สื่อนอกเปิดโปงขบวนการขโมยรถในมาเลเซีย พบลงทุนง่ายแค่เช่ารถมา ถอดจีพีเอส แล้วนำไปขาย รถส่วนมากถูกข้ามมาขายที่ประเทศไทย ราคาประมาณไม่เกิน 6 แสน ชี้ตำรวจไม่เคยนำคดีเข้าระบบ เพราะอ้างเป็นเรื่องผิดสัญญา เลยทำให้รถไม่ถูกแบล็กลิสต์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การขโมยรถในประเทศมาเลเซียที่มีการเชื่อมโยงกับประเทศไทยว่า มีรายงานข่าวจากสำนักข่าว Strait Times ที่อ้างอิงสำนักข่าว The Star ของมาเลเซียอีกทีหนึ่งระบุเกี่ยวกับขบวนการขโมยรถในประเทศมาเลเซีย
โดยขบวนการขโมยรถนั้นจะมีการเช่ารถจากเหยื่อซึ่งโดยมากแล้วเป็นบริษัทให้เช่ารถหรู รถที่ติดตั้งระบบจีพีเอสต่างๆ ซึ่งเมื่อเช่ามาแล้ว ขบวนการขโมยรถก็จะหาทางปิดระบบจีพีเอส แล้วหลังจากนั้นก็จะมีการนำรถคันดังกล่าวไปขาย ซึ่งพบว่ามีบางส่วนนั้นถูกขายในประเทศมาเลเซีย แต่รถส่วนมากที่ถูกขโมยมาแล้วมักจะถูกนำเข้ามาในประเทศไทย เพื่อที่จะขายทั้งในแบบที่แยกชิ้นส่วนแล้ว และขายทั้งคันเป็นต้น
โดยการทำข่าวของ The Star เป็นระยะเวลาหลายเดือนพบว่ามูลค่ารถที่ถูกขโมยแล้วนำไปขายนั้นจะอยู่ที่ระหว่าง 3,000 ริงกิตไปถึง 70,000 ริงกิต (22,970 บาท-535,837 บาท) ขึ้งอยู่กับชนิดและยี่ห้อของรถ ซึ่งยี่ห้อของรถตกเป็นเป้าหมายของการนำไปขายนั้นมีได้แก่รถยี่ห้อโตโยต้า เวลไฟร์, ฟอร์ด เรนเจอร์, โตโยต้า ไฮลักซ์, โปรตอน วีร่า และ เปโรดัว ไมวี
ขณะที่เหยื่อจำนวนมากที่เป็นบริษัทผู้ให้บริการรถนั้นบอกว่าคดีของพวกเขาส่วนมากแล้วไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรม และพวกเขามักจะได้รับคำแนะนำให้ดำเนินคดีกับผู้เช่ารถ ในข้อหา “ละเมิดสัญญา” แทน นี่จึงเป็นเหตุทำให้ผู้ที่ขโมยรถนั้นสามารถขับรถไปได้อย่างอิสระและนำรถไปขายให้ได้โดยง่าย เพราะว่ารถเหล่านี้ไม่ได้ถูกขึ้นบัญชีดำว่าถูกขโมย
โดยหลังจากที่มีการขโมยรถเช่าแล้ว ถ้าหากบริษัทผู้เป็นเหยื่ออยากจะได้รถคืน กลุ่มอาชญากรก็จะเรียกเงินจากเหยื่อประมาณ 5,000 ริงกิต ถึง 10,000 ริงกิต (38,224 บาท- 76,449 บาท) ซึ่งถ้าเหยื่อไม่ยอมจ่าย พวกเขาก็จะไม่ได้รถคืนอีกเลย
สำหรับการขายรถดังกล่าวในประเทศมาเลเซียก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด เพราะผู้ขายนั้นมักจะขายผ่านโซเชียลมีเดีย ที่สามารถอำพรางตัวตนที่แท้จริงของตัวเองได้ และจะอ้างว่ารถที่พวกเขากำลังขายนั้นเป็นยานพาหนะที่ผิดนัดชำระหนี้
เรียบเรียงจาก:https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/rent-run-and-sell-how-car-theft-syndicates-in-malaysia-evade-laws