สื่ออินเดียแฉ มิจฉาชีพอ้างเป็นหญิงไทย หลอกทหารผ่านศึกอินเดียโอนเงินแลกผลตอบแทนผ่านการกดไลค์วิดีโอ สูญเงินไปกว่า 4.5 ล้านบาท ชี้ชัดมิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกให้เหยื่อโอนเงินจำนวนหนึ่ง โดยอ้างว่าจะได้ผลตอบแทนมากกว่ากลับมา ท้ายสุดสูญเงินนับล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวต่างประเทศที่เกี่ยวกับประเทศไทยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ในเมืองปูเณ รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดียได้แถลงข่าวว่าได้มีการดำเนินการสืบสวนหลังจากที่พบว่ามีกรณีที่ทหารผ่านศึกกองทัพบกนายหนึ่งตกเป็นเหยื่อของขบวนการมิจฉาชีพเรียกเงินแลกยอดไลค์ ส่งผลทำให้อดีตทหารรายนี้ต้องเสียเงินไปถึง 11 ล้านรูปี (4,564,050 บาท)
โดยทหารผ่านศึกรายนี้ได้เข้าร้องเรียนเมื่อสัปดาห์ก่อน ระบุว่ากลุ่มมิจฉาชีพได้ติดต่อกับเขาตั้งแต่เมื่อกลางเดือน ก.พ. และหลอกล่อเขาว่าจะได้เงินจากยอดไลค์ ซึ่งเงินนั้นจะมีการโอนให้ประมาณสัปดาห์ที่สามและสี่ของเดือน ก.พ. และทหารผ่านศึกคนนี้ก็หลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพ จึงได้มีการโอเงินไปกว่า 26 ครั้ง คิดเป็นเงิน 11 ล้านรูปี
ทางด้านของนายมินาล ปาทิล สารวัตรอาวุโสที่ดูแลด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ในเมืองปูเนกล่าวว่าขบวนการมิจฉาชีพเรียกยอดไลค์แลกเงินดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นการหลอกลวงทางไซเบอร์ที่ค่อนข้างใหม่ โดยในตอนแรกเหยื่อจะได้รับข้อเสนอให้กดปุ่มไลค์บนวิดีโอ และต่อมาก็จะมีการหลอกว่าให้จ่ายเงินเป็นจำนวนน้อยเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เพื่อที่จะทำให้เหยื่อมีความรู้สึกไว้ใจ
ท้ายที่สุดเหยื่อก็จะถูกหลอกให้หาเงินก้อนโตเพิ่มขึ้นเพื่อมาจ่าย แล้วหลังจากนั้นก็จะมีประเด็นที่เป็นเรื่องไม่จริง เกี่ยวกับเงื่อนไขการได้ผลตอบแทนมูลค่าสูงกลับคืนมา ซึ่งถึงจุดนี้เหยื่อจะเริ่มมีความรู้สึกว่าอยากได้เงินต้นคืนมาแล้ว แต่ทางฝ่ายมิจฉาชีพก็จะให้เงื่อนไขต่างๆนานากลับมาอีกว่าถ้าอยากได้เงินจำนวนนี้คืนก็ต้องมีการจ่ายเงินเพิ่มไปอีก
นายปาทิลกล่าวว่าในกรณีนี้ผู้ร้องเรียนนั้นตอนแรกถูกหลอกลวงก่อนแล้วหลังจากนั้นเขาก็ถูกบังคับให้ดำเนินการจ่ายเงินเพื่อจะเอาเงินที่จ่ายไปก่อนหน้านี้กลับคืนมา ซึ่งทีมสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสืบค้นเบาะแสทุกอย่างที่เกี่ยวข้องเท่าที่จะเป็นไปได้
ตามรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่าในช่วงแรกเจ้าทุกข์ถูกเข้าถึงโดยผู้หญิงคนหนึ่งที่พิมพ์ข้อความ ซึ่งในข้อความระบุรายละเอียดเกี่ยวกับโอกาสการจ้างงานเสริมพิเศษหรือว่างานพาร์ทไทม์
ผู้หญิงคนนี้อ้างตัวว่าเธอมาจากประเทศไทยและเสนอรายได้ให้กับเจ้าทุกข์ประมาณ 50 รูปี (20.76 บาท) ต่อทุกไลค์บนวิดีโอที่เป็นลิงค์ของเว็บอาทิเช่น Youtube ซึ่งเธอจะส่งลิงค์ดังกล่าวให้กับฝ่ายเจ้าทุกข์
ผู้หญิงคนดังกล่าวยังได้กล่าวกับเจ้าทุกข์ต่อไปด้วยว่าฝ่ายเจ้าทุกข์จะต้องมีการส่งภาพแคปหน้าจอ พร้อมระบุชื่อตัวเอง ที่อยู่ และหมายเลขบัญชีธนาคารเพื่อยืนยันว่าฝ่ายเจ้าทุกข์ได้กดไลค์วิดีโอที่เธอส่งไปให้จริง
ในเวลาต่อมา ฝ่ายเจ้าทุกข์ก็ได้รับข้อความระบุว่าโบนัสแรกเข้าสำหรับผู้ที่ให้ความสนใจคิดเป็นมูลค่า 150 รูปี (62.36 บาท) แล้วเจ้าทุกข์ก็จะถูกดึงเข้ากลุ่มสนทนาที่มีหัวข้อว่า “กลุ่มลูกจ้างทดลองงาน”
พอเจ้าทุกข์ถูกดึงเข้ากลุ่ม หนึ่งในผู้ต้องสงสัยจะมีการขอให้เหยื่อได้ดำเนินการจ่ายเงินออนไลน์กว่า 1,000 รูปี (415.55 บาท) สำหรับ “หน้าที่ที่ต้องมีการจ่ายเงินล่วงหน้า” และเหยื่อจะได้รับข้อเสนอว่าจะได้เงินคืนมา 1,480 รูปี (415.55 บาท)
ในเวลาต่อมาฝ่ายมิจฉาชีพก็ได้มีการอ้างว่าให้เหยื่อจ่ายเงินล่วงหน้า 3,000 รูปี (1,247.79 บาท) เพื่อให้เหยื่อได้เงินคืนมากกว่า 4,000 รูปี (1,663.72 บาท)
มิจฉาชีพยังได้มีการบอกกับเหยื่อว่าเหยื่อจะได้รับโอกาสให้เข้ากลุ่ม VIP ซึ่งจะมอบโอกาสในการทำงานและผลตอบแทนที่ดีกว่า และในที่สุดก็ส่งผลทำให้เหยื่อที่เป็นทหารผ่านศึกรายนี้โอนเงินไปกว่า 26 ครั้งไปยัง 13 บัญชีธนาคาร คิดเป็นมูลค่า 11 ล้านรูปี ก่อนที่ในที่สุดเหยื่อจะรู้ตัวว่าเขาถูกฉ้อโกงแล้ว