ที่ประชุมศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายืน จำคุก 16 เดือน อดีต สส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย คดีเสียบบัตรแทนตนนับสิบใบ ชี้ชัดเป็นการขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่ สส.ได้ปฏิญาณไว้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวว่าเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ได้ออกเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ระบุถึงกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษายืน นายนริศร ทองธิราช' อดีต ส.ส. สกลนคร พรรคเพื่อไทย กรณีเสียบบัตรแทนกัน
โดยเนื้อหาเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์มีดังนี้
วันนี้ เวลา 11 นาฬิกา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองได้อ่านคําพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ.10/2566 ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ นายนริศร ทองธิราช จําเลย
คดีดังกล่าวเป็นกรณีสืบเนื่องมาจากจําเลยถูกกล่าวหาว่า ขณะเกิดเหตุ จําเลยดํารงตําแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 10 และวันที่ 11 กันยายน 2556 เวลากลางวัน ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตราครั้งที่ 9 และครั้งที่ 10เมื่อประธานในที่ประชุมร่วมรัฐสภาในขณะนั้นแจ้งให้สมาชิกลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ จําเลยนําบัตรประจําตัวและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นบัตรจริงของจําเลยและของสมาชิกรัฐสภารายอื่นจํานวนหลายใบอันเกินกว่าจํานวนบัตร แสดงตนและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ที่จําเลยและ สมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งจะพึงมีและใช้ได้เพียงคนละ 1 ใบ คนละ 1 เสียง มาใช้ทําการแสดงตนและลงคะแนน ของจําเลย และแสดงตนและออกเสียงแทนสมาชิกรัฐสภารายอื่น
โดยทําการเสียบบัตรแสดงตนและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวหมุนเวียนใส่เข้าไปในเครื่องออกเสียงลงคะแนนและกดปุ่มเพื่อแสดงตนและลงมติคราวละหลายใบ ในการออกเสียงลงคะแนนในคราวเดียวกัน อันเป็นการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเกินกว่า 1 เสียงในการลงคะแนนแต่ละครั้ง
การกระทําของจําเลยมีผลทําให้การออกเสียงลงคะแนนในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริตบิดเบือนขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาโดยชัดแจ้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของปวงชนชาวไทย อันเป็นการกระทําการในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบและมิอาจถือได้ว่ามติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาแต่อย่างใด
การกระทําของจําเลยเป็นการ ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา อันเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ปวงชนชาวไทยโดยส่วนรวมและเป็นการกระทําโดย ทุจริต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4, 172, 192, 198 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จําเลยมีความผิด ตามฟ้อง จําคุกกระทงละ 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจําคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจําคุก 16 เดือน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงแม้ไม่ปรากฏว่าจําเลยเคยกระทําผิดใด ๆ มาก่อน ก็ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษแก่จําเลย
จําเลยอุทธรณ์
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มีพยานยืนยันประกอบคลิปวิดีทัศน์หมาย วจ. 6 รายการที่ 2 และ วจ. 9 รายการที่ 3 เป็นคลิปวิดีทัศน์ที่จําเลยรับว่าบุคคลในภาพเคลื่อนไหว คือจําเลย ซึ่งคลิปวิดีทัศน์หมาย วจ. 6 รายการ ที่ 2 และ วจ. 9 รายการที่ 3 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองส่งไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐาน กลาง สํานักงานตํารวจแห่งชาติ
ผลการตรวจพิสูจน์ไม่พบร่องรอยการตัดต่อของคลิปวิดีทัศน์ หมาย วจ. 6 รายการที่ 2 และ วจ. 9 รายการที่ 3 ทั้งเสียงที่ปรากฏในคลิปวิดีทัศน์หมาย วจ. 6 รายการที่ 2 และ วจ. 9 รายการที่ 3 นั้น ตรงกับข้อความที่ บันทึกไว้ในรายงานการประชุมรัฐสภาตามเอกสารหมาย จ. 59 และ จ. 60 พยานหลักฐานตามทางไต่สวนล้วนสอดคล้อง เชื่อมโยงกัน เชื่อว่า คลิปวิดีทัศน์หมาย วจ. 6 รายการที่ 2 เป็นภาพเหตุการณ์ลงคะแนนระหว่างร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญในมาตรา 9 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 ส่วนคลิปวิดีทัศน์หมาย วจ. 9 รายการที่ 3 เป็นเหตุการณ์ ลงมติปิดอภิปรายที่มีการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา 10 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2556
โดยมีภาพของจําเลยนําบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงคะแนนซึ่งเป็นบัตรจริงของจําเลยและสมาชิกรายอื่นเสียบเข้าไปในเครื่องลงคะแนนหลายใบเพื่อลงคะแนนแทนสมาชิกอื่น ดังนั้นการที่จําเลยนําบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและ ลงคะแนนซึ่งเป็นบัตรจริงของจําเลยและสมาชิกรายอื่น เสียบเข้าไปในเครื่องลงคะแนนหลายใบเพื่อลงคะแนนแทนสมาชิกอื่น ในการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาใน มาตรา 9 และมาตรา 10 เมื่อวันที่ 10 และวันที่ 11 กันยายน 2556
อันเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐาน ของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 122 ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุ ทั้งเป็นการขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิญาณตนไว้ตามมาตรา 123 และขัดต่อการออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา 126 วรรคสาม
การกระทําของจําเลยจึงมีเจตนาทุจริตต่อหน้าที่ตามบทนิยามของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 เป็นการปฏิบัติอย่างใดใน ตําแหน่งหรือหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดย มิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ปวงชนชาวไทย ฝ่ายนิติบัญญัติ สมาชิกรัฐสภาอื่น ประชาชน และผู้มีชื่ออื่น หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายืน