ราชกิจจาฯเผยแพร่ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ขยายกำหนดเวลาบังคับใช้ 4 มาตรา กรณีใช้กล้องบันทึกภาพ เสียง ขณะควบคุมตัว จาก 22 ก.พ. เป็นตั้งแต่ 1 ต.ค.2566 เหตุสำนักงานตำรวจฯ-หน่วยงานปฏิบัติ ยังไม่พร้อม เกรงมีผลกระทบต่อการดำเนินคดี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 19 ก.พ.2566 เผยแพร่ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พร.บ.ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566
สาระสำคัญ
มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566”
มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป ”
มาตรา 4 ในระหว่างที่มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ยังไม่มีผลใช้บังคับ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และหน่วยงานที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบการควบคุมตัวตามมาตรา 22 และมาตรา 23 เร่งเตรียมการให้มีความพร้อมรองรับการปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2566 เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายมีมาตรการและกลไกที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยเร็ว
มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชกำหนดนี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันได้มีการตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 กำหนดมาตรการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งรวมถึงการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบการควบคุมตัว ต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมตัวและแจ้งให้พนักงานอัยการและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในท้องที่ทราบ โดยทันที ซึ่งขณะนี้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบได้มีการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวในระดับหนึ่งแล้ว โดยได้จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็น
ตลอดจนฝึกอบรมความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน รวมทั้งวางระเบียบและแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างชัดเจน เหมาะสม เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ แต่โดยที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ในขณะที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติการตามกฎหมาย และหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบการควบคุมตัว ยังมีปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับความพร้อมด้านงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และขั้นตอน การปฏิบัติงานในการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียด ซับซ้อน และมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชนโดยตรง รวมถึงส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อสาธารณะ
หากมีการใช้บังคับกฎหมายในขณะที่หน่วยงานยังไม่มีความพร้อม จะทำให้การเฝ้าระวังและการเก็บรวบรวม และบันทึกพยานหลักฐานในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่มีความไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจทำให้เป็นประเด็น โต้แย้งในชั้นการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด ส่งผลให้การจับมิชอบ การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ และไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด ซึ่งจะเป็นผลร้ายแรงต่อสังคมและความปลอดภัยสาธารณะอย่างร้ายแรง อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่มีทรัพยากรในการปฏิบัติงานที่พร้อมยังต้อง เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางวินัยอีกด้วย ข้อเท็จจริงดังกล่าวถือเป็นกรณีฉุกเฉินที่มี ความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ และความปลอดภัยสาธารณะ จึงสมควรขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับของบทบัญญัติเพียงเฉพาะในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการใช้กล้องบันทึกภาพและเสียงในขณะการควบคุมตัว เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบการควบคุมตัวได้เตรียมความพร้อมในด้านอุปกรณ์และบุคลากร สำหรับการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสมและเพียงพอ ตลอดจนให้มีการวางหลักเกณฑ์และมาตรฐาน การปฏิบัติงานอย่างรอบคอบ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นประโยชน์ต่อการรักษา ความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชนอย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
ดูประกาศในลิงก์:https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140A012N0000000000100.pdf