‘ศาลปกครองกลาง’ พิพากษายกฟ้อง คดี ‘สมาคมฯพิทักษ์รัฐธรรมนูญ-ผู้ประกอบการ’ ฟ้อง ‘เทศบาลนครอยุธยา-พวก’ รื้อย้าย ‘แผงค้า’ บริเวณวิหารพระมงคลบพิตร ชี้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย-ไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ
.....................................
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และผู้ประกอบการแผงค้าบริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตร ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีมีการจัดระเบียบพื้นที่ร้านค้าบริเวณวิหารพระมงคลบพิตรและพื้นที่มรดกโลกอยุธยา โดยเข้ารื้อถอนแผงค้าของกลุ่มผู้ฟ้องคดีทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการค้าขายในพื้นที่ดังกล่าวได้อีกต่อไป
“คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 3 ผู้ฟ้องคดีที่ 5 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 9 ผู้ฟ้องคดีที่ 11 ผู้ฟ้องคดีที่ 12 ผู้ฟ้องคดีที่ 14 ผู้ฟ้องคดีที่ 15 ผู้ฟ้องคดีที่ 17 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 22 ผู้ฟ้องคดีที่ 25 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 42 เป็นผู้ประกอบการค้าบริเวณวิหารพระมงคลบพิตรอันเป็นบริเวณโบราณสถานที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาการพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา) ได้มีประกาศแจ้งให้ผู้ประกอบการค้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายสัมภาระออกจากพื้นที่หรือย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการจัดไว้ให้
ซึ่งเมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานรวมทั้งเอกสารในสำนวนคดีแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา นั้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2518 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้มีการปรับปรุงเขตที่จะบูรณะบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์และพัฒนาเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (กรมศิลปากร) โดยอธิบดีกรมศิลปากร จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ออกประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ลงวันที่ 29 ก.ค.2519 โดยกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พื้นที่ประมาณ 1,810 ไร่ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2519
ต่อมา เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2536 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแผนแม่บทนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 โดยอธิบดีกรมศิลปากร ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ออกประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเพิ่มเติม ลงวันที่ 13 ม.ค.2540
โดยกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพิ่มเติม พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2540 ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 โดยอธิบดีกรมศิลปากรได้พิจารณาใช้อำนาจหน้าที่ในการกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานได้ตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ ทั้งยังได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยถูกต้องตามวิธีการที่กฎหมายได้บัญญัติในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2514 แล้ว
จากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (กรมศิลปากร) ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารศาลาทรงไทย เพื่อจัดระเบียบพื้นที่ร้านค้าบริเวณวิหารพระมงคลบพิตร จำนวน 148 ร้านค้า ตามที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาโบราณสถาน และเมื่อดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่แล้วเสร็จ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ได้มีหนังสือ ที่ ศธ 0708.10/6225 ลงวันที่ 12 ต.ค.2544 และหนังสือ ที่ ศธ 0708.10/6226 ลงวันที่ 12 ต.ค.2544 ส่งมอบพื้นที่บริเวณวิหารพระมงคลบพิตรให้แก่มูลนิธิพระมงคลบพิตรและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา) เป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการ
ต่อมา ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพบว่า กลุ่มผู้ค้ามีการบุกรุกพื้นที่บริเวณอุทยานนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเพิ่มมากขึ้น จึงพยายามแก้ไขปัญหา โดยการผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการค้าเข้ามาทำการค้าขายในพื้นที่โบราณสถาน จนกระทั่งกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (กรมศิลปากร) ดำเนินการตามมติคณะกรรมการมรดกโลก
พร้อมทั้งให้จัดทำรายงานสถานภาพการอนุรักษ์นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เพื่อที่จะได้จัดส่งให้ศูนย์มรดกโลกต่อไป ประกอบกับคณะกรรมการอำนวยการและควบคุมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้แต่งตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามแผนแม่บทนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับทราบถึงปัญหาการจัดระเบียบพื้นที่ร้านค้าบริเวณวิหารพระมงคลบพิตรและพื้นที่มรดกโลกอยุธยา ตลอดจนอุปสรรคในการดำเนินงานตามแผนแม่บทดังกล่าว
จึงมีคำสั่งที่ 3/2559 ลงวันที่ 29 มิ.ย.2559 แต่งตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาการพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา) ให้มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญในการกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ของวิหารพระมงคลบพิตรและบริเวณโดยรอบ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้เชิญผู้แทนประกอบการค้ามาร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นด้วยในบางครั้ง
รวมทั้งได้มีหนังสือลงวันที่ 1 ก.ย.2559 รายงานแผนงานการจัดระเบียบร้านค้าออกจากบริเวณวิหารพระมงคลบพิตรเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการและควบคุมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
ต่อมา ที่ประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ได้มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่บริเวณวิหารพระมงคลบพิตร โดยให้ย้ายร้านค้าออกจากพื้นที่บริเวณโดยรอบวิหารพระมงคลบพิตร (ยกเว้นร้านค้าทรงไทย) ไปอยู่บริเวณศูนย์บริการการท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลังเก่า) ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งใหม่ ที่รองรับการโยกย้ายตามแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา) จึงมีประกาศ เรื่อง การจัดระเบียบร้านค้าและการขึ้นบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการร้านค้าบริเวณวิหารพระมงคลบพิตร ลงวันที่ 1 ธ.ค.2559 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบค้ามาลงทะเบียนและย้ายร้านค้าไปยังพื้นที่รองรับแห่งใหม่แล้ว รวมทั้งแจ้งความประสงค์ขอเคลื่อนย้ายร้านค้าและเลือกล็อกร้านค้า หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้แจ้งยุติการอำนวยความสะดวกในเรื่องของไฟฟ้าและน้ำประปในบริเวณเต็นท์ร้านค้า (หลังวิหารพระมงคลบพิตร) รวมทั้งได้นำแท่งปูนแบริเออร์มาปิดกั้นเพื่อดำเนินการทำความสะอาด และเตรียมส่งมอบพื้นที่ให้แก่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ได้มีประกาศอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เรื่อง ให้ผู้ประกอบการค้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายสัมภาระออกจากโบราณสถาน ลงวันที่ 15 มี.ค.2560 แจ้งให้ผู้ประกอบการร้านค้าทั้งหมดที่ได้รับการผ่อนผันชั่วคราว (ยกเว้นร้านค้าทรงไทย) ซึ่งค้าขายอยู่บริเวณโบราณสถานวิหารพระมงคลบพิตรและพื้นที่โดยรอบ ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายสัมภาระออกจากพื้นที่หรือย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการจัดให้ในระหว่างวันที่ 15 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2560
ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (กรมศิลปากร) ได้มีประกาศกรมศิลปากร ลงวันที่ 27 มี.ค.2560 แจ้งให้ผู้ประกอบการค้าที่ยังไม่ได้ขนย้ายสัมภาระออกจากเขตโบราณสถานทราบว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 จะดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนและดำเนินการรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหก รวมถึงส่วนราชการต่างๆ ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ของวิหารพระมงคลบพิตร เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและสำเร็จลุล่วงโดยสมควรแก่พฤติการณ์แล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติแล้วว่า พื้นที่บริเวณวิหารพระมงคลบพิตรและพื้นที่โดยรอบ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ผู้ฟ้องคดีที่ 5 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 9 ผู้ฟ้องคดีที่ 11 ผู้ฟ้องคดีที่ 12 ผู้ฟ้องคดีที่ 14 ผู้ฟ้องคดีที่ 15 ผู้ฟ้องคดีที่ 17 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 22 ผู้ฟ้องคดีที่ 25 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 42 รับว่า ตนเป็นผู้ประกอบการค้าอยู่บริเวณวิหารพระมงคลบพิตรและพื้นที่โดยรอบที่ค้าขายอยู่บริเวณดังกล่าวมานานกว่า 60 ปี และไม่ใช่ผู้ประกอบการร้านค้าทรงไทย แต่เป็นผู้ประกอบการร้านค้าที่ได้รับการผ่อนผันชั่วคราว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาการพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา) ซึ่งถือว่า ได้รับมอบอำนาจจากคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดระเบียบพื้นที่ร้านค้าบริเวณวิหารพระมงคลบพิตรและพื้นที่มรดกโลกอยุธยา ประกอบกับเมื่อพิจารณาภาพถ่ายแผงค้าที่พิพาท ปรากฏว่ามีลักษณะเป็นร้านค้าหรือสิ่งที่สร้างขึ้นซึ่งบุคคลสามารถที่จะเข้าใช้สอยได้ อันเป็นอาคารตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
โดยมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารภายในเขตของโบราณสถานซึ่งอธิบดีได้ประกาศขึ้นทะเบียน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีนี้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างจากอธิบดีกรมศิลปากรแต่อย่างใด
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 โดยอธิบดีกรมศิลปากรมีประกาศกรมศิลปากร ลงวันที่ 27 มี.ค.2560 แจ้งให้ผู้ประกอบการค้าที่ยังไม่ได้ขนย้ายสัมภาระออกจากเขตโบราณสถาน และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา) ได้แจ้งยุติการอำนวยความสะดวกในเรื่องของไฟฟ้าและน้ำประปาในบริเวณเต็นท์ร้านค้า (หลังวิหารพระมงคลบพิตร) และได้มีการนำแท่งปูนแบริเออร์มาปิดกั้น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่ปรากฏว่า ได้กระทำการใดเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหก เกี่ยวกับการให้ผู้ประกอบการค้ารื้อแผงค้าร้านค้าบริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตร เพื่อไม่ให้มีการค้าขายในบริเวณดังกล่าว เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่ 3 ผู้ฟ้องคดีที่ 5 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 9 ผู้ฟ้องคดีที่ 11 ผู้ฟ้องคดีที่ 12 ผู้ฟ้องคดีที่ 14 ผู้ฟ้องคดีที่ 15 ผู้ฟ้องคดีที่ 17 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 22 ผู้ฟ้องคดีที่ 25 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 42 หรือไม่ และต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด
เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (กรมศิลปากร) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาการพัฒนานครนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา) เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา) ไม่ปรากฎว่าได้กระทำการใดเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
กรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ 3 ผู้ฟ้องคดีที่ 5 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 9 ผู้ฟ้องคดีที่ 11 ผู้ฟ้องคดีที่ 12 ผู้ฟ้องคดีที่ 14 ผู้ฟ้องคดีที่ 15 ผู้ฟ้องคดีที่ 17 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 22 ผู้ฟ้องคดีที่ 25 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 42 อ้างว่า มีกลุ่มร้านค้าศาลาทรงไทยที่ค้าขายอยู่ในบริเวณโบราณสถานเช่นกัน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกกลับใช้อำนาจไล่รื้อแผงค้าเฉพาะกลุ่มผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติโดยชัดแจ้งเพียงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มร้านทรงไทย และไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน นั้น
เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 3 ผู้ฟ้องคดีที่ 5 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 9 ผู้ฟ้องคดีที่ 11 ผู้ฟ้องคดีที่ 12 ผู้ฟ้องคดีที่ 14 ผู้ฟ้องคดีที่ 15 ผู้ฟ้องคดีที่ 17 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 22 ผู้ฟ้องคดีที่ 25 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 42 ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายสัมภาระออกจากพื้นที่เขตโบราณสถานเนื่องจากได้บุกรุกพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้มีการเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 หรือระงับการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกได้
กรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ 3 ผู้ฟ้องคดีที่ 5 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 9 ผู้ฟ้องคดีที่ 11 ผู้ฟ้องคดีที่ 12 ผู้ฟ้องคดีที่ 14 ผู้ฟ้องคดีที่ 15 ผู้ฟ้องคดีที่ 17 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 22 ผู้ฟ้องคดีที่ 25 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 42 อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีบางรายไม่มีสถานที่ที่เหมาะสมที่จะค้าขายสินค้า และแม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกจะจัดให้มีพื้นที่ค้าขายที่ตลาดกรุงศรีฯ แต่พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่รกร้างและเสื่อมโทรมไปแล้ว
เห็นว่าคดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหก ที่ให้ผู้ประกอบการค้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายสัมภาระออกจากโบราณสถาน ชอบด้วยกฎหมาย และกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ข้ออ้างดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นพิพาทในคดี จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ส่วนข้ออ้างอื่นๆไม่จำต้องวินิจฉัยเช่นกัน เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป พิพากษายกฟ้อง” คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 484/2560 คดีหมายเลขแดง 2622/2565 ลงวันที่ 26 ธ.ค.2565 ระบุ
สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีเข้ารื้อแผงค้าของผู้ฟ้องคดีทั้ง 42 คน บริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตร พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวางแห่งปูนหรือแห่งแบริเออร์เพื่อปิดกั้นทางเดินเข้า-ออกบริเวณดังกล่าว อีกทั้งเข้ารื้อถอนแผงไฟฟ้าและระบบจำหน่ายน้ำประปา ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เนื่องจากไม่สามารถประกอบกิจการค้าขายในบริเวณดังกล่าวได้อีกต่อไป