ศาลปกครองกลางพิจารณาเร่งด่วน พิพากษาเพิกถอนประกาศรับสมัคร ผอ.สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ชี้กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครไม่ชอบ-เลือกปฏิบัติ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2566 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ บ.62/2566 หมายเลขแดงที่ บ.46/2566 ระหว่าง พันเอก ศุภณัฏฐ์ หนูรุ่ง ผู้ฟ้องคดี กับ คณะอนุกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ที่ 1 คณะกรรมการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดี โดยศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของบุคคลที่มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักความเสมอภาค ตามมาตรา 27 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ซึ่งพิจารณาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กำหนดคุณสมบัติเฉพาะเกี่ยวกับประสบการณ์ด้านการบริหารงานของบุคคลที่มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือก เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยไว้ในประกาศรับสมัครฉบับลงวันที่ 3 มกราคม 2566 โดยในส่วนของผู้บริหารบริษัทเอกชน ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ และผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กำหนดว่า ต้องดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในระดับรองของตำแหน่งบริหารสูงสุด กล่าวคือ หากบุคคลนั้นดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการบริษัทเอกชน รองผู้ว่าการหรือรองผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจ หรือรองอธิการบดีหรือคณบดี ก็มีสิทธิที่จะสมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยได้
ขณะที่หากพิจารณาตำแหน่งรองอธิบดีซึ่งเป็นตำแหน่งรองผู้บริหารราชการส่วนกลางระดับกรม และมีขอบเขตภารกิจในการบริหารราชการในอำนาจหน้าที่ตามที่อธิบดีมอบหมาย ไม่ว่าจะเป็นภารกิจบริหารราชการของกรมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือภารกิจบริหารราชการของหน่วยงานในสังกัดกรมที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด หรือภารกิจสนับสนุนราชการส่วนภูมิภาคที่อยู่ในสังกัดกรม เห็นได้ว่า ภารกิจในอำนาจหน้าที่ดังกล่าวของรองอธิบดีมีอยู่อย่างกว้างขวาง ทั้งในเรื่องของการบริหารแผนงาน โครงการ กิจกรรม การบริหารงานบุคคล รวมทั้งการบริหารงบประมาณ ซึ่งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีย่อมต้องมีประสบการณ์ในการบริหารงานมากพอสมควรจึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากตำแหน่ง หน้าที่ ความรับผิดชอบ รวมถึงการจัดโครงสร้างองค์กรของราชการส่วนกลางระดับกรม บริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ และสถาบันอุดมศึกษาประกอบกันแล้ว ไม่มีข้อพิสูจน์ใดที่จะแสดงให้เห็นโดยประจักษ์ว่าบุคคลที่ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีจะมีประสบการณ์ในการบริหารงานที่ด้อยกว่าบุคคลที่ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการบริษัทเอกชน รองผู้ว่าการหรือรองผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจ หรือรองอธิการบดีหรือคณบดีของสถาบันอุดมศึกษา ถึงขนาดที่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีจะไม่อาจสมัคร เข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยได้
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กำหนดคุณสมบัติเฉพาะเกี่ยวกับประสบการณ์ด้านบริหารงานโดยมิได้พิจารณาถึงความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของบุคคลที่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามภารกิจความรับผิดชอบในตำแหน่งดังกล่าว จึงไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นควรค่าแก่การรับฟังว่า ผู้ฟ้องคดีซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีจะไม่มีประสบการณ์ด้านบริหารงานที่จะสมัครเข้ารับการคัดเลือก เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยได้ ทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี อันขัดต่อหลักความเสมอภาค ตามมาตรา 27 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศรับสมัครดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาเพิกถอนประกาศสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ที่ 1/2566 เรื่อง รับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ลงวันที่ 3 มกราคม 2566 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศ และให้คำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
อนึ่ง คดีนี้อธิบดีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วน ตามข้อ 49/2 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 เพื่อให้ศาลสามารถพิจารณาพิพากษาคดีให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วตามลักษณะคดีที่มีความจำเป็นต้องพิจารณาโดยเร่งด่วน ซึ่งคดีนี้ศาลปกครองกลางพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จสิ้นภายในเวลา 23 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้อง