'ชลน่าน'ร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูงนัดพิเศษ ชี้แจงนโยบาย 12 ประเด็น ยกระดับ 30 บาทพลัส สร้าง Quick Win ให้เห็นเป็นรูปธรรมใน 100 วันแรก ย้ำดูแลทั้งประชาชนและบุคลากร พร้อมเป็นกระทรวงที่ร่วมส่งเสริมเศรษฐกิจไทย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขวาระพิเศษ ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงนโยบายและแนวทางการบริหารงานกระทรวงสาธารณสุข
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ทิศทางของกระทรวงสาธารณสุขต่อจากนี้ นอกจากจะเป็นองค์กรหลักทางด้านสุขภาพแล้ว ต้องสามารถร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ด้วย โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พร้อมทั้งเฝ้าระวังความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว สำหรับการขับเคลื่อนงานของกระทรวงสาธารณสุข จะน้อมนำและพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และยกระดับ 30 บาทพลัส ที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพในทุกมิติ ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของคนไทย ผ่านนโยบาย 12 ประเด็น ได้แก่
-
โรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล
-
สุขภาพจิต/ยาเสพติด
-
มะเร็งครบวงจร
-
สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร
-
การแพทย์ปฐมภูมิ
-
สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ
-
สถานชีวาภิบาล
-
พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย
-
ดิจิทัลสุขภาพ
-
ส่งเสริมการมีบุตร
-
เศรษฐกิจสุขภาพ
-
นักท่องเที่ยวปลอดภัย
“ใน 100 วันแรก กระทวงสาธารณสุขและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันผลักดันนโยบายเรื่องต่างๆ ให้เห็น Quick Win ที่เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ขณะเดียวกันก็จะไม่ละเลยการดูแลบุคลากรสาธารณสุขทุกคน เพราะเชื่อว่า เมื่อผู้ให้บริการมีความสุข ย่อมส่งผลถึงประชาชนผู้รับบริการด้วยเช่นกัน และหวังว่าเราจะมีระบบสาธารณสุขที่เหมาะสมสำหรับทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยต่อไป” นพ.ชลน่านกล่าว
นอกจากนี้ เราต้องสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เราต้องทำให้คนที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพ เป็นคนสุขภาพดี ทำงานด้วยความสุข มีความก้าวหน้า มีความมั่นคง และอยู่ในสังคมอย่างมีเกียรติยศ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเราจะเป็นต้นแบบของคนสุขภาพดี โดยเราให้ความสำคัญทุกระดับ รวมถึงพี่น้อง อสม.
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า การให้บริการการแพทย์ปฐมภูมิ เป็นสิ่งสำคัญมาก โดยจะขยายแม่ข่ายของรพ.ชุมชน มารองรับ งานดูแลสาธารณสุขเฉพาะในพื้นที่เปราะบาง พื้นที่ชายแดนเราให้ความสำคัญหมด รวมถึงงานเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงระยะสุดท้าย นอกจากนี้ สธ. จะมีการปรับโครงสร้างด้วยการนำดิจิทัลเฮลธ์เข้ามา เชื่อมโยงข้อมูล ศูนย์ข้อมูลกลาง เพื่อใช้ในการดูแลประชาชนด้วยการใช้ “บัตรประชาชนใบเดียว” ให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างสะดวกตามความจำเป็น
ส่งเสริมอนามัยเจริญพันธุ์
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า การส่งเสริมอนามัยเจริญพันธุ์ ให้คนมีบุตรอย่างมีความพร้อม โดยทางกรมอนามัยจะส่งเสริมเรื่องนี้ และรัฐบาลให้การสนับสนุน เพราะประเด็นนี้สำคัญมาก เนื่องจากโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป โดยในปี 2565 อัตราเสียชีวิตมากกว่าอัตราเกิด แม้ตัวเลขอัตราการตายจะอยู่ที่ 5 แสนคนต่อปี เท่ากับอัตราเกิด แต่เมื่อเทียบสัดส่วนถือกระทบอัตราการเกิดมาก ตัวเลขนี้น่าตกใจมาก เพราะตัวเลขที่เหมาะสำหรับอัตราการเกิดต้องไม่น้อยกว่า 2.1 ต่อแสนประชากร หรือประมาณ 2 ล้านคน แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 1.5-1.6 ต่อแสนประชากร ทำให้ฐานประชากรของวัยแรงงานลดน้อยลง ขณะที่การดูแลสุขภาพดีขึ้น ผู้สูงอายุจึงมีมาก และเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากร ปัจจุบันผู้สูงอายุมีประมาณ 12-13 ล้านคน เรื่องนี้จึงต้องให้ความสำคัญเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าการส่งเสริมการมีบุตรจะอยู่หนึ่งในนโยบายที่ต้องทำแบบควิกวินหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องนี้คงทำควิกวินไม่ได้ เพราะตนประชุมร่วมแพทยสภา มีอาจารย์แพทย์บอกว่า การส่งเสริมการมีลูกไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากคือ ทำอย่างไรให้หาคู่สมรสให้ได้ก่อน ตนด้วยความเข้าใจก็ต้องทำทุกมิติควบคู่กันไป เพราะสภาพเศรษฐกิจ สังคมแบบนี้ อาจทำให้คนตัดสินใจมีคู่ครอง หรือมีลูกค่อนข้างลำบาก เราต้องสร้างภาวะ สร้างโอกาส สิ่งแวดล้อมให้เกิดการตัดสินใจได้
เมื่อถามว่า คู่แต่งงานไม่อยากมีลูกจะทำอย่างไรให้ดึงดูด นพ.ชลน่าน กล่าวว่า คงต้องมอบให้กรมอนามัย ทำหน้าที่ในการส่งเสริมคู่แต่งงานมีลูก ส่วนความพร้อมด้านอื่นๆ อาจต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งตนจะนำเรื่องนี้เสนอท่านนายกฯ เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่มิติสุขภาพเท่านั้น ยังมีสังคม เศรษฐกิจ เช่น รัฐบาลจะรับดูแลบุตรคนที่ 3 หรือไม่ หรือรับดูแลคนที่ 2 จนจบระดับการศึกษาปริญญาตรีหรือไม่ เหมือนนโยบายเด็กแรกเกิดที่ได้ 600 บาทต่อคน แต่ก็มีคนเสนอ 3 พันบาท ก็ต้องนำมาพิจารณากันต่อไป
มะเร็งครบวงจร ดูแลคัดกรอง จนถึงรักษาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีควิกวินที่จะทำ คือ มะเร็งครบวงจร จะมีแนวทางดูแลอย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มะเร็งครบวงจร จะมีระบบเข้าไปดูแล เนื่องจากการดูแลโรค ในหลักระบาดวิทยา ไม่ได้แตกต่างกัน เราเอาหลักการตรงนั้นมาวางไว้ มุ่งไปที่มะเร็ง โดยการเฝ้าระวัง การคัดกรองต้องทั่วถึง อย่างมะเร็งที่เป็นปัญหาของเพศชายในภาคเหนือ ภาคอีสาน คือ มะเร็งท่อน้ำดี ปัจจุบันมีเทคโนโลยีสามารถตรวจปัสสาวะ เพื่อหาแอนติเจนของตัวพยาธิใบไม้ตับได้ ก็จะนำเทคโนโลยีนี้มาตรวจหาคนไข้ให้เร็วเพื่อรักษาได้เร็วที่สุด หากรักษาได้เร็วก็จะทำให้ค่าเฉลี่ยอายุขัยได้มากกว่า 5 ปี เราดูแลครบวงจรทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ แต่หลายพื้นที่ยังไม่ได้วัคซีนป้องกัน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า กระทรวงฯ มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้ประจำปี กระจายให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยปัจจุบันสปสช.จัดหาประมาณ 4.3 ล้านโดส กระจายหมดแล้ว ยังมีองค์การเภสัชกรรมอีกประมาณ 1 แสนโดส แต่เบื้องต้นเรามุ่งเน้นให้กลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ผู้มีโรคประจำตัว เป็นตัว หรือที่เรียกว่ากลุ่ม 608
บัตรปชช.ใบเดียวนำร่อง 2-3 เขตสุขภาพ
เมื่อถามว่าบัตรประชาชนใบเดียวจะเลือกเขตสุขภาพไหนเริ่มก่อน หรืออาจเป็นเขตสุขภาพที่ 8 เนื่องจากมีการดำเนินการแล้ว นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยังอยู่ระหว่างพิจารณาเลือกเขตสุขภาพที่เหมาะสม น่าจะเลือกประมาณ 2-3 เขตสุขภาพ
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการทำงานในพื้นที่มานานทำให้ทราบถึงปัญหาในการเข้ารับบริการสุขภาพของประชาชน ทั้งเรื่องภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การรอรับบริการนาน ดังนั้น จะช่วยขับเคลื่อนกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นที่พึ่งของประชาชนที่เจ็บป่วย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่สะดวก รวดเร็ว สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชน รวมถึงส่งเสริมการดูแลสุขอนามัยแม่และเด็ก เพื่อเพิ่มบุคลากรที่มีคุณภาพมาพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ รองรับการเป็นสังคมสูงวัย ทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคงแข็งแรง สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
นายสันติ กล่าวกับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขว่า ตนเป็นฝ่ายการเมืองที่ได้เข้ามาทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ด้วยความตั้งใจที่จะเข้ามาทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและจะทำงานด้วยความรัก ความสามัคคี ความเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อให้การทำงานร่วมกันเดินหน้าไปได้อย่างเต็มที่ เพื่อประสิทธิภาพในการดูแลพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ
นายสันติ กล่าวต่อว่า ชื่อของกระทรวงสาธารณสุขก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นกระทรวงที่จะสร้างความสุขให้กับสาธารณชน และก็เป็นสิ่งที่ตนศรัทธามาโดยตลอด กว่า 20 ปีของการทำหน้าที่ สส.ตนได้คลุกคลีกับชาวบ้านในพื้นที่ชนบท และชาวบ้านก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ในการเดินทางไปโรงพยาบาลจำนวนมาก มาโดยตลอด แต่ภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวก็ได้มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ไปดูแลพี่น้องประชาชนในชนบทอย่างอดทน และเต็มความสามารถ อันนี้ถือเป็นคุณงามความดี ที่ตนได้รับรู้มาจากชาวบ้านในพื้นที่โดยตลอด และตนขอชื่นชมบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ตนผ่านการรับผิดชอบงานมาหลายกระทรวง ทำให้ได้รับรู้ปัญหาของพี่น้องประชาชนที่หลากหลาย ตนก็จะนำประสบการณ์เหล่านี้มาทำงานเพื่อให้พี่น้องคนไทยอยู่ดีกินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่จะอำนวยความสุขให้กับประชาชนและละลายความทุกข์
"ผมเห็นใจบุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างมาก ซึ่งผมมองว่า ถ้าจำนวนแพทย์ยังขาดแคลน ยังไม่เพียงพอโอกาสที่เราจะใช้เทคโนโลยี หรือการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาก็จะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก วันนี้สิ่งที่ผมพูด ก็คือว่า เราจะทำอย่างไรให้สามารถพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้พอเพียงกับระบบสาธารณสุขของเราให้ได้อย่างเต็มที่ เพราะหลายรัฐบาลที่ผ่านมาได้ดำริให้มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีแพทย์ประจำ มีแต่เพียงแพทย์หมุนเวียนที่หนึ่งเดือนจะมีแพทย์ไปประจำอยู่สัก 1-2 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์ยังขาดแคลนอย่างแสนสาหัส โดยวันนี้ พอจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะร่วมกันต่อสู้ให้ได้มาซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่ เช่นอย่าง 1 รพ.สต.จะมีแพทย์หมุนเวียนประมาณ 3 คน เพื่อที่จะแบ่งเบาภาระในการดูแลประชาชนในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม” นายสันติ ระบุ
นายสันติ กล่าวต่อว่า จากนี้กระทรวงสาธารณสุขของเราจะปรับให้สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ อย่างเช่นถ้าประเทศไทยมีบุคลากรทางการแพทย์อย่างพอเพียงแล้ว ซึ่งแพทย์ไทยได้รับการยอมรับอย่างมาจากต่างชาติ เพราะเป็นบุคลากรที่ทีทักษะสูงเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าเมื่อพอเพียงสำหรับประเทศไทย ก็จะยังสามารถไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง สร้างรายได้จำนวนมากกลับคืนเข้าสู่ประเทศได้ ตนจึงขอให้ผู้บริหารช่วยกันผลักดันให้บุคลากรทางการแพทย์ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพราะจากที่ตนคิดมาจะใช้งบประมาณจำนวนไม่มาก แต่ประโยชน์ที่ได้ถือว่ากำไรหลายเท่าตัว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขพร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มีความตั้งใจจะพัฒนาระบบสุขภาพในทุกมิติ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยทุกหน่วยงานในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายไปพร้อมกับฝ่ายการเมืองอย่างสอดประสานและไร้รอยต่อ เพื่อให้การดำเนินงาน ด้านสาธารณสุขจากนี้ไป บรรลุตามเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การสร้างสุขภาพคนไทย เพื่อสุขภาพประเทศไทย อย่างยั่งยืน