดตรวจและบันทึกสัญญาณทางสรีรวิทยาในคดีนี้โดยนํารายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ GE จากบริษัทไพรม์ เมดิคอล จํากัด เพียงรายเดียวมากําหนดเป็นรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะ ของชุดตรวจและบันทึกสัญญาณทางสรีรวิทยาที่จะจัดซื้อ และไม่อาจรับฟังได้ว่าจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่าควรรู้ว่าเอกสารของห้างหุ้นส่วนจํากัด ไอ.ซี. อุปกรณ์การแพทย์ ไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้น
ดังนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าการกระทําของจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดตามฟ้อง ส่วนจําเลยที่ 4 ถูกฟ้องในฐานะผู้สนับสนุน เมื่อการกระทําของจําเลยที่ 1 ถึงที่ ซึ่งเป็นตัวการไม่เป็นความผิดแล้ว การกระทําของจําเลยที่ 4 จึงไม่อาจเป็นผู้สนับสนุนได้
พิพากษายกฟ้อง.