ป.ป.ช.สรุปผลการดำเนินงานศูนย์ CDC เผยตั้งแต่เปิดเป็นทางการมีเรื่องร้องเรียนเกือบ 1,000 เรื่อง ยันช่วยให้หน่วยงานรัฐทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2566 สำนักงานปัองกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต จัดกิจกรรมสรุปผลการใช้ระบบเฝ้าระวังการทุจริต ภายใต้โครงการพัฒนาการป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center) หรือ CDC
นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการทุจริตมีการปรับตัว เปลี่ยนแปลง และมีพลวัตในการฉกฉวยโอกาสหาช่องว่างในการทำทุจริต รวมถึงความเร็วในการปรับตัวของผุ้กระทำทุจริต ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช.จึงต้องการพัฒนารูปแบบวิธีการในการต่อต้านทุจริต การป้องกัน และการปราบปรามให้เท่าทันการทุจริตในโลกปัจจุบัน ปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาดังกล่าว คือ 'ความรวดเร็ว' ในการเข้าถึงข้อมูล และเข้าถึงทุจริตที่เกิดขึนหรือเหนือไปกว่านั้น คือการยับยั้งและสกัดกั้นการทุจริต ก่อนที่จะเกิดเหตุขึ้น
นายอุทิศ กล่าวอีกว่า ปัจจัยสำคัญในการสร้างให้เกิดความรวดเร็วในการเฝ้าระวัง ตรวจจับ และยับยั้งการทุจริต จะต้องสร้างให้เกิดกระบวนการวิเคราะห์และประเมินสภาวการณ์อย่างเท่าทัน และมีการบูรณาการความร่วมมือกัน ทั้งในมิติข้อมูลข่าวสาร ทั้งภายในหน่วยงาน และระหว่างหน่วยงาน หรือทำงานร่วมกัน การรับเรื่องร้องเรียนทุจริต จนไปถึงนำข้อค้นพบข้อเท็จจริงต่าง ๆ มากำหนดแผนการดำเนินงาน มาตรการแก้ไข เพื่อขยายผลในการแก้ไขปัญหาทุจริตต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช.จึงได้จัดตั้งโครงการพัฒนาการป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศูนย์ CDC ขึ้นเพื่อรายงานผลการใช้ระบบเฝ้าระวังการทุจริต และผลการลงพื้นที่ตามประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของรัฐ ให้กับผู้แทนรัฐ เอกชน สื่อมวลชน และสมาชิกชมรม Strong เป็นต้น เพื่อที่จะเฝ้าระวัง และสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันทุจริต
ด้าน น.ส.ฐิติวรดา เอกบงกชกุล ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและสภาวการณ์ทุจริต กล่าวว่า ศูนย์ CDC เป็นตัวชี้วัดเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ได้ผล ต้องสามารถลดคดีทุจริตลงได้ และสามารถระงับและยับยั้งไม่ให้เกิดเป็นการทุจริต
ป.ป.ช.ให้ความสำคัญกับงานป้องกัน นำงานปราบปราม ก่อนที่จะเกิดการทุจริตขึ้น เราไม่ต้องการนำคนราชการมาลงโทษ เพราะบางครั้งเขาอาจกระทำเพราะไม่รู้หรือไม่ได้ตั้งใจ เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรถึงจะช่วยให้เขาอยู่ในระบบราชการต่อ
น.ส.ฐิติวรดา กล่าวอีกว่า บางครั้งถ้ามีเรื่อง มีเหตุสงสัย หรือมีการฟ้อง แจ้งเบาะแสเข้ามา ซึ่งบางเรื่องที่ประชาชนสงสัยอาจจะไม่ได้ทุจริต อาจเป็นเรื่องภัยธรรมชาติ การเข้าใจผิดกัน หรือการขาดการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐ เมื่อเราได้รับข้อมูลแล้ว จะไม่มีการรอให้มีประชาชนหรือผู้เสียหายมาแจ้ง การทำงานของ CDC จะเป็นแนวใหม่ ในเชิงรุก โดยการจะมีการมอนิเตอร์ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันตอนนี้เป็นอย่างไร โดยมองจาก สื่อออนไลน์ โซเชียล ว่าประชาชนตอนนี้สงสัยในประเด็นอะไรกันบ้าง เช่น โครงการนี้น่าสงสัย สร้างมาตั้งนานแล้วยังไม่เสร็จสักที ถนนเพิ่งสร้างแล้วทำไมมีการชำรุดเสียหาย หรืออาคารที่สร้างร้างไว้ เป็นต้น
เมื่อได้รับเรื่องที่ประชาชนสงสัย ทางศูนย์ CDC จะแจ้งไปยังพื้นที่ คือ ป.ป.ช.ประจำจังหวัด ประจำภูมิภาคนั้น ๆ เมื่อ ป.ป.ช.จังหวัด/ภูมิภาค รับทราบแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ ขอข้อมูล ประสานงาน หรือบอกหน่วยงานที่มีอำนาจและหน้าที่โดยตรงลงไปตรวจสอบพร้อม ป.ป.ช. เมื่อเกิดสงสัยว่ามีการทุจริต หรือมีความผิดปกติ อยากให้หน่วยงานภาครัฐให้ข้อมูล เพราะบางครั้งอาจจะไม่ถึงการทุจริต แต่เป็นการขาดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน จะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ความเข้าใจกัน และที่สำคัญถ้า ป.ป.ช. สามารถเป็นตัวกลางในการช่วยประสานระหว่างหลาย ๆ หน่วยงานด้วยกัน จะสามารถให้หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชนมีความเข้าใจกัน ป.ป.ช.ก็ยินดีที่จะทำให้
แต่บางครั้งถ้าบังเอิญเหตุเป็นเรื่องที่มันเกินต่อการป้องกันหรือว่าการระงับยับยั้ง มันก้าวข้ามเส้นงานป้องกันแล้ว เป็นงานปราบปราม ป.ป.ช.ต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนเพื่อที่จะดูว่าเป็นความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในประเด็นไหนต่อไป แต่หลัก ๆ คือ ต้องการไม่ให้เกิดการทุจริต คือลดคดีทุจริต ทำยังไงก็ได้ให้ระงับ ยับยั้งเอาไว้ก่อน
น.ส.ฐิติวรดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ศูนย์ CDC เปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน เรื่องที่ได้รับการแจ้งเบาะแสผ่านสื่อออนไลน์ และที่ ป.ป.ช ไปตามมอนิเตอร์เอง โดยไม่ได้รอให้ประชาชนแจ้ง มีประมาณเกือบ 1,000 เรื่อง ซึ่งเราคัดกรองแยกไว้แล้ว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงสัยในการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น ถนน การขุดคลอง โครงสร้างอาคาร โดยส่วนใหญ่ประชาชนจะสงสัยว่า ทำไมสร้างเสร็จแล้วเสียเร็ว ทำไมยังไม่เสร็จ ซึ่งไม่ใช่เป็นลักษณะที่ไม่ได้บอกเด่นชัดว่าจะตั้งใจทุจริต ส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือขาดการประชาสัมพันธ์สื่อสารให้กับประชาชนในพื้นที่ได้เข้าใจว่า โครงการนี้กำลังจะทำอะไร หน่วยงานไหนเป็นหน่วยงานเป็นเจ้าของ ระยะเวลาในการดำเนินการยาวนานเท่าไหร่ ทำให้ประชาชนอาจมีความสงสัยขึ้นมา บางทีอยู่ในระหว่างเสร็จแล้วแต่เกิดความชำรุดเสียหาย ซึ่งอาจจะยังอยู่ในระยะเวลาประกัน เราก็จะต้องไปแจ้งในหน่วยงานที่เขารับผิดชอบโดนตรง เร่งบอกผู้รับเหมาให้มาซ่อมแซม ในระยะประกันมันยังสามารถแก้ไข เยียวยาได้
โดยสรุปแล้ว ลักษณะเรื่องที่แจ้งมาทางศูนย์ CDC ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการจงใจ แต่ทั้งนี้ก็มีเรื่องที่เป็นความผิดแล้วก็มีเหมือนกัน แต่เปอร์เซ็นต์น้อยมาก ไม่ถึง 10% ส่วนเรื่องที่แจ้งมาทางศูนย์ CDC ส่วนใหญ่จะได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว หรือบางเรื่องอาจจะต้องใช้ระยะเวลาก็อยู่ในระหว่างดำเนินการ
ขณะที่ นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.สงขลา กล่าวว่า ศูนย์ CDC เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของทาง ป.ป.ช.ในเรื่องของการเฝ้าระวังทุจริตในเชิงพื้นที่ โดยทำหน้าที่ในการแจ้งเบาะแสไปยังแต่ละพื้นที่ ในส่วนของ ป.ป.ช.จังหวัด รับข้อมูลจากศูนย์ CDC และนำมาวิเคราะห์หน่วยงานไหนในการลงพื้นที่ ในการไปดูประเด็นปัญหาตั้งแต่เรื่องของการทุจริต จนไปถึงการกระทำของรัฐเป็นไปด้วยชอบทางกฎหมายหรือไม่ เช่น การก่อสร้างถูกต้องหรือไม่ เป็นต้น
แต่ศูนย์ CDC จะเน้นที่แก้ไขปัญหาในเรื่องของงานป้องกันทุจริตในเรื่องการเฝ้าระวัง เพื่อการดำเนินงานภาครัฐให้เป็นไปตามความถูกต้อง และมีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณของแผ่นดิน แต่หากมีการพบในเรื่องของทุจริต จะมีการดำเนินการให้ชั้นต่อไปในเรื่องของภารกิจทางด้านปราบปรามต่อไป
นายราม กล่าวต่อว่า ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากศูนย์ CDC ทั้งหมด 21 เรื่อง ตั้งแต่มีการเปิดศูนย์มา เช่น การเบิกเบี้ยเลี้ยงของรัฐ ในการเก็บส่วยหรือการหักเบอร์เซ็นต์ลูกน้อง จะต้องดำเนินการตรวจสอบ แต่สภาพปัญหาที่ศูนย์ CDC มักจะเจอ คือ หน่วยงานของรัฐไม่ค่อยให้ควรร่วมมือ เพราะศูนย์ CDC ดำเนินการใช้เชิงป้องกัน เราไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมาย แต่ถ้าหากพบว่าหน่วยงานของรัฐยังเพิกเฉย ก็จะมีการใช้อำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบให้มีความเข็มข้นมากยิ่งขึ้น
ในการที่ ป.ป.ช.มีนโยบายในเรื่องศูนย์ CDC มันเป็นประโยชน์ในภาพร่วมกับสังคมและประเทศ ในการที่หน่วยงานภาครัฐจำเป็นที่จะต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ อย่าเพิกเฉยเหมือนในอดีตไม่ได้ เช่น ถนนชำรุด หน่วยงานรัฐควรรีบเขาไปซ่อมแซมทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งช่วงไว้ ไม่จำเป็นต้องรอ ป.ป.ช.ลงพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐควรรู้หน้าที่ตนเอง ให้บริการประชาชนตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
จุดนี้การที่ ป.ป.ช.มีศูนย์ CDC สามารถช่วยให้การทำงานของหน่วยงานรัฐมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาจจะเห็นผลได้ในเชิงรูปธรรม และเชิงของความเชื่อมั่นของภาคประชาชนที่มีต่อภาครัฐ