สมาคมค้าอาวุธปืนสหรัฐฯ โต้สื่อบลูมเบิร์ก-วอชิงตันโพสต์ ชี้มีอคติชัดเจน ปมยกเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู โจมตีอุตสาหกรรมอาวุธปืน ชี้ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาวุธปืนเดินหน้าเรื่องความปลอดภัยมาตลอด-ขณะบทความบลูมเบิร์กเผยปี 2548-2565 สหรัฐฯส่งออกปืนกึ่งอัตโนมัติไปไทยกว่า 7.95 แสนกระบอก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวประเด็นเรื่องการถือครองอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกา ที่โยงมาถึงกรณีสื่อสหรัฐฯ ได้วิจารณ์เหตุกราดยิงที่ จ.หนองบัวลำภู เมื่อเดือน ต.ค. 2565
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. สมาคมค้าอาวุธปืนสหรัฐอเมริกาหรือ NSSF ได้ออกแถลงการณ์ตอนหนึ่งตอบโต้สื่อในสหรัฐฯ อาทิ สำนักข่าววอชิงตันโพสต์ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่าสื่อเหล่านี้มีอคติ และได้เขียนบทความที่ผิดจากข้อเท็จจริงไปมากเกี่ยวกับกรณีการส่งออกอาวุธปืนของสหรัฐฯ ซึ่งมีความซับซ้อนและมีการควบคุมอย่างเข้มงวด
แถลงการณ์ NSSF ระบุต่อไปว่าบทความจากวอชิงตันโพสต์มีการใช้คำว่าการ ‘ฆาตกรรมและการทุจริต’ เพื่อพยายามสร้างความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการค้าอาวุธของสหรัฐฯ ว่าไปมีส่วนทำให้เกิดเหตุอาชญากรรมที่รุนแรงในประเทศอื่นๆ อาทิ ที่ประเทศกัวเตมาลา,ประเทศเม็กซิโก,ประเทศไทย และประเทศฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่ประเทศแคนาดา
ส่วนสื่ออีกฉบับ ได้แก่สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้เคยเขียนบทความวิจารณ์บริษัทผู้ผลิตอาวุธปืนในสหรัฐฯ อย่างรุนแรงว่าเป็นส่วนหนึ่งของเหตุอาชญากรรม การทุจริต และความรุนแรงในประเทศไทย จากกรณีเหตุกราดยิงที่ จ.หนองบัวลำภู
“เห็นได้ชัดว่าสื่อเหล่านี้มีอคติ สำนักข่าวบลูมเบิร์กแน่นอนว่ามีเจ้าของก็คือนายไมเคิล บลูมเบิร์ก อภิมหาเศรษฐีที่ให้เงินสนับสนุนกลุ่มที่ต้องการจะควบคุมอาวุธปืน” NSSF ระบุในถลงการณ์
ท้ายแถลงการณ์ของ NSSF ระบุว่าอุตสาหกรรมอาวุธปืนที่ถูกกฎหมายและได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดที่สุดในโลก สมาชิกในอุตสาหกรรมต่างมีความรู้สึกภาคภูมิใจในบทบาทเหล่านี้ และภาคภูมิใจที่ได้ให้บริการชาวอเมริกันที่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ระบุในการแก้ไขบทบัญญัติครั้งที่สอง โดยอุตสาหกรรมอาวุธปืนได้เข้าไปเป็นผู้ลงทุนหลักในความพยายามปรับปรุงความปลอดภัยชุมชน รวมไปถึงสร้างความร่วมมือกับผู้บังคับใช้กฎหมายในทุกระดับ
“สื่อได้ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่าอุตสาหกรรมอาวุธปืนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นหัวหอกในการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อการครอบครองอาวุธปืน ส่งผลทำให้มีอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนโดยไม่ได้ตั้งใจต่ำสุดนับตั้งแต่ปี คศ.1903 ซึ่งข้อมูลนี้มาจากการรายงานข้อจริงของสภาความปลอดภัยแห่งชาติ ทว่าสื่อเหล่านี้กลับนำเอาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ มาโทษบริษัทของสหรัฐฯ” แถลงการณ์ระบุ
อนึ่ง บทความของสำนักข่าวบลูมเบิร์กเป็นบทความที่ถูกเผยแพร่เมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ในชื่อบทความว่า “วิธีการที่สหรัฐฯผลักดันการส่งออกอาวุธปืน นำไปสู่การสนับสนุนความรุนแรงทั่วโลก”
ตอนหนึ่งของบทความระบุว่าในระหว่างปี 2548-2565 สหรัฐฯได้ส่งออกอาวุธปืนแบบกึ่งอัตโนมัติไปยังต่างประเทศกว่า 3.7 ล้านกระบอก ซี่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับปืนกึ่งอัตโนมัติมากที่สุดคิดเป็นจำนวน 795,000 กระบอก
บทความยังได้ระบุอีกถึงอาวุธปืนของ ส.ต.อ. ปัญญา คำราบ ผู้ก่อเหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภูว่าเป็นอาวุธปืนรุ่น ซิกซาวเออร์ P365 บรรจุได้ 13 นัด มีลักษะเล็กสามารถซุกซ่อนได้โดยง่าย ซึ่งปืนกระบอกนี้ได้เดินทางไกลเป็นระยะทางถึง 8,000 ไมล์จากโรงงานในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ก่อนจะมาถึงประเทศไทย
โดยนับตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2564 พบว่าปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติรุ่นซิกซาวเออร์ เป็นที่ถูกส่งออกจากสหรัฐฯ มากที่สุดคิดเป็นจำนวน 936,000 กระบอก ขณะที่ตำรวจไทยก็ได้ทำข้อตกลงว่าจะทำเข้าปืนพกรุ่นซิก ซาวเออร์จำนวน 150,000 กระบอก ดัวยราคากระบอกละ 525 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,624 บาท) ซึ่งราคานี้ถือว่าอยู่แค่ 1 ใน 3 ของราคาอาวุธปืนรุ่นเดียวกันที่ขายที่ย่านวังบูรพา
เรียบเรียงจาก:https://www.bloomberg.com/graphics/2023-us-made-gun-exports-shootings-violence-sig-sauer/,https://www.nssf.org/articles/media-will-do-whatever-it-takes-to-blame-firearm-industry/