สภาการพยาบาล ท้วง สธ. ปมขยายอายุวัคซีนโควิด 'ไฟเซอร์' จาก 9 เดือน เป็น 15 เดือน ห่วงกระทบ ปชช. ด้าน อย.แจงยังคงประสิทธิภาพ-ความปลอดภัย ยันพิจารณาตามหลักวิชาการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล ได้ทำหนังสือลงวันที่ 31 ม.ค. 2566 เรื่องขอทักท้วงการกำหนดอายุวัคซีน 15 เดือนสำหรับวัคซีน Comirnaty เลขทะเบียน IC 8/64 (NBC) ส่งถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขยายอายุผลิตภัณฑ์วัคซีน บริษัท ไฟเซอร์ กำหนดวันหมดอายุผลิตภัณฑ์วัคซีน Comirnaty (Concentrate for dispersion for injection) สูตรตำรับ PBS/Sucrose buffer 30 ug จากสถานที่ผลิต BioNTech ประเทศเยอรมัน จำนวน 8 รุ่นการผลิต ปริมาณนำเข้าทั้งสิ้น 4,891,524 โดส ซึ่งเป็นรุ่นการผลิตที่ปล่อยผ่านจากสถานที่ผลิตแล้ว จากเดิมอายุยา 9 เดือน (วันหมดอายุ 30 ก.ย. 2565) เป็น 15 เดือน (วันหมดอายุ 30 มี.ค. 2566 ) เมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -60 ถึง -90 องศาเซลเซียส หากไม่พบการเบี่ยงเบนอุณหภูมิออกนอกช่วงสภาวะการเก็บรักษาตามที่ได้รับอนุมัติจาก อย.
สภาการพยาบาล ได้นำเรื่องดังกล่าวหารือในที่ประชุมภาคีสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2566 มีมติให้สภาการพยาบาลทำหนังสือทักท้วงเพื่อขอให้ อย.ทบทวนกรณีดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าวัคซีนที่หมดอายุ ที่ได้รับการขยายอายุผลิตภัณฑ์และนำไปฉีดให้แก่ประชาชน อาจจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และเกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรได้ เนื่องจากร้อยละ 80 เป็นพยาบาลวิชาชีพที่เป็นผู้ฉีดวัคซีนดังกล่าว หากฉีดไปแล้วจะเกิดความไม่สบายใจ จึงได้ทำหนังสือทักท้วงมายัง สธ.เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนต่อไป
ทางด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอประเด็นในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการขยายอายุวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ จาก 9 เดือน เป็น 15 เดือน ขอชี้แจงว่า อย. มีมาตรฐานในการพิจารณาขยายอายุวัคซีนตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ซึ่งผ่านการประเมินข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ
โดยพิจารณาจากข้อมูลการศึกษาความคงสภาพระยะยาวที่อุณหภูมิ -60 ถึง-90 องศาเซลเซียส ซึ่งจะมีการปรับปรุงเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ตามข้อมูลผลการทดสอบความแรง (Potency) ความบริสุทธิ์ (Purity) ความปราศจากเชื้อ (Sterility) ประกอบกับข้อมูลรายงานอาการไม่พึงประสงค์หรือปัญหาคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากผู้ใช้ยา จึงอนุญาตให้ขยายอายุวัคซีนได้
ทั้งนี้ วัคซีนถือเป็นยา ซึ่งตามปกติจะมีการระบุวันหมดอายุไว้ แต่หากมีข้อมูลความไม่ปลอดภัยก็สามารถนำมาพิจารณาระงับการใช้หรือเรียกคืนในล็อตที่มีปัญหาได้
ส่วนกรณีวัคซีนที่ขยายอายุจะหมดอายุวันที่ 30 มี.ค.นี้ อาจส่งผลกระทบต่อผู้รับวัคซีนและภาพลักษณ์ของสภาการพยาบาล เพราะ 80% ของผู้ที่ฉีดวัคซีน คือพยาบาล นพ.ไพศาล กล่าวว่า สำหรับเรื่องนี้เราต้องคุยกันด้วยหลักวิชาการ ซึ่งตอนนี้วัคซีนไฟเซอร์ยังไม่พบปัญหาใดๆ ในการใช้งาน แม้ว่าจะมีการยืดอายุออกเป็น 15 เดือน ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดมีข้อมูลว่าพบปัญหาก็ขอให้ส่งมาที่ อย.