ป.ป.ช. ตรัง แถลงผลชี้มูลความผิด 'ธรรมศทรรศ หรือทักษนัย กี่สุ้น' อดีตนายกเทศมนตรีตำบลท่างิ้ว - พวก 6 ราย ทุจริตมีส่วนได้เสียโครงการก่อสร้างระบบท่อเมนประปา คดีที่ 3 ในรอบปี 2566 ส่งเรื่อง อสส.ฟ้องร้องคดีอาญา-ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนจากตำแหน่งตามขั้นตอนกม.แล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.ตรัง พร้อมด้วย นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ ป.ป.ช.ตรัง และคณะเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแถลงผลการชี้มูลความผิดคดีร้องเรียนกล่าวหา นายธรรมศทรรศ กี่สุ้น (หรือชื่อเดิมคือ นายทักษนัย กี่สุ้น) อดีตนายกเทศมนตรีตำบลท่างิ้ว อ.ห้วยยอด กับพวก กรณีทุจริตในการเข้ามีส่วนได้เสียในโครงการก่อสร้างระบบท่อเมนประปา บ้านไสมะม่วง หมู่ที่ 3 และบ้านเกาะยางแดง หมู่ที่ 8
@ บัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.ตรัง (ขวา) ยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ ป.ป.ช.ตรัง (ซ้าย)
@ ธรรมศทรรศ กี่สุ้น (หรือชื่อเดิมคือ นายทักษนัย กี่สุ้น)
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏว่า เทศบาลตำบลท่างิ้ว โดยนายธรรมศทรรศ กี่สุ้น อดีตนายกเทศมนตรีตำบลท่างิ้ว ได้เข้ามีส่วนได้เสียในโครงการก่อสร้างระบบท่อเมนประปา บ้านไสมะม่วง หมู่ที่ 3 และบ้านเกาะยางแดง หมู่ที่ 8 โดยทำสัญญาจ้างกับ ร้านพรประเสริฐ และมี นายประเสริฐ สิทธิชัย เป็นเจ้าของร้าน นายธีระศักดิ์ สิทธิชัย ตัวแทนของร้าน
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายธรรมศทรรศ กี่สุ้น อดีตนายกเทศมนตรีตำบลท่างิ้ว ได้สั่งการให้ นายสุทธิลักษณ์ ทวนดำ นายสายัณห์ สมาธิ นายปิยะพงษ์ รักแหลมแค นายชม คลายทุกข์ ลูกจ้างของเทศบาลตำบลท่างิ้ว ดำเนินการติดตั้ง มิเตอร์และระบบประปา โดยมีนายทวีเกียรติ ยิ้มเกตุ ผู้อำนวยการกองช่าง เป็นผู้ควบคุมงาน โดยที่ทางร้าน พรประเสริฐ คู่สัญญาไม่ได้เข้าไปดำเนินการตามสัญญาจ้างแต่อย่างใด
ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น ดังนี้
1. การกระทำของนายธรรมศทรรศ กี่สุ้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 152 และมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินกิจการเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น และมีมูลความผิด ฐานเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่เทศบาลนั้นเป็นคู่สัญญา หรือในกิจการที่กระทำให้แก่เทศบาลนั้น หรือที่เทศบาลนั้นตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 48 และมาตรา 73
2. การกระทำของนาย นายทวีเกียรติ ยิ้มเกตุ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายสุทธิลักษณ์ ทวนดำ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายสายัณห์ สมาธิ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และนายปิยะพงษ์ รักแหลมแค ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นายประเสริฐ สิทธิชัย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 และนายธีระศักดิ์ สิทธิชัย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 152 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ
เบื้องต้น สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง ได้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา กับนายธรรมศทรรศ กี่สุ้น นายทวีเกียรติ ยิ้มเกตุ นายสายัณห์ สมาธิ นายสุทธิลักษณ์ ทวนดำ นายปิยะพงษ์ รักแหลม นายประเสริฐ สิทธิชัย และนายธีระศักดิ์ สิทธิชัยและส่งสำนวนการไต่สวน และเอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ กับนายธรรมศทรรศ กี่สุ้น นายทวีเกียรติ ยิ้มเกตุ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณี ต่อไป
ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนของนายธรรมศทรรศ กี่สุ้น พิจารณาโทษตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีก หากผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนหรือผู้ใดไม่ดำเนินการตามมาตรา 98 โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อกฎหมายหรือกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ประกอบกับเพื่อให้สอดคล้องกับหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0804.3/ ว 711ลงวันที่ 7 เมษายน 2564 และให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบด้วย
ทั้งนี้ ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนของผู้ถูกกล่าวหา ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้นายทวีเกียรติ ยิ้มเกตุ ผู้อำนวยการกองช่าง ผู้ควบคุมงาน ได้ขอกันพยาน เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ในชั้นไต่สวนหลังจากการแจ้งข้อกล่าวหากลับเปลี่ยนคำให้การ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติว่า เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นไม่กันไว้เป็นพยาน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายในช่วงปี 2566 นี้ ทาง ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดนายธรรมศทรรศ กี่สุ้น ไปแล้ว 3 คดี คดีที่ 1 ได้มีการชี้มูลความผิดและแถลงไปเมื่อวันที่ 27 ก.พ.66 ที่ผ่านมา ในความผิดฮั้วผู้รับเหมาปรับปรุงถนน 459,000 บาท ก่อนทำสัญญา คดีที่ 2 ในวันที่ 27 เม.ย.66 ในความผิดมีส่วนได้เสียงานระบบน้ำประปา และคดีที่ 3 ทุจริตมีส่วนได้เสียโครงการก่อสร้างระบบท่อเมนประปาดังกล่าว ซึ่งทั้ง 3 คดีได้อยู่ในขบวนการของทางชั้นศาลเพื่อรอผลพิจารณาคดี
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. ยังไม่สิ้นสุด นายธรรมศทรรศ กี่สุ้น ยังมีสิทธิ์ต่อคดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก