สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ยังน่าห่วงเกินมาตรฐานต่อเนื่อง ลุยทำฝนเทียม 5 จังหวัดภาคเหนือ นายกฯกำชับทำตามแผนขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ขอ ปชช.ดูแลสุขภาพ เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั่วทั้งประเทศ โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ 'การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง' ภายใต้ 3 มาตรการสำคัญ คือ
1) การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ 2) การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และ 3) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ เพื่อให้การแก้ไขปัญฝุ่นละอองตามบทบาทของแต่ละหน่วยงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลเป็นรูปธรรมตามแผนที่วางไว้ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบและความเดือดร้อนให้กับประชาชน
นายอนุชา กล่าวถึงข้อมูลล่าสุดของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 10-16 มี.ค. 66 ระบุว่า วันที่ 10 มี.ค. 66 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่
โดยหลังวันที่ 11 มี.ค. 66 เป็นต้นไป สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตามช่วงระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค. 66 ยังเป็นช่วงที่ควรเฝ้าระวังของพื้นที่
เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองข้ามพื้นที่ได้ ขณะที่พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงในพื้นที่ภาคเหนือทั้งตอนบนและล่างระหว่างวันที่ 10-14 มี.ค. 66
ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน สถานการณ์ฝุ่นจะค่อย ๆ ลดลง คาดว่าจะยังมีปัญหาอยู่อีก 1-2 สัปดาห์
ขณะที่สถานการณ์หมอกควันและไฟป่า PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ ยังคงจมฝุ่นควันพิษต่อเนื่อง จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงติดอันดับ 1 ใน 5 ของเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดของโลก บางช่วงขึ้นไปอันดับ 1 เช้าวันนี้
เว็ปไซด์ https://www.iqair.com รายงานการตรวจวัดคุณภาพอากาศและการจัดการเมืองที่มีมลพิษแย่ที่สุดของโลก US AQI พบว่า จังหวัดเชียงใหม่ คุณภาพอากาศขึ้นมาอยู่อันดับ 4 ของเมืองที่คุณภาพแย่ที่สุด มีค่า 187 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนการตรวจวัดคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ จากกรมควบคุมมลพิษวันเดียวกันนี้ทั้ง 6 จุดพบว่า มีค่าตั้งแต่ 79- 129 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พบพื้นที่สีแดงทั้ง 3 จุดตรวจวัด มากสุดพื้นที่ ต.หางดง อ.ฮอด มีค่า 129 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ,ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่มีค่า 96 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และบนดอยสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ มีค่า 92 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นสีส้ม 3 จุด ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กน้อยสุด พื้นที่ต.ศรีภูมิ อ.เมือง, เชียงใหม่ มีค่า 79 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ข้อมูล GISTDA รายงานจุดความร้อน (Hotspot) ประจำวันที่ 10 มีนาคม 2566 รอบเช้าจังหวัดเชียงใหม่พบจุดความร้อน จำนวน 50 จุด พื้นที่อำเภอฮอดพบจุดความร้อนมากสุด 11 จุด เกิดจุดความร้อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มากที่สุด ที่อำเภอเชียงดาว 9 จุด ,อำเภอฮอด 8 จุด เกิดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติมากที่สุด อำเภอแม่แตง ,อมก๋อย และสันทราย อำเภอละ 5 จุด ยังพบเกิดในเขต สปก. อำเภอสันกำแพง 1 จุด จุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 ถึงปัจจุบัน ทั้งหมดจำนวน 3,685 จุด
ด้านนายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ เปิดเผยว่า ได้จัดชุดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาผลกระทบจากหมอกควันและไฟป่า PM2.5 ที่กำลังเกินมาตรฐานเวลานี้เป็นวงกว้าง โดยใช้เครื่องบินเกษตร ชนิด CASA จำนวน 2 ลำ บินปฏิบัติการวันละ 2 เที่ยวบิน ช่วงเวลา 13.25 น. - 16.10 น. พื้นที่เป้าหมายพื้นที่ป่าไม้ จ.ลำปาง รอยต่อ จ.แพร่ , พื้นที่ป่าไม้ อ.จอมทอง ฮอด จ.เชียงใหม่ ,พื้นที่ป่าไม้ อ.ลี้ จ.ลำพูน รอยต่อ อ.สามเงา จ.ตาก และพื้นที่ป่าไม้ อ.แม่ระมาด อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงและพบจุดความร้อนจำนวนมากเวลานี้