ชาวบ้านร้องสอบโครงการจตุรัสเมืองตรัง 43 ล้านบาท สัญญาให้เวลาสร้าง 700 วัน ขณะ 'อิศรา' ลงพื้นที่ไซต์งาน พบไม่มีคนงานก่อสร้าง เจอแค่เครื่องจักร-ป้ายจราจร ขณะนายกเล็กเมืองตรังยันผู้รับเหมาไม่ได้ทิ้งงาน แต่ไปหาอิฐบล็อกลายสัญลักษณ์เมืองตรังอยู่
สำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) รายงานจาก จ.ตรังว่า เมื่อเร็วๆนี้มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ Newspaper Thimadi ได้โพสข้อความพร้อมภาพการก่อสร้างโครงการจัตุรัสเมืองตรัง หรือ ตรังสแควร์ ระยะที่ 1 วงเงิน 43 ล้านบาท บนถนนวิเศษกุล บริเวณหอนาฬิกาสัญลักษณ์เมืองตรัง ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง ติดกับศูนย์ราชการ หน้าสำนักงานเทศบาลนครตรังและที่ว่าการอำเภอเมืองตรัง ข้อความว่า “คนตรังสงสัย.? ช่วงนี้หยุดทำงาน กรมโยธาธิการ จ้างเอกชนสร้างจัตุรัสเมืองตรัง งาน 43ล้านบาทเศษ สัญญางาน700วัน / หากเปรียบกับงานกรมท่าอากาศยาน สร้างหลุมจอดเครื่องบินโบอิ้ง737 จอด10ลำพร้อมกันและงานอื่นๆอีกมาก สนามบินตรัง งบ 678 ล้านบาทเศษ สัญญางาน 700วันเท่ากัน งานไหนสร้างยากกว่ากัน กรมโยธาธิการและผังเมือง?”
ทั้งนี้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก อาทิ รอดูผลงานว่าเหมือนในรูปมั้ย , ต้องแก้ระเบียบการรับเหมางานราชการใหม่หมดส่วนมากงานราชการไทยจะเป็นแบบนี้ทั้งหมดเลี่ยงภาษีจะหมดเวลาสัญญารีบทำจนทำไม่ทันต่อสัญญาใหม่ , ก็งานจะเสร็จแล้วนิครับเหลือแค่ตีเส้น ขุดหลุมปลูกต้นไม้นิดหน่อย ก็เสร็จแล้วแค่นี้เอง555 ภาพเป็นแค่ภาพประกอบโฆษณาไม่ใช่แบบนะ ของจริงแค่เอาเกาะกลางเดิมออกเทคอนกรีต ตีเส้น ปลูกต้นไม้ก็เสร็จแล้วครับ คิดไปคิดมาของเดิมยังดูดีกว่า , ไม่รีบ สัญญา 700 วัน คนตรังก็ทนลำบากไป จะกั้นจะกองจะกีดขวาง ทำไงได้สัญญาเป็นใจ ฝาก ป.ป.ช.ด้วยครับ , โครงการต่างๆที่ทิ้งรกร้าง และ สูญสิ้นงบประมาณมหาศาลของจ.ตรัง จนถึงวันนี้ ยังหาผู้รับผิดชอบไม่ได้เลย กระบวนการทาง กม.มีปัญหาตลอด สำหรับผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้ เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก เป็นต้น
สำนักข่าวอิศราลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ก่อสร้างโครงการดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีเครื่องจักร คนงาน ทำงานแต่อย่างใด มีเพียงป้ายโครงการ ป้ายเตือนจราจร และแผงเหล็กนำมากั้นพื้นที่ก่อสร้างไว้เท่านั้น สอบถามชาวบ้านในพื้นที่หลายรายให้ข้อมูลและเรียกร้องตรงกันว่าอยากให้มีการเข้ามาตรวจสอบโครงการดังกล่าว เพราะไม่เห็นผู้รับเหมาเข้ามาทำงานนานหลายเดือนแล้ว และมีความเป็นห่วงว่าจะแล้วเสร็จหรืออาจมีการละทิ้งงานหรือไม่ เพราะไม่มีป้ายขี้แจงเหตุผลการหยุดทำงานหรือไม่มีหน่วยงานไหนออกมาชี้แจงแต่อย่างใด อีกทั้งกระทบต่อการจราจรบริเวณรอบหอนาฬิกาซึ้งเป็นแลนด์มาร์คใจกลางเมือง และอาจเกิดอุบัติเหตุได้ เนื่องจาก เดิมมีเกาะกลางกั้น แต่เมื่อทำโครงการมีการรื้อออกแล้วนำแผงเหล็กมากั้นแบบห่างๆทำให้มีการกลับรถตัดหน้ากันบ่อยครั้ง อีกทั้งเสาไฟส่องสว่างที่ติดตั้งอยู่เดิม เมื่อไม่มีเกาะกลางทำให้ฐานเสาลอยขึ้นเหนือพื้นถนน มีการนำเศษไม้มาตีค้ำยันเอาไว้ซึ่งดูไม่แข็งแรงเสี่ยงต่อการล้มลงได้
ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการก่อสร้างในพื้นที่จ.ตรังรายหนึ่งให้ความเห็นกรณีดังกล่าวกล่าวว่า สำหรับโครงการมีข้อสงสัยเป็นอย่างมาก อาทิ 1. งานโครงการดังกล่าวงบประมาณก่อสร้าง แค่ 43ล้านบาทเศษ เนื้องานก็ไม่มาก ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการก่อสร้าง เพราะดูจากป้ายโฆษณาเป็นงานก่อสร้างทั่ว ๆ ไป แต่ระยะเวลาตามสัญญาจ้างยาวถึง 700วัน 2.ผู้ว่าจ้างคือกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้สัญญางานยาวมากเกินไป อาจจะเป็นสาเหตุให้ผู้รับเหมาไม่เร่งทำงานให้แล้วเสร็จ 3.ผู้รับจ้างรายนี้อาจจะ รับเหมาก่อสร้างงานหลายโครงการทำงานไม่ทัน จึงเข้าทำงานระยะแรก เพื่อให้ผู้ว่าจ้างรู้ว่าเข้าทำงานแล้ว แต่ก็หยุดงานไป เพราะสัญญางานยาวถึง 700วัน 4.ผู้รับจ้างอาจจะนำเอาระยะเวลามาอ้างว่า ยังไม่ครบสัญญางาน ไม่ได้ทิ้งงาน และ 5.ภาครัฐ ทำไมให้สัญญางานมากผิดปกติ มีการให้ผลประโยชน์ระหว่างกันหรือไม่?
“นอกจากนี้ ปัญหาการก่อสร้างสถานที่ราชการในจ.ตรังพบว่า เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการก่อสร้างงานไม่แล้วเสร็จ มีผู้รับจ้างทิ้งงานหลายโครงการ อาทิ โครงการก่อสร้างอาคารตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลตรัง 11ปีการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ผู้รับจ้างทิ้งงานไปหลายรายแล้ว และสร้างปัญหากับ เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก โครงการก่อสร้างมัสยิดกลางจ.ตรัง ต.ทุ่งกระบือ อ.ยานตาขาว ของอบจ.ตรัง โครงการก่อสร้างหอศิลปวัฒนธรรมพระยารัษฎาฯ ของเทศบาลนครตรัง เป็นต้น”แหล่งข่าวระบุ
นายธีรวัฒน์ หวังศิริเลิศ อดีตประธานหอการค้าตรัง กล่าวกับอิศราว่า ตนก็สงสัยเหมือนกันว่าการก่อสร้างจัตุรัสเมืองตรังเห็นมีการลงมือก่อสร้างไปแล้ว แต่ขณะนี้หยุดการก่อสร้าง ไม่ทราบว่าเกิดอะไรหรือมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ไปเห็นป้ายประชาสัมพันธ์โครงการอื่นๆก็แปลกใจ งานก่อสร้างสนามบินตรัง 600กว่าล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 700วัน แต่โครงการก่อสร้างจัตุรัสเมืองตรัง งบแค่ 40กว่าล้านบาท แต่ก็ระยะเวลาก่อสร้าง 700วัน เช่นกัน ตนและชาวบ้านกลัวจะทิ้งงาน และชาวบ้านต้องใช้พื้นที่ โครงการนี้ครั้งที่ตนเป็นประธานหอการค้าฯเคยประชุมร่วม จัตุรัสเมืองตรังเป็นโครงการที่ดี แต่ที่ผ่านมาจ.ตรังมีการทิ้งงานโครงการก่อสร้างหลายๆที่ปรากฏให้เห็นอยู่ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง
ด้านนายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรังกล่าวกับอิศราว่า โครงการจัตตุรัสเมืองตรัง ทางเทศบาลนครตรังร่วมกับผู้ว่าราชการจ.ตรังได้ร่วมกับของบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยโครงการระยะที่ 1 วงเงิน 43 ล้านบาท มีบริษัทตากใบการโยธารับเหมางานจากกรมโยธาธิการและผังเมืองโดยตรง ยอมรับว่ามีประชาชนสงสัยว่าเริ่มก่อสร้างแล้วทำไมเงียบไป ตนก็ได้ติดตามความคืบหน้า ทราบว่าขณะนี้ผู้รับเหมากำลังสั่งทำอิฐบล๊อกสำหรับปูพื้นถนนเป็นลวดลายของผ้าทอนาหมื่นศรีสัญลักษณ์ของจ.ตรัง ยืนยันว่าไม่ได้เงียบไปไหน แต่เป็นการเตรียมการดำเนินการในขั้นตอนต่อไปเพื่อให้เสร็จทันตามสัญญา และยังคงอยู่ในงวดงานตามสัญญา และในระยะต่อไปจะมีการทำโครงการให้ครบทั้ง 4 ทิศ ของศาลากลางจ.ตรังเพื่อเป็นภาพที่สวยงามมากขึ้น ต้องขอบคุณผู้ว่าฯที่ช่วยผลักดันโครงการด้วย
ขณะที่นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ระบุกับอิศราว่า บริษัทผู้รับจ้างได้มีหนังสือแจ้งมาว่า ในเบื้องต้นที่ทำการสำรวจหน้างาน งานสาธารณูปโภค และชั้นของดินใต้ดินหน้างาน มีข้อมูลทางเทคนิคที่ต้องนำมาปรับรูปแบบให้สอดรับกันกับเทคนิคการก่อสร้าง เพราะบางเรื่องรูปแบบที่กำหนดไว้กับข้อเท็จจริงในพื้นที่อาจจะคลาดเคลื่อนกันอยู่ จึงต้องมีการปรับรูปแบบเพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยความมั่นคงเรียบร้อย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการจัตุรัสเมืองตรัง มีสำนักสถาปัตยกรรม กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นเจ้าของโครงการ โดยตั้งงบประมาณผูกพัน 3 ปี สนับสนุนให้กับจังหวัดตรัง และว่าจ้าง 3 บริษัท ศึกษาความเหมาะสม และออกแบบรายละเอียดโครงการ ก่อนเปิดให้มีการประกวดราคา โดยบริษัทตากใบการโยธา จำกัด 163/1 ม.4 ต.เจะแห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ในวงเงิน 43,097,000 บาท เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ต่ำกว่าราคากลางที่คำนวณไว้ ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2565 กว่า 6 ล้านบาท สัญญาเริ่มต้นวันที่ 28 ธ.ค.2565 สิ้นสุดวันที่ 26 พ.ย.2567 รวมระยะเวลา 700 วัน มีโยธิการและผังเมืองเป็นผู้ควบคุมงานและเป็นกรรมการร่วมตรวจรับงาน รวมทั้งเทศบาลนครตรัง ทั้งนี้ผู้รับเหมาได้เริ่มการก่อสร้างโดยการเข้ารื้อเกาะกลางถนนซึ่งเดิมเป็นสวนหย่อมพักผ่อนหย่อนใจพร้อมเทคอนกรีตพื้นที่รื้อถอนในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา จากปัจจุบันเป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว ก็ไม่ได้มีการเข้าทำงานต่อแต่อย่างใด
สำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแผนงานตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายฝั่งทะเลอันดามัน ในส่วนของจ.ตรัง มีทั้งสิ้น 12 โครงการ งบประมาณรวม 1,392 ล้านบาท โดยมีโครงการในระยะเร่งด่วน และระยะกลางเพื่อออกแบบรายละเอียดก่อสร้าง จำนวน 4 โครงการ มูลค่าก่อสร้างรวม 525 ล้านบาท ดังนี้ 1.โครงการจัตุรัสเมืองตรังระยะที่ 1 บริเวณหอนาฬิกา 2.โครงการก่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เทศบาลตำบลนาตาล่วง 3.โครงการก่อสร้างสวนสาธารณะเทศบาลนครตรัง 4.โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองน้ำเจ็ด เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว (ช่วงที่ 1) โดยโครงการจัตตุรัสเมืองตรัง กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ทำการศึกษาโครงการและได้ว่าจ้างกลุ่ม บริษัท ซิตี้แพลน โปรเฟสชันนอล จำกัด ร่วมกับบริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด และ บริษัท อินเทลแพลน จำกัด ทำการศึกษาตามความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด โดยก่อนการประมูล บริษัทที่ปรึกษา ได้นำรูปแบบ แบบแปลน ไปปรึกษา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ซึ่งนายชวนได้มีความคิดเห็นและข้อแนะนำ เรื่องแนวทางการจัดพื้นที่ จัดพื้นที่แบบไม่มีเกาะกลาง บริเวณถนนวิเศษกุล เพื่อให้มีพื้นที่จัดกิจกรรมที่กว้างขึ้น และให้นำต้นไม้มาปลูกบริเวณสองข้างทาง ซึ่งต้องเป็นต้นไม้ที่โตแล้ว ผู้ว่าฯตรัง รวมถึงนายชวน ได้พูดจานำเสนอข้อดีของโครงการดังกล่าวต่อชาวตรังในหลายโอกาส โดยเฉพาะช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา