สื่อแคนาดาชี้ พรรคก้าวไกล-พิธาเสี่ยง 'ตายทางการเมือง' หากยังยุ่งมาตรา 112 เพราะกระทบกับฝ่ายผู้ทรงอำนาจชัดเจน ชี้พรรคเพื่อไทยเดินทางในแนวที่ปฏิบัติได้จริงมากกว่า
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับบทวิเคราะห์จากต่างประเทศ ที่วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย
โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีบทวิเคราะห์จากสำนักข่าว Geopolitical Monitor ซึ่งเป็นสื่อจากแคนาดา วิเคราะห์ข่าวกรณีนายพิธา ลิ้มเจิรญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลลว่ากำลังสิ่งที่เป็นข้อห้ามในการเมืองไทยอยู่ การเข้าไปยุ่งกับสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ อาจจะนำไปสู่การฆ่าตัวตายทางการเมือง เช่นกรณีของนาย ทิปส์ โอนีล อดีตประธานสภาผู้แทนสหรัฐอเมริกาเมื่อครั้งเขาพูดถึงเรื่องการการปฏิรูประบบประกันสังคมที่สหรัฐฯ
สำหรับกรณีของนายพิธา ซึ่งมีจุดยืนที่จะกล้าพูดเรื่องมาตรา 112 ที่เป็นกฎหมายต่อต้านการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ นั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาของเขาสิ้นสุดลงเช่นเดียวกับความปรารถนาที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลังจากการเลือกตั้งมีคำถามที่ตามมาสองประการคือว่าการผลักดันให้มีการปฏิรูปมาตรา 112 นั้นเร่งรีบเกินไปหรือไม่ และพรรคก้าวไกลได้คาดการณ์ผลที่จะตามมาหรือไม่
โดยกฎหมายมาตรา 112 นั้นมีข้อความที่คลุมเครือและการตีความที่กว้างมาก และถูกนำไปใช้โดยฝ่ายผู้มีอำนาจในไทยเพื่อดำเนินการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ส่งผลทำให้เกิดการประท้วงในปี 2563 ตามมาด้วยการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ในเดือน ม.ค. 2564 แต่ความพยายามเหล่านี้ก็ถูกปฏิเสธในเดือน ก.พ.
ดังนั้นคำถามก็คือพรรคก้าวไกลทำไมถึงเดินหมากที่เสี่ยง ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าเพราะต้องการความไว้วางใจจากฝ่ายผู้สนับสนุนหัวก้าวหน้า ดังนั้นพรรคจึงต้องแสดงให้เห็นว่าต้องการเดินหน้าเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง พอหลังจากการเลือกตั้ง ทางพรรคก้าวไกลก็มีความไม่พอใจเพราะพวกเขาเชื่อว่าตัวเองได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่มากพอจะจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคเพื่อไทยได้ แม้ว่านั้นจะหมายถึงการปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้งก็ตาม
ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลได้เคยพูดเรื่องที่ไปไกลกว่ามาตรา 112 เพราะเคยพูดไปถึงเรื่องของงบประมาณสถาบันกษัตริย์ แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่ว่านี้มาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่ายเพราะว่าพรรคก้าวไกลประเมินพลังฝ่ายผู้ทรงอำนาจที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงต่ำเกินไป
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่พรรคก้าวไกลอาจจะกลับไปเลือกแนวทางที่สามารถปฏิบัติจริงได้มากยิ่งขึ้นเช่นการยกเลิกการเสนอในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 ชั่วคราว เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองที่เพียงพอสำหรับการปฏิรูปก่อน อย่างไรก็ตาม พวกเขายังคงแน่วแน่ในการแสวงหาการเปลี่ยนแปลงโดยใช้ความเชื่อว่ากฎหมายนี้ถูกใช้เป็นอาวุธเพื่อจะข่มขู่อีกฝ่าย
ในทางตรงกันข้าม พรรคเพื่อไทยกลับเดินในแนวทางที่ระมัดระวังกว่าพรรคก้าวไกล โดยมีการกำหนดว่าตัวเองจะต้องได้ที่นั่งสส.เยอะๆ และมีการดึงเอานายเศรษฐา ทวีสิน มาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อดึงเอาผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นชนชั้นแรงงานให้มาสนับสนุน ซึ่งแนวทางปฏิบัติของพรรคเพื่อไทยนั้นแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในความเป็นจริงของการเมืองไทย และผลกระทบที่ตามมาหากว่าไปต่อต้านฝ่ายผู้ทรงอำนาจมากเกินไป
โดยการที่พรรคก้าวไกลยืนหยัดในประเด็นมาตรา 112 ทําให้เกิดการต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทั้งจากกรณีศาลรัฐธรรมนูญและนักเคลื่อนไหวอนุรักษ์นิยม เช่นนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของอดีตพระพุทธะอิสระ ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่อ้างว่ายึดมั่นในอุดมการณ์ของ "ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์" มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสุดซึ้ง และมองว่าความพยายามในการปฏิรูปกฎหมายเป็นการล้มล้าง
ดังนั้นการที่นายพิธาและพรรคก้าวไกลไปยุ่งกับปัจจัยเหล่านี้อาจจะนำไปสู่ความตายทางการเมืองเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ เพราะว่าฝ่ายผู้ทรงอำนาจต้องการจะปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองอย่างถึงที่สุด
เรียบเรียงจาก:https://www.geopoliticalmonitor.com/pita-touches-the-third-rail-of-thai-politics/,https://www.weeklyblitz.net/politics/pita-limjaroenrat-challenging-the-taboo-in-thai-politics/