สตช.เผยแพร่เอกสารวิสัยทัศน์บิ๊กต่อ 10 แนวทางบริหาร 4 นโยบายเน้นหนัก ข้อแรกเน้นปกป้องสถาบัน ต้องให้สมพระเกียรติ ประชาชนเดือดร้อนน้อยสุด ส่วนด้านธรรมาภิบาลตั้งเป้า ITA สตช.-สน.ทั่วประเทศต้องได้คะแนนดีถึงดีเยี่ยม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าวันที่ 3 ต.ค. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้เผยแพร่เอกสารวิสัยทัศน์ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)คนที่ 14 มีเนื้อหาโดยสรุปประกอบด้วย 10 แนวทางการบริหารราชการ 4 นโยบายเน้นหนัก
10 แนวทาง การบริหารราชการได้แก่
1.ปกป้อง เทิดทูน และพิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีการระบุรายละเอียดสำคัญว่าพัฒนากลไกการถวายความปลอดภัยของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ถูกต้อง สมพระเกียรติเป็นไปตามพระราชประสงค์และกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด
2.เพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ที่สร้างความเดือดร้อน เอารัดเอาเปรียบ หรือกระทบต่อการดำเนินชีวิต โดยปกติสุขของประชาชน
3.ป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหา อาชญากรรมทางเทคโนโลยี และอาชญากรรมรูปแบบใหม่
4.แก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติอย่างเป็นระบบ
5.ให้ความสําคัญกับการพัฒนาสถานีตำรวจให้มีความพร้อมในการดูแลประชาชน อำนวยความยุติธรรม และยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
6. พัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทั้งความรู้ ทักษะ ยุทธวิธี คุณธรรมจริยธรรม และมีการฝึกอบรมทบทวนอย่างสม่ำเสมอ
7.พัฒนาระบบฐานข้อมูล และนำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุน การทํางานให้มีประสิทธิภาพ
8.บริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบได้ โดยรายละเอียดสำคัญในส่วนนี้พบว่าเป็นพุ่งคะแนนแบบประเทศความโปร่งใสของ สตช.และสถานีตำรวจทั่วประเทศให้อยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม ปรับปรุงช่องทางการร้องเรียน มีการติดตามผลงานเพื่อย้ายตำแหน่งตามความดีความชอบ
9.พัฒนาคุณภาพชีวิต สวัสดิการ ขวัญกําลังใจ และความสามัคคีของข้าราชการตำรวจ
10.เน้นภาวะผู้นำในทุกระดับ ผู้บังคับบัญชาต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา
สำหรับรายละเอียดเรื่องการบริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาล
ส่วน 4 นโยบาย เน้นหนัก ประกอบด้วย
1.ดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว
การดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทย มีดังนี้
-เพิ่มมาตรการการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การตรวจตราบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและบูรณาการการปฎิบัติร่วมกันระหว่างตำรวจท่องเที่ยวสถานีตำรวจพื้นที่ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง
-เพิ่มศักยภาพการตรวจสอบการเดินทางเข้า-ออก ทั้งจำนวนกำลังพล วัสดุอุปกรณ์ และระบบการบริหารจัดการ เพื่อให้เพียงพอสอดคล้องต่อความต้องการ
-เชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลตรวจคนเข้าเมืองให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-อำนวยความสะดวกหรือให้บริการนักท่องเที่ยวในการติดต่อขอรับบริการ
-พัฒนาประสิทธิภาพและความรู้ความชำนาญให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง
2.ยาเสพติด
แก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติอย่างเป็นระบบ
-ปราบปรามผู้ผลิตและผู้ค้ายาเสพติดโดยใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจังและเด็ดขาด
-เพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดตามแนวชายแดน หรือใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน
-ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้มาตรการยึดทรัพย์ เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติด
-ใช้กลไกความร่วมมือของชุมชน ตามแนวทางโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ชาติโดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าร่วมดำเนินการยึดหลักการ เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง
-ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการดูแลคนคลุ้มคลั่งที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและการบำบัดรักษา
3.cyber crimes หรือการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
-ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างจริงจัง โดยประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานและประเทศเพื่อนบ้าน
-มุ่งทำลายและตัดวงจรการกระทำความผิดของคนร้ายผ่าน “ซิม สาย เสา”
-ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้มาตรการยึดทรัพย์ของผู้กระทำความผิด
-จัดทำสื่อและกิจกรรมให้ความรู้ รณรงค์เสริมสร้างการเรียนรู้ของประชาชนให้มีความตระหนักรู้เท่าทันภัยที่แฝงมากับการใช้เทคโนโลยี
4.การดูแลสวัสดิการ และขวัญกำลังใจของข้าราชการตำรวจ
-ควบคุมการบริหารงานกำลังพลให้มีประสิทธิภาพ การช่วยราชการต้องดำเนินการเท่าที่จำเป็นและเกิดประโยชน์ โดยให้ความสำคัญกับปริมาณงานของสถานีตำรวจเป็นหลัก
-ลดภาระงานที่ซ้ำซ้อนและไม่มีความจำเป็น
-บริหารอาคารบ้านพักให้เป็นไปตามสิทธิของกำลังพล และมีสภาพแวดล้อมที่ดี
-การสร้างระบบการสื่อสาร ร้องเรียน ร้องทุกข์กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมของข้าราชการตำรวจตรงถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ