'ฮิวแมนไรท์วอทช์' ออกแถลงการณ์ชี้ ศาล รธน.สั่ง 'พิธา' หยุดทำหน้าที่เป็น สส.-สว.ขวาง 'พิธา' เป็นนายก กระทบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง ชี้หากลามถึงคดีอาญา-พรรคก้าวไกลถูกยุบปม ม.112 ผู้นำถูกกีดกันจากการเมือง จะถือเป็นความพ่ายแพ้อันน่าสะพรึ่งกลัวต่อการหวนคืนของระบอบประชาธิปไตย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยได้มีคำสั่งระงับผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ทำหน้าที่เป็น ส.ส.ด้วยแรงจูงใจทางการเมือง ถือเป็นการกระทบกระเทือนต่อระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างร้ายแรง
โดยพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคที่มีจุดยืนในเรื่องการปฏิรูป นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ในวัย 42 ปี นั้นได้ที่นั่ง ส.ส.ในการเลือกตั้ง 151 ที่นั่ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ควรได้สิทธิเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญยอมรับข้อกล่าวหาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า นายพิธาละเมิดกฎการเลือกตั้ง และไม่มีคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเขาถือหุ้นในบริษัทสื่อไอทีวีแม้ว่าบริษัทจะไม่ได้ออกอากาศมาเป็นเวลา 15 ปี และถูกถอดออกจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2557
“"ชนชั้นนําฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายทหารของไทยกําลังบิดเบือนกรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่วางไว้หลังการรัฐประหารปี 2557 เพื่อสกัดกั้นผู้นําทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นไม่ให้จัดตั้งรัฐบาล" นางเอเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชียกล่าว และกล่าวต่อไปว่าทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารและศาลรัฐธรรมนูญที่ครอบงําทางการเมืองกําลังพาประเทศไทยไปสู่เส้นทางที่อาจสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย
โดยคําสั่งระงับเกิดขึ้นพร้อมกับการโจมตีอื่น ๆ ต่อตัวนายพิธาและพรรคก้าวไกล สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นผู้นํารัฐบาลของอดีตผู้นํารัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพันธมิตร ได้ขัดขวางการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวหาว่าพรรคของเขาเสนอให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของไทย ถือเป็นความพยายามที่จะโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์
ย้อนไปเมื่อวันที่14 ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐสภาไม่อนุมัติการเสนอชื่อนายพิธา ที่ต้องการเสียงสนับสนุนเกิน 375 เสียง ซึ่งถือว่าเป็นเสียงข้องมากของสมาชิกรัฐสภา ที่รวมถึงสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด แต่ว่านายพิธาได้รับเสียงสนับสนุนแค่ 324 เสียง โดยนายพิธาได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 311 เสียง ไม่เห็นชอบ 148 เสียง งดออกเสียง 39 เสียง มี สมาชิกวุฒิสภาอีก 13 เสียงให้ความเห็นชอบ สมาชิกวุฒิสภาอีก 34 เสียงไม่เห็นชอบ และสมาชิกวุฒิสภางดออกเสียงอีก 159 เสียง
ขณะศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติให้รับฟังคําฟ้องที่มีต่อพรรคก้าวไกลระบุว่า จุดยืนทางนโยบายในการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ถือเป็นการขายชาติหรือไม่
ถ้าหากศาลได้ดำเนินการพิพากษาทางคดีอาญา ผู้นําพรรคอาจต้องเผชิญกับบทลงโทษที่รุนแรงรวมถึงการกําหนดโทษประหารชีวิตหรือจําคุกตลอดชีวิต พรรคก้าวไกลอาจถูกยุบและผู้บริหารพรรคอาจถูกห้ามไม่ให้เล่นการเมืองตลอดชีวิต
ตามบทบัญญัติข้อที่ 25 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ระบุว่า "พลเมืองทุกคนมีสิทธิและโอกาส เพื่อลงคะแนนเสียงและจะได้รับการเลือกตั้งในการเลือกตั้งตามวาระที่แท้จริง การรับประกันเสรีภาพในการแสดงออกถึงเจตจํานงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง"
จนถึงขณะนี้สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกอย่างออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์และรัฐบาลอื่น ๆ ส่วนใหญ่นั้นมีความผิดหวังต่อความกังวลต่อภัยคุกคามร้ายแรงที่เพิ่มขึ้นทางสาธารณชนที่มีต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย
“หากพรรคก้าวไกลถูกยุบและผู้นําถูกกีดกันจากการเมือง วุฒิสมาชิกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและพันธมิตรของพวกเขาจะปฏิเสธคะแนนเสียงของคนไทยหลายล้านคน ซึ่งเป็นการบ่อนทําลายสิทธิประชาธิปไตยของทุกคน" นางเพียร์สันกล่าวและกล่าวว่า "มิตรประเทศของประเทศไทยในต่างแดนควรประณามความพ่ายแพ้อันน่าสะพรึงกลัวนี้ที่มีต่อการหวนคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยที่รอคอยมานาน"
เรียบเรียงจาก:https://www.hrw.org/news/2023/07/21/thailand-bogus-charges-keep-candidate-top-post