ดาวเทียม ‘THEOS-2’ ของไทย ประสบความสำเร็จขึ้นสู่วงโคจรแล้ว เริ่มปฏิบัติการสำรวจโลก 'เศรษฐา' ปลื้มขอบคุณ อว. ขับเคลื่อนวงการอวกาศประเทศก้าวหน้า ‘ศุภมาส’ ลุยต่อยอดยกระดับด้านต่างๆ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2566 มีการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 (Thailand Earth Observation Satellite 2) ซึ่งเป็นดาวเทียมของไทย ในระดับ Industrial Grade ผลงาน 20 วิศวกรชาวไทย จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ขึ้นสู่วงโคจรจากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) เมืองกูรู รัฐเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ GISTDA Arianespace และ AIRBUS ได้พบสาเหตุการยุติการนำส่งเมื่อวันที่ 7 ต.ค. เวลา 08.36 น.ว่าเกิดจากการที่ ในช่วง 14 วินาทีสุดท้าย ระบบได้ตรวจพบความผิดปกติเล็กน้อยของสัญญาณจากอุปกรณ์สำหรับการนำส่งซึ่งมีการตั้งค่าเกณฑ์การยอมรับได้ไว้เข้มงวดมาก ระบบจึงตัดการทำงานโดยอัตโนมัติ จากวิเคราะห์ถึงที่มาและแก้ปัญหาแล้วถึง Arianespace ยืนยันว่า พร้อมที่จะนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรอีกครั้ง
โดยมี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยผู้บริหาร GISTDA รวมทั้งสักขีพยานจากประเทศไทยและสาธารณรัฐฝรั่งเศส รวมถึงประชาชนทั่วโลก ที่สนใจในเหตุการณ์ครั้งสำคัญนี้
เมื่อถึงเวลา 08.36 น. ตามเวลาในประเทศไทย ดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ได้ถูกนำส่งด้วย จรวด VEGA พร้อมมีการให้สัญญาณนับถอยหลังใน 10 วินาทีสุดท้าย หลังจากนั้นดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ได้ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรท่ามกลางความตื่นเต้นดีใจ หลังจากลุ้นระทึก โดยผู้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งสำคัญต่างพากันจับมือแสดงความยินดี
ทั้งนี้ น.ส.ศุภมาส กล่าวภายหลังจากดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรของอวกาศว่า รู้สึกดีใจและโล่งใจที่การปล่อยดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ราบรื่น ประสบความสำเร็จ แม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการ โดยขณะนี้ สามารถกล่าวได้ว่าดาวเทียม THEOS-2 ได้เริ่มปฏิบัติการสำรวจโลกแล้ว โดยหลังจากปล่อยดาวเทียมในเวลา 08:36 น.จะใช้เวลากว่า 52 นาทีในการเข้าสู่วงโคจรที่ระดับความสูง 621 กิโลเมตร เมื่อดาวเทียมขึ้นไปแล้ว จะทดสอบระบบในอวกาศร่วมกับสถานีภาคพื้นดินราวๆ 3 เดือน ก่อนจะใช้งานได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีสถานการณ์เร่งด่วนเกิดขึ้น อาทิ ภัยพิบัติ THEOS-2 ก็สามารถสั่งถ่ายภาพได้ภายใน 5 – 8 วัน หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร
“ภารกิจนี้เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของกระทรวง อว.และประเทศไทย หลังจากนี้จะมีการต่อยอดยกระดับด้านต่างๆ ของประเทศรวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนให้รู้ว่าดาวเทียม THEOS-2 มีประโยชน์อย่างไร สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะถูกใช้ในการปรับปรุงและทำให้ข้อมูลในทุกพื้นที่ของไทยเป็นปัจจุบัน ทันสมัย และมีความละเอียดที่ถูกต้อง ช่วยให้ทุกการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” น.ส.ศุภมาส ระบุ
ในโอกาสนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความยินดีว่า ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนคนไทยทุกคน ขอแสดงความยินดีที่วันนี้ประเทศไทยประสบความสำเร็จสามารถส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งรัฐบาลมุ่งเน้นมาตลอดว่าจะใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการนำไปพัฒนาสร้างประโยชน์ได้ในหลากหลายมิติ อาทิ การบริหารจัดการเกษตร การบริหารจัดการเมือง การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการภัยธรรมชาติ ซึ่งจะนำมาสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงของพี่น้องประชาชน
“ผมขอขอบคุณกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ GISTDA ที่จะช่วยขับเคลื่อนและผลักดันวงการอวกาศของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้า” นายเศรษฐา ระบุ
ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรแล้ว จะทำการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โหมดของการทำงาน รวมทั้งทดสอบระบบควบคุมและติดต่อสื่อสารกับภาคพื้นดินเพื่อความเสถียรและความแม่นยำของข้อมูลโดยใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้น GISTDA จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอดหรือให้การบริการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงจะเป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ และเทคโนโลยีอวกาศในการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในสาขาที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับกิจกรรมด้านอวกาศในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีของประเทศไทยในการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลกขึ้นสู่วงโคจร หลังจากที่ดาวเทียมไทยโชต หรือ THEOS-1 ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี 2551