กรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา เสนอรัฐบาลหนุนใช้ไฮโดรเจนสีเขียว ลดการปล่อยคาร์บอน เผยกำหนดไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนฯ เพื่อกำกับดูแลครอบคลุมทุกด้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2566 คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา จัดงานสัมมนา เรื่อง 'ไฮโดรเจน : พลังงานทางเลือกแห่งอนาคต ตอบโจทย์สภาวะโลกร้อน ?' โดยพลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา กล่าวว่า เนื่องด้วยประเทศไทยมีความต้องการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงหลากหลายชนิดเพื่อการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม และการขนส่งมากขึ้น การเตรียมความพร้อมเรื่องพลังงานทางเลือก เพื่อทดแทนพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป จาก ฟอสซิล (fossil fuel) น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน จึงมีการพัฒนานำพลังงานอื่น ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ที่สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานหมุนเวียน ใช้แล้วนำกลับมาใช้ได้อีก และรวมถึงเชื้อเพลิงชีวภาพ ไบโอดีเซล จากปาล์มน้ำมัน และเอทานอล จากมันสำปะหลัง พืชเกษตร
นอกจากนี้ ด้วยบริบทของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การใช้พลังงานที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon dioxide) หรือ CO2 ต้องตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นทุกวัน ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมแก้ไขสภาวะแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต จึงมีข้อตกลงระหว่างประเทศร่วมกันเพื่อการส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกต้องเตรียม การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานหรือที่เรียกว่า Energy Transition ที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้
พลเอก สกนธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลก ได้ให้ความสนใจในเรื่องพลังงานไฮโดรเจนอย่างมาก ซึ่งพลังงานไฮโดรเจนถือว่าเป็นพลังงานสะอาด เนื่องจากในการใช้งานพลังงานไฮโดรเจนนั้นมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาน้อยมากจนถึงไม่มีมลภาวะเลย ซึ่งหลายประเทศมีการทำแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานไฮโดรเจน หรือ Nation Hydrogen Strategy เพื่อเตรียมความพร้อม และบางประเทศยังได้รวมแผนดังกล่าวไว้ในแผนพลังงานชาติ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับการใช้พลังงานจากไฮโดรเจนในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันนอกจากที่จะใช้งานในโรงกลั่นและเป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแล้ว ไฮโดรเจนยังสามารถเข้ามาทดแทนฟอสซิลในภาคความร้อน ภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคขนส่งได้ด้วย และในขณะที่ไฮโดรเจนกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก แนวทางที่ถูกนำเสนอขึ้นมาและพร้อมจะเกิดขึ้นได้จริงในอนาคตอันใกล้ ซึ่งกระบวนการผลิตไฮโดรเจน พร้อมทั้งแนวโน้มของกระบวนการต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนความร่วมมือของทางภาครัฐ และเอกชน นำไปสู่กระบวนการผลิตต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำถึงผู้ใช้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ ราคาที่เหมาะสม โดยการควบคุมกำกับและพัฒนาให้ต้นทุนการผลิตต่าง ๆ ไม่ให้สูงและถูกลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการกำหนดไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) เพื่อให้เกิดการพัฒนา สงเสริม สนับสนุน ให้มีกฎ ระเบียบ ในการกำกับดูแลครอบคลุมทุกด้าน
"เราเหลือเวลาอีกประมาณ 1 ปี จึงขอเป็นตัวกลางประมวลความคิดให้กับภาคนโยบาย เพราะประเทศไทยนำเข้าพลังงานเป็นหลัก และถูกกดค่าราคาสูงมาก ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเรามั่นใจว่าต่อไปข้างหน้าไฮโดรเจนที่เป็นพลังงานสะอาด จะมาปรับใช้ในประเทศไทยมากขึ้น ดังนั้น ภายหลังการจัดงานจะนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาเสนอภาครัฐเพื่อผลักดันเป็นนโยบายต่อไป"
พลเอก สกนธ์ กล่าวอีกว่า จะนำข้อสรุปในงานสัมนาครั้งนี้เสนอไปยังรัฐบาลพิจารณา เพื่อกำหนดให้ไฮโดรเจนเป็นรูปแบบหนึ่งของพลังงานที่จะมีการนำมาใช้โดยเร่งด่วน รวมถึงการจัดทำแผนและจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการใช้ประโยชน์พลังงานไฮโดรเจน โดยอาจแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก เป็นการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการศึกษาและวิจัย พัฒนา และระยะที่สอง เป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในเชิงพาณิชย์ ซึ่งดำเนินการผ่านรูปแบบโครงการนำร่องในภาคขนส่ง ที่จะเริ่มได้ก่อนเช่น รถบรรทุกขนส่ง หรือรถไฟ โดยจำกัดเส้นทางเพื่อมีสถานีเติมไฮโดรเจนรองรับ เป็นต้น ตลอดจนพิจารณามาตรการสนับสนุนการลงทุนทั้งในรูปแบบการเงินและสิทธิประโยชน์ทางภาษี ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน การลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน การใช้ทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ เช่นไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง แก้ไขกฎหมายที่ไม่จำเป็น และบัญญัติกฎหมายใหม่เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่จำเป็นและเกี่ยวข้องต่อไป