ครม.มีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ให้นำน้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม พร้อมเสนอ ครม.อีก 2 สัปดาห์จ่ายชดเชยค่าตัดอ้อย 8,000 ล้านบาท ด้าน ‘ภูมิธรรม’ ไม่ห่วงกระทบบราซิล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 31 ตุลาคม 2566 นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่ประชุมด่วน เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้รับผลตอบแทนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตอ้อยในแต่ละช่วงเวลา โดยไม่ส่งผลต่อผู้บริโภค
และอีก 2 สัปดาห์ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอ ครม.พิจารณาจ่ายเงินชดเชยค่าตัดอ้อยสดเพื่อลด PM 2.5 ที่คงค้างอยู่ 8,000 ล้านบาทกับชาวไร่อ้อยด้วย
@ไม่ห่วงกระทบ บราซิล
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ทางบราซิลไม่น่าจะมีปัญหาที่ประเทศไทยกลับมากำหนดให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมเพื่อดูแลผู้บริโภคภายในประเทศ เพราะตอนที่มีคดีฟ้องร้องกับบราซิลซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายเช่นกัน โดยในตอนนั้นราคาตลาดโลกค่อนข้างต่ำ ขณะที่ไทยขึ้นราคาขายภายในประเทศ แล้วไปส่งออกในราคาถูกมาก ทำให้บราซิลรู้สึกว่าไทยไปอุดหนุนผู้ส่งออกน้ำตาลทราย จนบราซิลเกิดความเสียเปรียบ แต่คราวนี้ราคาตลาดโลกสูงมากกว่าราคาภายในประเทศ แม้ไทยจะขยับราคาอย่างไร ก็ไม่มีผลไปแข่งขันอะไรกับบราซิล
“การตัดสินใจเสนอ ครม. ให้นำน้ำตาลทรายกลับมาเป็นสินค้าควบคุมเพราะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับการขึ้นราคาน้ำตาลทรายทีเดียวกิโลกรัม(กก.)ละ 4 บาท ผู้บริโภคภายในประเทศได้รับผลกระทบโดยตรง และกระทบภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายตัว นโยบายรัฐบาลต้องการตรึงราคาเพื่อลดรายจ่ายให้กับประชาชน ไม่อยากให้ประเด็นนี้เป็นปัญหา” นายภูมิธรรมกล่าว
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ได้คุยกับนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม และคณะกรรมการน้ำตาลอ้อยและน้ำตาลทรายก่อนการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ถึงปัญหาหลายอย่างที่จะกระทบทุกๆส่วน ซึ่งการขึ้นราคาน้ำตาลกก.ละ 4 บาท หากนำ 2 บาทไปจ่ายกองทุนดูแลสิ่งแวดล้อม และอีก 2 บาทนำไปชดเชยเกษตรกร แต่ทางกระทรวงพาณิชย์คิดว่าต้องตรึงราคาไว้และนำกลับเข้ามาเป็นสินค้าควบคุม และก็เคยควบคุมอย่างนี้มาตลอด พึ่งมาปล่อยให้เป็นเสรีสมัยรัฐบาลคณะปฏิวัติรัฐประหาร และขณะนี้ปัญหาไปอยู่ที่พี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นผู้บริโภคต้องรับภาระหนักทั้งหมด
ส่วนผู้ส่งออกเมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว โดย มีการควบคุมการส่งออก 1,000 กิโลกรัมหรือ 1 ตันสามารถส่งได้ตามปกติ หากเกินจากนี้ต้องมาขออนุญาต สรุปแล้วน้ำตาลทรายในประเทศใช้ประมาณ 2 ล้านตัน ก็ตรึงราคาไว้ ต้องไม่ขาดตลาด ส่วนที่เหลือจะเป็นการส่งออก ส่วนที่จะมีการลักลอบออกไปขายต่างประเทศ เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายและเข้มงวดกวดขันกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะพยายามอย่างยิ่งที่จะจัดการไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลทรายขาดตลาด
ขณะที่นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การที่กระทรวงพาณิชย์ดึงเป็นสินค้าควบคุม ไม่ได้เป็นการหักหน้ากระทรวงอุตสาหกรรม แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องช่วยกันดูแลราคาสินค้าให้กับประชาชน และเมื่อครม.เห็นชอบให้นำกลับมาเป็นสินค้าควบคุม ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะกลับไปหามาตรการช่วยเหลือกลุ่มชาวไร่อ้อย โดยเห็นใจชาวไร่อ้อยที่ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น
ที่มาภาพปก: https://pixabay.com/th/photos/