ศาลปกครองสูงสุดถอนคำสั่งกรมเจ้าท่าอนุญาตเอกชนใช้ท่าเรือขนถ่านหิน ต.แม่ลา เป็นเหตุให้เกิดมลพิษ จี้ อบต.แก้ไขปัญหาประชาชนใน 90 วันนับแต่คำพิพากษา ชี้กระบวนการใช้ท่าเรือไม่ปรากฎว่าได้ทำ EIA
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 27 ก.ย. ศาลปกครองสูงสุดได้คำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนร่วมกับชาวบ้าน รวมฝ่ายโจทก์ 47 รายยื่นฟ้องอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อธิบดีกรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีอนุญาตให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ เข้ามาดำเนินกิจการโรงงาน ท่าเรือขนส่งสินค้าในท้องที่เขตความรับผิดชอบ แล้วปล่อยปละละเลยให้บริเวณท่าเทียบเรือเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ
คำพิพากษาระบุว่าให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมเจ้าท่าที่อนุญาตให้บริษัท เอจีอี เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งประกอบกิจการคัดแยกขนาดและขนถ่ายถ่านหิน เปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือประเภทการใช้ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ให้สามารถใช้เทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอส ได้ จำนวน 2 ท่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.58 ตามใบอนุญาตเลขที่ 007/2555 ลงวันที่ 27 มิ.ย.55 และใบอนุญาต เลขที่ 066/2538 ลงวันที่ 27 พ.ย.38
โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่อนุญาต และ หาก บริษัท เอจีอี เทอร์มินอล จำกัด ประสงค์จะขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือประเภทการใช้ ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ให้สามารถใช้เทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอส ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมเจ้าท่า ใหม่ โดยให้ดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน ทั้งนี้ ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดใน พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ประกอบกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 24 เม.ย.55 และให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลา (อบต.แม่ลา) อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา แก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญจากฝุ่นละออง จากการประกอบกิจการคัดแยกและขนถ่ายถ่านหินของบริษัท เอจีอี เทอร์มินอล จำกัด ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
คำพิพากษาระบุต่อว่าการเปลี่ยนประเภทการใช้ท่าเรือดังกล่าว จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 24 เม.ย.55
แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่า อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้ให้ความเห็นชอบการเปลี่ยนประเภทการใช้ท่าเรือโดยไม่ปรากฏว่า ผู้ประกอบกิจการท่าเรือได้ดำเนินการจัดทำ EIA จึงเป็นกรณีที่ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น การที่อธิบดีกรมเจ้าท่า ใช้ดุลพินิจอนุญาตบริษัท เอจีอี เทอร์มินอล จำกัด เปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือประเภทการใช้ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500ตันกรอส ให้สามารถใช้เทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอส ได้ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย