แฉปมงานก่อสร้างศาลอุทธรณ์ภาค1 วงเงิน 393.1 ล้าน ชำรุดเพียบ 600 รายการ ประเดิมซ่อมแซมมาตั้งแต่เริ่มเปิดใช้ - คาดปัญหาผลพ่วงรีบส่งมอบ-เร่งตรวจรับให้จบๆ แล้วค่อยมาแก้ไขกันทีหลัง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีงานก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 1 วงเงินกว่า 393.1 ล้านบาท ของสำนักงานศาลยุติธรรม เกิดปัญหางานจ้างชำรุดบกพร่องกว่า 600 รายการ หลังตรวจรับงานได้ไม่นานนัก ส่งผลทำให้ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องทำหนังสือถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งให้เข้ามาทำการตรวจสอบกระบวนการตรวจจ้างและรับมอบงานพร้อมหาตัวผู้รับผิดชอบโดยด่วน
- ชำรุดเพียบ 600 รายการ! ปธ.ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แจ้ง สตง.สอบงานก่อสร้างอาคารที่ทำการ 393 ล. (1)
- มีร้องเรียนจริง! สตง.ลุยตรวจงานสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชำรุด 600 รายการแล้ว (2)
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในสำนักอำนวยการประจำศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า ที่ผ่านมา สตง. ได้เข้ามาทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้แล้ว
ส่วนปัญหางานจ้างชำรุดบกพร่องกว่า 600 รายการ ของงานก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 1 นั้น เท่าที่ทราบภายหลังจากที่ บุคลากรของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เข้ามาใช้อาคาร พบว่า ตอนที่ศาลเริ่มเปิดใช้อาคารยังมีหน่วยงานช่างของผู้รับจ้างประจำอยู่ในอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องของอาคารตลอดมา
ต่อมาหลังจากที่มีการตรวจรับงานงวดสุดท้ายเพียง 3 เดือน ก็มีหนังสือของศาลอุทธรณ์ภาค 1 รวบรวมรายการความชำรุดบกพร่องแจ้งให้ทางผู้รับจ้างเข้าซ่อมแซมมากถึง 62 รายการ และหลังจากนั้นก็ยังมีหนังสือของศาลอุทธรณ์ภาค 1 แจ้งรายการความชำรุดบกพร่องเพิ่มเติมอีก 13 ครั้ง รวมรายการความชำรุดบกพร่องทั้งสิ้นมากถึง 600 กว่ารายการ
ขณะที่การทำงานไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชา อาทิ น้ำฝนสาดซึมเข้าอาคารรอบทิศ ที่จากการตรวจสอบพบว่า แผงกระจกรอบอาคารในส่วนของหน้าต่าง บานกระทุ้งมีการใช้อุปกรณ์ไม่เหมาะสม ติดตั้งบานพับไม่ตรงตามรูปแบบรายการ ซึ่งปัญหาทั้งหมด ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อบุคลากรภายใน
แหล่งข่าวระบุว่า พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่ามีกระบวนการเร่งส่งมอบงานและตรวจรับงานก่อสร้างทั้งหมดให้เสร็จสิ้นไปก่อน แล้วมาดำเนินการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดบกพร่องกันภายหลัง โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการที่จะแก้ไข ให้เป็นไปตามรูปแบบรายการ
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการติดตั้งบานพับหน้าต่างไม่ตรงตามรูปแบบรายการทั้งอาคาร หากผู้รับจ้างไม่มั่นใจว่าจะผ่านการตรวจรับของคณะกรรมการตรวจการจ้าง คงไม่กล้าที่จะดำเนินการเช่นนี้ เพราะเสี่ยงต่อการที่จะต้องรื้อถอนทำใหม่ทั้งอาคารและประสบปัญหาการขาดทุน
"กรณีนี้จึงน่าเชื่อว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายในโครงการนี้ ทางประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ สตง. ให้เข้ามาทำการตรวจสอบกระบวนการตรวจจ้างและรับมอบงานพร้อมหาตัวผู้รับผิดชอบดังกล่าว" แหล่งข่าวระบุ