ทีมแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจให้ผู้ป่วยสำเร็จเป็นรายแรก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมแพทย์โรงพยาบาล (รพ.) ธรรมศาสตร์ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจรายแรกให้กับผู้ป่วยเพศชาย อายุ 50 ปี ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง จากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมกับมีภาวะลิ้นหัวใจรั่วรุนแรงประสบความสำเร็จ
ทีมผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจนำโดย ผศ.นพ.บลวัชร์ หอมวิเศษ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัด ปลูกถ่ายหัวใจและปอด ผู้ทำหน้าที่เป็นศัลยแพทย์ผ่าตัดนำหัวใจดวงใหม่กลับมาและทำหน้าที่ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจดวงใหม่ให้กับผู้ป่วย ร่วมกับ อ.พญ.ธิดา ศรีรัตนา ทาบูกานอน อายรุแพทย์โรคหัวใจผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายหัวใจ ผู้คัดเลือกหัวใจและร่วมดูแลเรื่องการให้ยาแก่ผู้ป่วยในช่วงหลังการผ่าตัด นอกจากนั้นยังมี ทีมศัลแพทย์ผู้ช่วย, ทีมวิสัญญี, ทีมพยาบาลผาตัด, ทีมนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก, ทีมพยาบาลผู้ประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะ, ทีมพยาบาล ICU, ทีมพยาบาลที่หอผู้ป่วย และทีมยานยนต์ ที่ร่วมการดูแลผู้ป่วยรายนี้
ทั้งนี้หัวใจของผู้ป่วยมีการบีบตัวลดลงมาเหลือ 19% อีกทั้งอาการป่วยของผู้ป่วยหนักมากต้องเข้ารักษาตัวที่รพ.ธรรมศาสตร์หลายครั้งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทางคณะแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญในศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะมีความเห็นตรงกันว่า ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับกรปลูกถ่ายหัวใจเพื่อลดอาการและทำให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น จึงได้ลงทะเบียนผู้ป่วยกับสภากาชาดไทยเพื่อเข้าคิวรอรับการบริจาคหัวใจ หลังลงทะเบียนรอรับหัวใจเป็นเวลานาน 2 เดือน สุดท้ายผู้ป่วยได้รับการบริจาคหัวใจ และได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจดวงใหม่ที่ รพ.ธรรมศาสตร์ ในวันที่ 5 ก.พ. 2566
การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจรายแรกของรพ.ธรรมศาสตร์ สำเร็จลุล่วงด้วยดี ใช้ระยะเวลาการผ่าตัดทั้งหมดเพียง 4 ชั่วโมง หลังผ่าตัดผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงใดๆ สามารถนำท่อช่วยหายใจออกและหายใจเองได้ ร่วมกับ หัวใจดวงใหม่สามารถเต้นเองได้อย่างดีจนสามารถหยุดยาที่ใช้กระตุ้นหัวใจทั้งหมดได้ เพียงแค่ 1 วันหลังผ่าตัด ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอย่างมากและถือเป็นก้าวที่สำคัญในการพัฒนารพ.ธรรมศาสตร์ป็นศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ
สำนักข่าวอิศรารายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่า การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจะมีข้อบ่งชี้เมื่อผู้ป่วยมีภาวะหัวใจวาย (ภาวะหัวใจล้มเหลว) ระยะสุดท้าย ที่มีอาการเหนื่อยอย่างรุนแรงจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง หรือใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ และมีการพยายามรักษาด้วยยา หรือวิธีอื่น ๆ เช่นการผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล โดยที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถ้าไม่รักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมักจะมีอายุเฉลี่ยเหลือน้อยกว่า 2 ปี และสาเหตุของภาวะหัวใจวาย สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคหัวใจกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม,โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคลิ้นหัวใจผิดปกติ
แต่ในประเทศไทยการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เนื่องจากการขาดทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ โดยช่วงก่อนนหน้านี้มีศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่ได้รับการรับรองจากสภากาชาดไทยเพียง 5 โรงพยาบาลเท่านั้น คือ จุฬาลงกรณ์, ศิริราช, รามา, บำรุงราษฎร์ และ ราชวิถี ซึ่งทางรพ.บาลธรรมศาสตร์ได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงเร่งพัฒนาบุคลากร จัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย และแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่าย จนในที่สุดสามารถผ่านการประเมินจากสภากาชาดไทย และได้รับรองเป็นศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ซึ่งถือเป็นศูนย์ที่ 6 ของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. 2565