สปสช.เปิดรับฟังความคิดเห็นนโยบาย ‘มะเร็งรับบริการที่ไหนก็ได้’ เผยได้ผลตอบรับดี แต่ทางปฏิบัติอาจต้องปรับ ทั้งระบบคีย์ข้อมูล ระบบเบิกจ่าย ชี้ค่าใช้จ่ายปีที่ผ่านมาเกือบ 8 พันล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดเสวนาเรื่อง ‘2 ปี มะเร็งรักษาทุกที่ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จถ้วนหน้า’ ณ ห้องประชุม 202 โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กทม. และประชุมผ่านระบบ zoom ถ่ายทอดสดผ่านFacebook Live สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนากล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง ทุกคนก็มักกลัวต่อความตาย จึงมีความต้องการในการรักษาที่ดีที่สุด เร็วที่สุด และค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด แต่ปัญหาที่พบคือปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เนื่องจากขั้นตอนที่มากมาย กว่าจะมาถึงขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษานั้นมักมีปัญหาเรื่องสิทธิในการรักษา โรงพยาบาลที่ต้องการไปรับการรักษานั้นต้องการใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นทาง
ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องกลับไปทำเรื่องที่โรงพยาบาลต้นทางเพื่อส่งตัวมารักษาโรงพยาบาลที่ต้องการ ซึ่งอาจทำให้การรักษาล่าช้าและใช้เวลานาน ดังนั้นควรหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ประสบอยู่นี้อย่างรวดเร็ว โจทย์ในวันนี้คือ ต้องทำอย่างไรให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยไม่ล้มละลาย หาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและคุ้มค่า เพราะหากรักษาหายเร็วเท่าใด ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งลดลงมากขึ้น
ทางด้าน พญ. ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า มะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม เป็นหนึ่งในนโยบายที่ช่วยการเข้าถึงบริการ โครงการนี้เริ่มวันที่ 1 ม.ค.2564 ซึ่งบทบาท สปสช.ทำหน้าที่จ่าย ส่วนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีสถาบันมะเร็งแห่งชาติออกแบบระบบเป็นหลัก เป็นการทำงานร่วมกัน มีเป้าหมายคือ 466 ดังนี้ ร้อยละของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดภายใน 4 สัปดาห์ ร้อยละของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดภายใน 6 สัปดาห์ และร้อยละของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษาภายใน 6 สัปดาห์ สปสช.ได้ประเมินความพึงพอใจต่อนโยบายนี้
โดยปี 2564 พบว่าประชาชนพึงพอใจอยู่ที่ 8.50 จาก 10 คะแนน ส่วนผู้ให้บริการพอใจอยู่ที่ 8.54 จาก 10 คะแนน ขณะที่ปี 2565 ประชาชนพึงพอใจ 8.19 และผู้ให้บริการ 8.55 สำหรับเรื่องร้องเรียน ปี 2564 มี 96 เรื่อง ปี 2565 มี 28 เรื่อง ปี 2566 มี 35 เรื่อง เรื่องร้องเรียนพบมากในเขต 13 กทม.และปริมณฑล เขต 4 เขต 5 และเขต 6 โดยตลอด 3 ปี พบเป็นเรื่องร้องเรียนการเรียกเก็บเงิน 30 เรื่อง และไม่ได้รับการบริการตามสิทธิที่กำหนด 26 เรื่อง
ทั้งนี้ สปสช.มีการแก้ไขเรื่องปัญหาการเข้าถึงการรักษาอยู่แล้ว เพียงแต่การเข้าถึงบริการรักษามะเร็งยังคงเป็นปัญหาอยู่ ดังนั้นจึงเป็นหนึ่งในนโยบายยกระดับบัตรทอง ซึ่งนโยบายยกระดับบัตรทอง 4 โครงการ ประกอบด้วย
-
ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ภายในเครือข่าย
-
ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว
-
ย้ายหน่วยบริการเกิดสิทธิทันทีไม่ต้องรอ 15 วัน
-
โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ได้เริ่ม เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2564
พญ. ลลิตยา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเราพบว่ายังมีอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษามะเร็ง ซึ่งนโยบายมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม เป็นหนึ่งในนโยบายที่ช่วยการเข้าถึงบริการ โดยโครงการนี้เริ่มเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งบทบาทของสปสช.ทำหน้าที่จ่าย ส่วนกระทรวงสาธารณสุข มีสถาบันมะเร็งแห่งชาติออกแบบระบบเป็นหลัก เป็นการทำงานร่วมกัน โดยเรามีเป้าหมายคือ 466 ดังนี้ ร้อยละของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ ร้อยละของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์ และร้อยละของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษาภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์
ทั้งนี้ เมื่อมีนโยบายออกมาก็มีเรื่องการจัดบริการของหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะรังสีรักษา ปัจจุบันมี 42 แห่ง โดยกทม.มีมากที่สุด ส่วนหน่วยบริการเคมีบำบัดนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 183 แห่งกระจายไปทุกเขตสุขภาพ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยมะเร็งในระบบ UC โดยปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2 แสนกว่าคน ขณะที่ตัวเลขการรับบริการสะสมตั้งแต่ปี 2564-2566 ถึงเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นเวลา 8 เดือน พบว่าคนมารับบริการเพิ่มขึ้น และจำแนกออกเป็นภายในจังหวัด นอกจังหวัดและนอกเขต ซึ่ง กทม.เกือบครึ่งเป็นคนไข้นอกพื้นที่
สำหรับจำนวนผู้ป่วยมะเร็งและค่าใช้จ่ายตั้งแต่มีนโยบายพบว่า เพิ่มขึ้น โดยปีที่ผ่านค่าใช้จ่ายเกือบ 8 พันล้านบาท ซึ่งการจ่ายเราจะจ่าย 2 ส่วน ประกอบด้วย การจ่ายตามรายการที่กำหนด หรือ Fee schedule ทั้งการวินิจฉัย และ 2.บางตัวไม่อยู่ในรายการ เราก็จ่ายแบบ fee for services หรือจ่ายตามที่เรียกเก็บ โดยในปี 2566 ก็มีการเจรจาว่าการจ่ายแบบ Fee for services มีหลายรายการเข้ามาอยู่ใน Fee schedule ซึ่งมีการประกาศเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดังนั้น ช่วงเดือนกรฏาคม สิงหาคม และกันยายน จะเห็นตัวเลขมีการชิปมาที่ Fee schedule เท่าไหร่ ซึ่งเขตสุขภาพที่ 13 จะเห็นตัวเลขนี้เยอะนิดหนึ่ง
นพ.เพชร อลิสานันท์ ผู้ช่วยอำนวยการด้านการเงินโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ผู้แทนเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบาย CA Anywhere นั้นได้รับผลตอบรับที่ดีจากประชาชน หลังดำเนินมาได้ 2 ปี พบว่า ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาได้จริง ส่วนเรื่องที่ต้องปรับปรุงคือ การกระจุกตัวของคนไข้ เพราะเมื่อผู้ป่วยสามารถเลือกโรงพยาบาลที่รักษาได้ ผู้ป่วยก็ต้องเลือกการบริการที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ดังนั้นจึงเกิดปัญหาการกระจุกตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในเครือของโรงเรียนแพทย์เท่านั้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการรักษาที่ล่าช้าตามมาได้ ดังนั้นหากนำระบบ nurse coordinator มาช่วยในการรวบรวมและส่งต่อข้อมูลอาจช่วยให้เกิดการรักษารวดเร็วยิ่งขึ้น แต่จะหาแนวทางใดในการดึงดูด เพราะปัจจุบันนี้ พยาบาลมีจำนวนน้อยลงเนื่องจากงานที่หนัก
"สปสช.ควรมีการชี้แจงเรื่องการเบิกจ่ายงบให้ชัดเจน เพื่อที่ประชาชนจะได้รับการรักษาที่ดีที่สุด โดยให้ความมั่นใจว่าหน่วยบริการสามารถเบิกค่าใช้จ่ายอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหลังทำการรักษาพยาบาลไป ดังนั้นสปสช.ควรจัดทำประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ให้ดี" นพ.เพชร กล่าว
ทางด้าน พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ กล่าวว่า เรามีการพัฒนาโปรแกรมในการส่งข้อมูล มีทั้ง The One ซึ่งสามารถเห็นคิวการรักษา และมีโปรแกรมส่งข้อมูล คือ Thai cancer based มีโปรแกรมสำหรับประชาชนในการรองรับตรงนี้ แต่หน่วยบริการกลับไม่ใช้ประโยชน์จากโปรแกรมตามที่วางไว้ ซึ่งจริงๆแรกเริ่มนโยบายนี้ต้องการลดคิวจากยาว ไปยังที่คิวสั้น และลดปัญหาการรักษาข้ามเขต โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว จึงต้องถามว่า เร็วที่สุด กับสิ่งที่คนไข้คิดว่าดีที่สุดอาจไม่สอดคล้องกัน เช่น รพ.ที่คิวว่างแต่ไม่ใช่รร.แพทย์ อย่างเขตสุขภาพ 13 หากดูเรื่องการวัดผล จึงเกิดคำถามว่าเขต 13 ไม่มีการส่งข้อมูลตรงนี้จะวัดอย่างไร และเขต 12 ที่วัดได้ แต่ระบบสั้นลง จึงอาจไปอยู่ที่เขตสุขภาพที่ 13 หรือไม่
“จริงๆนโยบายนี้ไม่มีปัญหาอะไรกับการให้บริการทางวิชาการ เพราะทุกคนแฮปปี้ โดยเฉพาะคนไข้ แต่การสื่อสารตอนนี้ยังพบว่า เราใช้โปรแกรมทั้ง 3 อย่างไม่ค่อยเก่ง หากใช้คล่องขึ้นอาจเพิ่มศักยภาพได้ ทำให้อนาคตสามารถแจ้งได้ว่า มะเร็งที่จังหวัดนี้ ที่รพ.นี้ได้เข้ารักษาเร็วขึ้น เป็นต้น ” พญ.ปฐมพร กล่าว
ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งและชีวะภิบาล ระบุว่า ระบบ CA Anywhere นั้นได้รับการชื่นชมโดยเฉพาะในต่างจังหวัด เนื่องจากสามารถเพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งได้ แต่ทั้งนี้อาจมีผู้ป่วยบางรายที่ไม่ต้องรับการรักษา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยสูงวัย ซึ่งปัจจุบันมีผู้สูงวัยเป็นผู้ป่วยมะเร็งถึง 93% กลุ่มนี้มักมีการเรียกร้องการรักษาแบบมิตรภาพบำบัด อยู่บ้าน ไม่ต้องการทรมานจากขั้นตอนการรักษา ดังนั้นเราจึงต้องทำการรักษาแบบประคับประครอง Palliative Care
“หากผู้ป่วยที่ต้องการอยู่บ้าน ดูแลแบบประคับประคอง ก็ตามใจเขา เพราะคนไข้แฮปปี้แบบนี้ ทั้งนี้เพื่อว่า ผู้ป่วยที่อยากรักษาจริงๆจะได้รับการรักษาเร็วขึ้น คิวที่รอจะได้ลดลง แต่หากเจอคนไข้ที่มีการรักษาที่หายได้ ก็ต้องโน้มน้าวให้เค้าเข้าสู่ระบบการรักษา เพื่อให้หายจากโรคมะเร็งได้เร็วขึ้น” ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ ระบุ