สธ.เผยโควิดมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ช่วงปีใหม่ประชาชนใช้ชีวิตได้ปกติ คาดปี 66 ระบาดตามฤดูกาล ย้ำต้องรับวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม ยันมียา-เตียงมีเพียงพอรองรับ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์ กรณีโรคโควิด-19 ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศ ในสัปดาห์ที่ 51 (18-24 ธ.ค. 2565) มีผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล 2,900 ราย เฉลี่ย 414 รายต่อวัน
แนวโน้มผู้ป่วยลดลงต่อเนื่องมา 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยปอดอักเสบมี 621 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 413 ราย และผู้เสียชีวิต 89 ราย เฉลี่ย 12 รายต่อวัน แนวโน้มยังคงตัว ที่สำคัญคือผู้เสียชีวิตยังคงเป็นกลุ่ม 608 เกือบ 100% ปัจจัยหลักมาจากการไม่ได้รับวัคซีน ได้รับวัคซีนไม่ครบ ไม่ได้รับเข็มกระตุ้น หรือได้รับเข็มกระตุ้นมานานเกิน 3 เดือน ทั้งนี้ สถานการณ์ภาพรวมพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง ขณะที่จังหวัดรองมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อคงตัว
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ที่จะมีกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมากนั้น ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ย้ำมาตรการ ได้แก่
1.การฉีดวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม โดยจะเพิ่มสถานที่ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว
2.การรักษาได้ทันเวลา โดยผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับมาแล้วเกิน 6 เดือน จะพิจารณาให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) ในกลุ่มเสี่ยงก่อนมีอาการป่วย
3.ผู้ที่ไปสถานที่เสี่ยง กิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมากในช่วง 5 วัน ให้งดใกล้ชิดผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับนานเกิน 6 เดือน
4.กลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับมานานเกิน 6 เดือน ขอให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร ดื่มสุราร่วมกับผู้อื่น หรือร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย
5.สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และขนส่งสาธารณะ
ทั้งนี้ จะมีการเฝ้าระวังโรคในสถานพยาบาลและสถานที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าปี 2566 จะพบการระบาดของโรคในลักษณะการระบาดตามฤดูกาลเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่
สำหรับยารักษาและเตียงรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล ข้อมูลวันที่ 25 ธ.ค. 2565 มียาฟาวิพิราเวียร์คงเหลือ 1.53 ล้านเม็ด ยาโมลนูพิราเวียร์ 17.62 ล้านเม็ด ส่วนอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 12.2% โดยเตียงระดับ 3 อัตราการครองเตียงอยู่ที่ 40.5% ถือว่ายังมีเพียงพอรองรับสถานการณ์
คิกออฟ! ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB 35 รพ.
ในวันเดียวกันนี้ นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังงานรณรงค์การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นและภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody หรือ LAAB) ในกลุ่มเสี่ยงว่า กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานซึ่งมีภารกิจและพันธกิจในด้านการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรอย่างไร้รอยต่อ และการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบบูรณาการ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้บุคคลทั่วไป รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีน LAAB ให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงซึ่งอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์
สำหรับข้อบ่งใช้ของ LAAB นั้น ช่วงระยะแรกเน้นกลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จากนั้นได้มีการทบทวนให้ขยายไปใช้กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งกลุ่มที่ได้รับยารักษาที่กดภูมิคุ้มกัน เช่น มะเร็ง HIV เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น รวมถึงผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ได้รับวัคซีนนานเกิน 6 เดือน โดยวันนี้โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ 35 แห่งได้มีการรณรงค์ให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามารับบริการ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ ผู้สนใจสามารถสอบถามแพทย์ประจำตัว หรือลงทะเบียนผ่าน โรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อเข้ารับการบริการ
นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบเริ่มชะลอตัวลง ยังจะพบการระบาดในลักษณะ Small Wave โดยกลุ่มที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดเป็น กลุ่ม 608 (ร้อยละ 95) ทั้งหมดเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนเลย หรือไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือได้รับเข็มกระตุ้นนานเกิน 3 เดือน ดังนั้นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบางจึงมีความสำคัญ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้จะตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป
การฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ LAAB จะทำให้ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 ได้สูงทันทีภายหลังฉีด ทำให้เกิดประโยชน์อย่างมากในการลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยนี้ ในกลุ่มที่ฉีดไปแล้วพบผลข้างเคียงน้อยมาก แต่ประสิทธิภาพพบสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ถึง 80% ในระยะ 6 เดือน ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดเตรียม LAAB ไว้เพียงพอสำหรับให้บริการกลุ่มเป้าหมาย
ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเสริมว่า โรงพยาบาลราชวิถีได้ให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบางเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยหนักและเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด-19 วันนี้จึงได้มีการรณรงค์ให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ให้เข้ามารับบริการการฉีด LAAB โดยได้มีกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายโดยผู้เชี่ยวชาญ เร่งสื่อสารให้แพทย์ที่รักษาผู้ป่วยช่วยประชาสัมพันธ์ให้รับรู้ และใช้กลยุทธ์เชิงรุกเชิญชวนในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคไต โรคมะเร็ง โรคปอดโรคหัวใจ หรือกินยากดภูมิต้านทาน ที่อยู่ระหว่างรอรับบริการรักษาตามหอผู้ป่วยต่างๆ ให้เข้ารับการฉีด LAAB เพื่อช่วยลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น