ศาลปกครองระยองมีคำพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่ประชาชนลุ่มน้ำบางประกง ฟ้องคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนป้องกันริมตลิ่ง และการตั้งโรงงานบริเวณริมแม่น้ำบางปะกง ชี้ที่ตั้งเหมาะสมแล้ว ส่วนเขื่อนไม่ใช่ท่าเทียบเรือจึงไม่ต้องทำ EIA
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ศาลปกครองระยองมีคำพิพากษายกฟ้อง ในคดีหมายเลขดำที่ ส.2/2560 ระหว่าง สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน ที่ 1 กับพวกรวม 9 ราย ผู้ฟ้องคดี กับ บริษัท อิสเทริ์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 5 ราย ผู้ร้องสอด และกรมเจ้าท่า ที่ 1 อธิบดีกรมเจ้าท่า ที่ 2 ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา ที่ 3 นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสนามจันทร์ ที่ 4 และอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ 5 ผู้ถูกฟ้องคดี
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนภายในจังหวัดฉะเชิงเทรา และผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นประชาชนลุ่มน้ำบางปะกง ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ในการดูแลการขออนุญาตการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ปล่อยให้ผู้ร้องสอดทั้งห้าปลูกสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อใช้เป็นท่าเทียบเรือล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ประเภทโครงการท่าเทียบเรือ เพื่อประกอบการยื่นขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำดังกล่าว ตามกฎหมายการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารประเภทเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร รวม 10 ฉบับ และต่ออายุใบอนุญาตดังกล่าวอีก 3 ครั้ง ให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการจัดทำ EIA สำหรับโครงการท่าเทียบเรือดังกล่าว และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสำหรับกิจการเก็บรักษาพืช เมล็ดพืช หรือผลิตผลจากพืชในโกดังให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 รวม 7 ฉบับ โดยขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยโรงงาน จึงนำคดีมาฟ้องศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการระงับการก่อสร้างและใช้เขื่อนป้องกันตลิ่งดังกล่าว ตลอดจนดูแลให้มีการขอใบอนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและจัดทำ EIA ให้ครบถ้วน และให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารประเภทเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กและใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทุกฉบับ
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ไม่ควบคุมดูแลปล่อยให้มีการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ นั้น เมื่อพิจารณาคำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำประกอบแผนที่สังเขปแนบท้ายหนังสืออนุญาตแล้ว เห็นว่า ผู้ร้องสอดทั้งห้าประสงค์ก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อป้องกันตลิ่งในแนวเขตกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนไม่ให้พังทลาย โดยมิได้มีส่วนใดล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำบางปะกง การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งของผู้ร้องสอดทั้งห้าจึงมิได้เป็นสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ตามมาตรา 117 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ผู้ร้องสอดทั้งห้าจึงไม่ต้องขออนุญาตตามกฎกระทรวงดังกล่าว และตามรูปแบบการก่อสร้างส่วนกำแพงกันดินที่ใช้เป็นสันเขื่อนป้องกันตลิ่งมีความกว้างเพียง 1.45 เมตร เท่านั้น ส่วนถัดจากกำแพงกันดินที่กว้าง 19.55 เมตร มีลักษณะเป็นพื้นคอนกรีตเพื่อใช้ประโยชน์ทั่วไป เขื่อนป้องกันตลิ่งดังกล่าวจึงไม่ใช่ท่าเทียบเรือหรือส่วนหนึ่งของท่าเทียบเรือ แม้จะมีการขออนุญาตขุดลอกร่องน้ำทางเดินเรือริมแม่น้ำบางปะกง และผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำได้ออกหนังสือรับรองการตรวจสภาพท่าเทียบเรือ ระบุว่า เป็นการตรวจสอบเขื่อนป้องกันตลิ่งซึ่งมีความประสงค์ขอใช้เทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ก็ไม่มีผลทำให้เขื่อนป้องกันตลิ่งดังกล่าวกลายเป็นท่าเทียบเรือไปได้ ผู้ร้องสอดทั้งห้าจึงไม่ต้องจัดทำ EIA ประกอบการขออนุญาตก่อสร้าง ดังนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด
กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ออกใบอนุญาตก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อป้องกันตลิ่ง รวม 10 ฉบับ และต่ออายุใบอนุญาตดังกล่าวอีก 3 ครั้ง นั้น เห็นว่า เนื่องจากเป็นการขออนุญาตก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในแนวเขตกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งอยู่ในเขตความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลสนามจันทร์และเขื่อนป้องกันตลิ่งดังกล่าวไม่ใช่ท่าเทียบเรือ จึงไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนออกใบอนุญาตดังกล่าวการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ออกใบอนุญาตก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งทั้ง 10 ฉบับ และการต่ออายุใบอนุญาตดังกล่าวอีก 3 ครั้ง จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสำหรับกิจการเก็บรักษาพืช เมล็ดพืช หรือผลิตผลจากพืชในโกดัง รวม 7 ฉบับ ให้ผู้ร้องสอดที่ 1 นั้น แยกพิจารณาดังนี้ กรณีกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง เห็นว่า ที่ดินที่ตั้งโรงงานตามใบอนุญาตดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวประเภทชนบทและเกษตรกรรมตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนสุวินทวงศ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. 2558 ซึ่งข้อ 11 วรรคสอง (1) ของกฎกระทรวงดังกล่าว ห้ามมิให้ใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทดังกล่าวเพื่อก่อสร้างโรงงานทุกจำพวกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานตามประเภท ชนิด และจำพวกที่กำหนดให้ดำเนินการได้ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงนี้ ที่อยู่ห่างจากริมแม่น้ำบางปะกงไม่น้อยกว่า 500 เมตร ซึ่งโรงงานของผู้ร้องสอดที่ 1 อยู่ในประเภทโรงงานที่สามารถตั้งและประกอบกิจการในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมได้ ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงดังกล่าว แต่อยู่ในระยะ 500 เมตร จากริมแม่น้ำบางปะกง ซึ่งขัดต่อข้อ 11 วรรคสอง (1) ของกฎกระทรวงข้างต้น แต่เมื่อมาตรา 27 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ที่มีผลใช้บังคับขณะมีการตรากฎกระทรวงดังกล่าว บัญญัติมิให้นำข้อกำหนดของผังเมืองรวมมาใช้บังคับแก่กรณีที่มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินมาก่อนที่จะมีกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม
โดยผู้ร้องสอดที่ 1 ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสถานที่เก็บสินค้า โกดัง และโรงงาน ในปี พ.ศ. 2555 จึงเป็นการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อดำเนินกิจการเก็บรักษาพืช เมล็ดพืช หรือผลิตผลจากพืชในโกดังก่อนที่กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนสุวินทวงศ์ฯ มีผลใช้บังคับ การพิจารณาอนุญาตให้ผู้ร้องสอดที่ 1 ประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขของข้อ 11 วรรคสอง (1) ของกฎกระทรวงข้างต้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสำหรับกิจการเก็บรักษาพืช เมล็ดพืช หรือผลิตผลจากพืชในโกดัง รวม 7 ฉบับ ให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 จึงเป็นการออกใบอนุญาตตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท และกรณีกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เห็นว่า โดยข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 กำหนดห้ามมิให้ตั้งโรงงานจำพวกที่ 3 ในบริเวณที่กำหนดไว้ในข้อ 2 ได้แก่ บ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัย อาคารชุดพักอาศัย และบ้านแถวเพื่อการพักอาศัย และห้ามตั้งภายในระยะ 100 เมตร จากเขตติดต่อของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา วัดหรือศาสนสถาน โรงพยาบาล โบราณสถาน สถานที่ทำการงานของหน่วยงานของรัฐ และแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และต้องตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมด้วย
เมื่อโรงงานของผู้ร้องสอดที่ 1 ซึ่งเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้ในข้อ 2 ของกฎกระทรวงดังกล่าว ประกอบกับโรงงานเป็นอาคารปิดทึบไม่มีส่วนให้เกิดผลกระทบต่อบริเวณใกล้เคียง และมีพื้นที่ประกอบกิจการโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุรำคาญ หรือความเสียหายต่อบุคคล โรงงานของผู้ร้องสอดที่ 1 จึงตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแล้ว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทั้ง 7 ฉบับ ให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 จึงไม่ขัดต่อข้อ 4 ของกฎกระทรวงดังกล่าว
ศาลปกครองระยองจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง