โฆษก ทร.-กรมอู่ทหารเรือแจงข้อวิจารณ์แผ่นเหล็กใต้แนวน้ำเรือหลวงสุโขทัยบางกว่ากำหนดไม่เป็นความจริง ยันกระบวนการซ่อมเรือมีการวัดความหนาเหล็กเมื่อปี 61 หลังเข้าซ่อมที่อู่มหิดลอดุลยเดช ชี้ที่ผ่านมาเคยปฏิบัติราชการหลายครั้งแล้วไม่มีปัญหา ยันอู่ ทร.มีศักยภาพซ่อมเรือ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 66 พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า ตามที่มีสื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์การซ่อมบำรุงเรือหลวงสุโขทัย โดยระบุว่าแผ่นเหล็กที่ใช้ซ่อมบำรุง ”เรือหลวงสุโขทัย” ในปี 2561 เคยมีปัญหา ไม่ผ่านมาตรฐานกองควบคุมคุณภาพการต่อเรือ เพราะพบว่าแผ่นเหล็กตัวเรือใต้แนวน้ำบางกว่าที่กำหนดนั้น จากการตรวจสอบกับกรมอู่ทหารเรือพบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
"กองทัพเรือจะบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ ให้สามารถดำรงอำนาจกำลังรบในการรักษาอธิปไตยและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง ส่วนข้อมูลที่มีการนำเสนอผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้น หลายความเห็นอยู่บนพื้นฐานของการมีข้อมูลที่จำกัด และไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน หรือบางครั้งมีการนำความเห็นจากแหล่งข่าวที่ไม่ปรากฏมานำเสนอ ประเด็นเหล่านี้อาจสร้างความสับสนให้กับสังคมทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง" พล.ร.อ.ปกครองกล่าว
ขณะที่พล.ร.ท. สุทธิศักดิ์ บุตรนาค เจ้ากรมอู่ทหารเรือ ให้ข้อมูลว่า ข้อมูลที่มีการนำเสนอเป็นข้อมูลการวัดความหนาแผ่นเหล็กตัวเรือของเรือหลวงสุโขทัย การซ่อมทำตามวงรอบที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ เมื่อ 12 ก.ค. ถึง 3 ก.ย. 2561 โดยกองควบคุมคุณภาพ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช ได้ทำการวัดความหนา เมื่อ 23 - 24 ก.ค. 2561 เพื่อให้ทราบสภาพแผ่นเหล็กตัวเรือทั้งหมดตลอดลำ ซึ่งจะมีแผ่นเหล็กบางจุดมีความหนาน้อยลงจากเดิมเกิน 25% จำนวน 13 จุด ซึ่งเป็นข้อมูลจริงตามที่มีการนำเสนอในสื่อสังคมออนไลน์ แต่ยังไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะขาดข้อมูลการซ่อมทำของอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช
เจ้ากรมอู่ทหารเรือ กล่าวต่ออีกว่า กระบวนการซ่อมเรือหลวงสุโขทัย ของอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช มีขั้นตอนตั้งแต่การนำเรือเข้าอู่แห้ง ฉีดน้ำทำความสะอาดสิ่งสกปรก และพ่นทรายเพื่อลอกเพรียงและสีของตัวเรือใต้แนวน้ำ จากนั้นจะทำการสำรวจอุปกรณ์ใต้น้ำต่าง ๆ เช่น โดมโซนาร์ ตรวจสอบวัดระยะเบียดของแบริ่งรองรับเพลา ตรวจสอบระบบใบจักร ตรวจวัดความหนาของแผ่นเหล็กตัวเรือใต้แนวน้ำและเหนือแนวน้ำ
"หากความหนาลดลงกว่า 25% ของความหนาแผ่นเหล็กเดิม ที่เกิดจากการผุกร่อนตามระยะเวลา ก็จะทำการตัดเปลี่ยนแผ่นเหล็กตัวเรือที่มีการชำรุด โดยการตัดเปลี่ยนบรรจุแผ่นเหล็กใหม่ด้วยแผ่นเหล็กทนแรงดึงคุณภาพสูง High Tensile ซึ่งเมื่อทำการตัดเปลี่ยนแผ่นเหล็กเสร็จแล้วจึงจะเข้าสู่กระบวนการทำสีตัวเรือใต้แนวน้ำตามมาตรฐาน เพื่อป้องกันการผุกร่อนของตัวเรือ ป้องกันเพรียง ขณะเดียวกันจะมีงานที่ไม่สามารถซ่อมทำขณะเรือลอยอยู่ในน้ำได้ เช่น การตรวจสอบและซ่อมทำลิ้นน้ำที่อยู่ใต้แนวน้ำทั้งหมด รวมถึงการติดสังกะสีกันกร่อน" พล.ร.ท. สุทธิศักดิ์กล่าว
เจ้ากรมอู่ทหารเรือกล่าวต่ออีกว่าเมื่อซ่อมทำตัวเรือใต้แนวน้ำเสร็จเรียบร้อย จึงจะนำเรือออกจากอู่แห้ง และทำการสูบน้ำเข้าอู่แห้งให้เรือลอยพ้นหมอนรองรับเรือ เพื่อตรวจสอบการรั่วของตัวเรือ และงานใต้แนวน้ำที่ซ่อมทำ โดยหากพบการรั่วของน้ำเข้าตัวเรือ จะทำการแก้ไข แต่หากแก้ไขไม่ได้ จำเป็นต้องนำเรือนั่งหมอนในอู่แห้งใหม่
"ทั้งนี้หลังการซ่อมทำแล้วได้มีการตรวจสอบแนวเชื่อมด้วย Visual Check และ Vacuum Test ตามมาตรฐานคุณภาพของกรมอู่ทหารเรือ ก่อนการทดลองเรือในทะเลจริง เพื่อส่งมอบให้กับกองเรือยุทธการ เมื่อ 28 ม.ค. 2564 ซึ่งที่ผ่านมา เรือหลวงสุโขทัย ได้มีการออกปฏิบัติราชการหลายครั้ง และสามารถปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย จึงขอยืนยันว่า กรมอู่ทหารเรือเป็นหน่วยงานที่มีมาตรฐานและความเชี่ยวชาญการซ่อมและสร้างเรือของกองทัพเรือมามากมาย"เจ้ากรมอู่ทหารเรือกล่าวทิ้งท้าย