บ.สิทธิพรฯ แจงผลคดีเซ็นทรัลแล็บ กระทรวงเกษตรฯ ปี 56 ผ่านกระบวนการต่อสู้คดีแล้ว ศาลชั้นต้น-อุทธรณ์ พิพากษาไม่พบว่ามีความผิด พ.ร.บ.ฮั้ว ล่าสุด ไม่อนุญาตให้ ป.ป.ช.ยื่นฎีกาต่อ
สืบเนื่องจากในช่วงเดือนมิถุนายน 2558 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เสนอนำรายงานข่าวกรณีคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ดำเนินการไต่สวนข้าราชการที่เกี่ยวพันในโครงการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์วิทยาศาสตร์ของบริษัทห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์สินค้าการเกษตรและอาหาร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (เซ็นทรัลแล็บ) ซึ่งต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รับคดีนี้ต่อจาก คตส. และยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
โดยคดีนี้ ป.ป.ช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 ชี้มูลความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องในฐานความผิด กำหนดคุณลักษณะเฉพาะของเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จัดซื้อในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทที่ประกวดราคาได้ และผู้เข้าร่วมในการประกวดราคาเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน
มีเอกชนจำนวน 9 ราย ถูกชี้มูลได้แก่
1.บริษัท สิทธิพรแอสโซซิเอส จำกัด
2.บริษัท วิจิตรชัยธนบุรีก่อสร้าง และเคหะภัณฑ์ จำกัด
3.นายดิเรก วงศ์ชินศรี
4.นายสุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท สิทธิพรแอสโซซิเอส จำกัด
5.บริษัท อีฟอร์แอล อินเตอร์เนชั่น จำกัด
6.นางสาววัชรภรณ์ ภิสสาสุนทร กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท อีฟอร์แอล อินเตอร์เนชั่น จำกัด
7.นายสมาน นาควิเชียร ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท อีฟอร์แอล อินเตอร์เนชั่น จำกัด
8.บริษัท ออสคอน จำกัด
9.นางสาวอรณี ชวลิตวรกุล กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ออสคอน จำกัด
ล่าสุด บริษัท สิทธิพรแอสโซซิเอส จำกัด ได้ติดต่อมายังสำนักข่าวอิศรา เพื่อชี้แจงข้อมูลว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทสิทธิพรแอสโซซิเอส รวมไปถึงบริษัทที่ถูกชี้มูลจาก คตส.นั้น ได้ผ่านกระบวนการสู้คดีในชั้นศาล จนสามารถยืนยันความบริสุทธิ์ได้เป็นที่ประจักษ์แล้วในช่วงเวลาหลังจากที่ถูก คตส.ตรวจสอบ
บริษัท สิทธิพรแอสโซซิเอส จำกัด ระบุว่า ปัจจุบัน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคําพิพากษาว่า บริษัทฯ และกรรมการผู้มีอํานาจของบริษัทฯ ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และศาลอุทรณ์ก็ได้มีคําพิพากษายืนตามคําพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางดังกล่าว
ต่อมาศาลฎีกาก็มีคําสั่งไม่อนุญาตให้ป.ป.ช. ฎีกาและไม่รับฎีกาของ ป.ป.ช.
ดังนั้น คดีที่สืบเนื่องมาจากมติของ ป.ป.ช. ดังกล่าว จึงถึงที่สุดตามกระบวนการของกฎหมายแล้วว่าบริษัทฯ และกรรมการผู้มีอํานาจของบริษัทฯ ไม่มีความผิดแต่อย่างใด
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ส่งเอกสารคำพิพากษาของศาลจำนวน 3 ฉบับได้แก่
1.สําเนาคําพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางคดีหมายเลขดําที่อท.150/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อท.232/2562 ฉบับลงวันที่ 17 ธันวาคม 2562
2.สําเนาคําพิพากษาของศาลอุทรณ์ คดีหมายเลขดําที่ อท.370/2562 คดีหมายเลขแดงที่ อท.857/2564 ฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2564
3.สําเนาคําสั่งของศาลฎีกา ที่ ดร.อท.732/2565 ฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565