ม็อบสหภาพลูกจ้างของรัฐฯบุกกระทรวง ยื่น 6 ข้อเรียกร้องสวัสดิการที่เป็นธรรม ค่าเสี่ยงภัยโควิด-ค่าตอบแทน-การจ้างงาน ด้านโฆษก สธ.แจงความคืบหน้าการดำเนินงาน ชี้บางเรื่องเกินอำนาจ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 สหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย(สลท.) พร้อมด้วยตัวแทนพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.) ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการ(รายวัน-รายเดือน) สายสนับสนุนบริการ 56 สายงาน ประมาณกว่าร้อยคน และทยอยเดินทางมาเรื่อยๆ นำโดยนายโอสถ สุวรณ์เศวต ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย(สสลท.) เพื่อมาติดตามร้องทุกข์แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ขอสิทธิสวัสดิการที่เป็นธรรม พร้อมยื่นหนังสือเรียกร้อง 6 ข้อ โดยมี นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงฯ และผอ.ศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ สธ. รับเรื่องดังกล่าว
นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข โดยที่ผ่านมามีนโยบายและการปฏิบัติเพื่อดูแลและพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้อเรียกร้องของ สลท.ในวันนี้ ตนได้รับมอบให้เป็นตัวแทนมารับเรื่องเพื่อไปดำเนินการต่อให้เป็นรูปธรรม ซึ่งหลายเรื่องมีการดำเนินการไปแล้ว บางเรื่องกำลังเร่งดำเนินการ ส่วนบางเรื่องที่อยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข จะมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยข้อเรียกร้องทั้ง 6 ข้อนั้น กระทรวงสาธารณสุขขอชี้แจง ดังนี้
1.ขอให้จ้าง พกส.ด้วยเงินงบประมาณ จากการศึกษาพบว่า การจ้างด้วยเงินงบประมาณต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.พ.กำหนด ยกเว้นลูกจ้างชั่วคราว 4 ประเภท คือ ลูกจ้างชั่วคราวต่างประเทศที่มีสัญญา ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการที่มีสำนักงานในต่างประเทศ ลูกจ้างชั่วคราวตามระเบียบของสถาบันอุดมศึกษา และลูกจ้างชั่วคราวที่มีข้อตกลงพิเศษกับกระทรวงการคลัง ซึ่งการจ้าง พกส.อยู่ภายใต้ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยเงินบำรุงของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2562 หากจะจ้างด้วยเงินงบประมาณต้องแก้ไขระเบียบ พกส.และทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นกรณีพิเศษ
“ที่ระบุว่าการจ้างเป็น พกส.ทำให้ไม่มีความมั่นคงในการจ้างงาน ถูกกดขี่ค่าจ้าง ไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องของการปรับเงินเดือนประจำปี ขอยืนยันว่า การจ้าง พกส.มีมาตรฐานการจ้างงานและมีความมั่นคง เพราะมีระเบียบชัดเจน มีมาตรฐานการกำหนดตำแหน่ง และมีบัญชีค่าจ้างผ่านกระทรวงการคลัง ซึ่งได้ปรับบัญชีค่าจ้างใหม่เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2565 และผู้ที่ไม่ถึงขั้นต่ำได้รับการปรับเพิ่มทุกคน นอกจากนี้ ยังมีการประเมินผลงาน 2 ครั้ง/ปี และปรับเพิ่มเงินเดือนปีละครั้งจากฐานเงินเดือนร้อยละ 4” นพ.รุ่งเรือง กล่าว
2.เรื่องยกเลิกสัญญาการจ้างระยะสั้น 4 ปี เป็นจ้างถึงอายุ 60 ปี ซึ่งหลักการนี้เกิดจากการที่เดิมลูกจ้างชั่วคราว 1 ปีไม่มีความมั่นคง เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ให้พัฒนารูปแบบการจ้างงานให้ดีขึ้น จึงมีการศึกษาและนำระบบพนักงานราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยมาเป็นต้นแบบ
โดยมีการประกาศใช้ระเบียบฯ ว่าด้วยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556 ซึ่งกำหนดการจ้างไม่เกินคราวละ 4 ปี จนถึงขณะนี้มี พกส.กว่า 1 แสนคน และที่ผ่านมามีการจ้างต่อตลอด เช่น การต่อสัญญาจ้างครั้งที่ 2 ช่วงตุลาคม 2564 - กันยายน 2568 มีการต่อสัญญา 110,566 ราย คิดเป็น 99% ส่วนกรณีที่มีการทำสัญญา 1 ปี เนื่องจากกรอบอัตรากำลังจะสิ้นสุดในปี 2564 ต้องรอกรอบอัตรากำลังใหม่ จึงขออนุมัติจ้างเพียง 1 ปี สำหรับ พกส.รายใหม่ แต่หลังจากนั้นจะกลับมาต่อสัญญาไม่เกินคราวละ 4 ปีตามเดิม ส่วนปัญหาเรื่องการทำธุรกรรม กู้ซื้อต่างๆ ได้รับเรื่องไว้และจะหาทางออกร่วมกันต่อไป
3.การยกเลิกสัญญาจ้างแบบลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการ (รายเดือน-รายวัน) ให้เป็นพกส.ทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเรื่องนี้แล้ว โดยในปีงบประมาณ 2562-2564 มีการอนุมัติจัดจ้างลูกจ้างชั่วคราวเป็น พกส.ไปแล้ว 36,548 ราย
4.ขอให้ พกส.และลูกจ้างที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 5 อำเภอ จ.สงขลา ได้รับค่าเสี่ยงภัยเหมือนข้าราชการ กรณีนี้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังที่กำหนดให้ลูกจ้างประจำและพนักงานราชการ เป็นเรื่องที่เกินขอบเขตอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข จึงต้องเสนอกระทรวงการคลังพิจารณา ซึ่งจะไม่ได้พิจารณาเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขหน่วยงานเดียว
5.ค่าเสี่ยงภัยโควิดสำหรับ พกส.และลูกจ้างทุกประเภท เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งสายวิชาชีพและสายสนับสนุนทั้งหมด
6.การปรับโอทีให้เหมาะสม ขณะนี้มีการออกประกาศปรับค่าตอบแทนนอกเวลา ร้อยละ 8 และผลัดบ่าย/ดึก ร้อยละ 50 ไปแล้ว ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขย้ำว่าให้เร่งดำเนินการ