ปลัดกระทรวงยุติธรรม รับแนวทางการช่วยเหลือชาวเลราไวย์ทั้งเรื่องคดีและการหาที่ดินสร้างหมู่บ้านวัฒนธรรมชาวเลกลับไปสานต่อ เล็งเสนอ ครม.แก้ไขปัญหาที่ดินชาวราไวย์ ชี้ชัดการใช้ ส.ค.1 มาออกเอกสารสิทธิ์มีปัญหาไม่ตรงกับภาพในอดีต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 นายพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาตรวจเยี่ยมชาวเลราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้ามาช่วยเหลือชาวเลทางคดีพิพาทเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดินกับนายทุน ทำให้ชาวเลชนะคดี แต่คดียังไม่สิ้นสุด ส่วนคดีในศาลปกครอง ปัจจุบันศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีที่ดินที่ตั้งบาลัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวราไวย์
ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์หลักของกองทุนยุติธรรมคืออำนวยความยุติธรรม มาสู่ประชาชน และได้ให้นโยบายกับยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัดต้องไม่ละทิ้งวัตถุประสงค์กองทุนฯ ไม่ใช่แค่การจ่ายเงินเยียวยาอย่างเดียว
หลังจากลงพื้นที่ได้สั่งการให้กองทุนยุติธรรมไปทำงานต่อ เรื่องแรกคือเรื่องคดีของชาวเลราไวย์ ทุกครอบครัวมีปัญหาเดียวกัน เพียงแต่ถูกฟ้องแยก ตอนนี้เรามีแนวทางการดำเนินคดีแบบกลุ่มก็จะทำให้การดำเนินคดีของชาวเล มีพลังมากขึ้น และให้ดูแลการปล่อยตัวชั่วคราว การช่วยเหลือเรื่องคดีต่างๆ ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย จัดหาทนายความที่มีความเชี่ยวชาญช่วยเหลือทางคดีที่จะดูแลชุมชนดั้งเดิม
ส่วนการจะให้พื้นที่นี้เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมชาวเล กองทุนยุติธรรม สามารถส่งต่อให้หน่วยงานอื่นในกระทรวงที่จะไปสานต่อ แต่ถ้าดูแล้วเกินอำนาจกองทุนยุติธรรม ก็จะส่งต่อศูนย์บริการร่วม ซึ่งจะพิจารณาต่อไปว่าถ้าจะพัฒนารักษาพื้นที่ชุมชนวัฒนธรรมดั้งเดิม ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ เราสามารถตั้งเรื่องได้ กระทรวงยุติธรรมสามารถเสนอครม. ได้
ถามว่า การตั้งหมู่บ้านวัฒนธรรมชาวเล โดยใช้เงินจากกองทุนยาเสพติด ทำได้หรือไม่ นายพงษ์สวาท กล่าวว่า แต่ละกองทุนมีวัตถุประสงค์ต่างกัน เป็นกองทุนที่จัดตั้งโดยกฎหมาย กรอบวัตถุประสงค์ของแต่ละกองทุนจึงต่างกัน กองทุนยาเสพติด แม้เม็ดเงินจะเยอะแต่การใช้เงินต้องเป็นไปตามกรอบวัตถุประสงค์ แต่กระทรวงยุติธรรมมีมือไม้เยอะ ก็จะกลับไปดูว่าจะกลไกอะไร ที่จะเข้ามาช่วยเหลือชาวเลราไวย์ ได้
ทั้งนี้ มาตรการทางบริหารต้องเข้ามาจับ เพราะจะเห็นว่าพื้นที่ของชาวเลราไวย เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เพราะฉะนั้นการบูรณาการการใช้มาตรการบริหาร ก็จะรับตรงนี้ไปดำเนินการ
ขณะที่พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เผยว่า พื้นที่นี้ปัญหาคือโฉนดใบนี้ ทั้งที่ชาวเล มีคำพิพากษาชนะคดี หลายคดี ตอนนี้ทางกระทรวงก็ต้องไปหาวิธีว่าจะจัดการกับโฉนดใบนี้อย่างไร ส่วนตัว พ.ต.ท.ประวุธ ได้เข้ามาช่วยชาวเลราไวย์ ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นรองอธิบดี DSI ทั้งตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอกระดูกบรรพบุรุษ การทำผังตระกูลเชื่อมโยงกับครูหมอ และทะเบียนการเข้าเรียนของเด็กนักเรียนชาวเล ที่โรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ หรือการตรวจพิสูจน์ด้วยการนับอายุต้นมะพร้าว ซึ่งมีมาก่อนที่เจ้าของโฉนดอ้างว่าเข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินด้วยการปลูกมะพร้าว หรือการอ่านแปรภาพถ่ายทางอากาศ และภาพเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาที่หมู่บ้านชาวเลราไวย์ เมื่อ วันที่ 10 มี.ค.2502 ขณะนั้น มีบ้านเรือนชาวเล และมีต้นมะพร้าวเต็มพื้นที่ แต่เหตุผลการออกโฉนด ในปี 2508 โดยนำส.ค.1 มาออกเอกสารสิทธิ์ จึงมีเนื้อหาขัดแย้งกับภาพเสด็จพระราชดำเนิน ปี 2502
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงพื้นที่หาดราไวย์ ของปลัดกระทรวงยุติธรรม วันนี้ มาพร้อมกับรองปลัดทั้ง 4 คน คือ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล, วัลลภ นาคบัว, สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ และ อรัญญา ทองน้ำตะโก เป็นครั้งแรกที่ผู้บริหารกระทรวงลงมารับฟังปัญหาของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีรักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล, รองอธิบดีกรมสอสวนคดิพิเศษ DSI ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล มีรายงานว่า การใช้เงินเยียวทางทางแพ่ง คือการให้ความช่วยเหลือกับประชาชนที่ขาดสิทธิ์ในที่ดิน ที่นำไปจำนองหรือขายฝากกับนายทุน ทำให้ประชาชนสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินทำกินของตนเอง เช่นเดียวกันกับกรณีที่ดินของชาวเลราไวย์ ปัจจุบันมีประชากรจำนวน 250 ครอบครัว จำนวนกว่า 2,000 คนที่ต้องอาศัยในพื้นที่จำกัด ที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ จนต้องขยายออกไปนอนชายทะเล การเวนคืนที่ดิน จากเจ้าของที่ดินที่มีข้อพิพาทกับชาวเล ยินดีจะขายให้รัฐ ในราคาเวนคืน ซึ่งเป็นทางออกที่ทั้งเจ้าของที่ดินและชาวเลราไวย์ ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย