'หมอยง' ชี้โควิดระบาด ล็อกดาวน์ ต้องอยู่บ้าน งด OPD-ผ่าตัด ทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสในการดูแลรักษาโรคอื่นๆ จนเกิดผู้เสียชีวิตส่วนเกินขึ้น ทั่วโลกมีมากถึง 14.83 ล้านคน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2565 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสเฟสบุ๊ก Yong Poovorawan กล่าวถึง ข้อมูลการเสียชีวิตส่วนเกิน หรือการเสียชีวิตเนื่องจากการเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ลดน้อยลงในช่วงโควิดระบาด ว่า การระบาดของโรค covid19 ทำให้เกิดการสูญเสียโอกาส ในการดูแลรักษาโรคอื่นๆ
ทำให้โรคอื่นๆ เสียชีวิตเนื่องจากการเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ลดน้อยลง การที่ต้องอยู่บ้าน การล็อคดาวน์ รวมทั้งมีการงด OPD งดการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยหรือโรคบางโรค ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที เป็นเหตุให้เสียโอกาสและเสียชีวิต จึงมีการศึกษาถึงการเสียชีวิตส่วนเกิน จากช่วงโควิด-19 ระบาด เมื่อเปรียบเทียบกับภาวะปกติที่ไม่มีโรคระบาด
องค์การอนามัยโลกได้ประเมินการสูญเสียชีวิตส่วนเกิน ที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 เปรียบเทียบกับการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เป็นตัวเลขที่น่าสนใจ
การเสียชีวิตส่วนเกิน มีถึง 14.83 ล้านคน สูงกว่าการตายจากโควิด-19 ทั่วทั้งโลกถึง 2.7 เท่า การตายจากโรคโควิด-19 มีจำนวน 5.42 ล้านคน ในช่วงเวลาเดียวกัน
จากรูปที่รายงานโดยองค์การอนามัยโลก ประเทศไทยมีการประเมินการเสียชีวิตส่วนเกิน ในเวลาดังกล่าวที่มีการระบาดของโควิด-19 ในอัตราน้อยกว่า หลายประเทศในยุโรป และอเมริกา และยังน้อยกว่าการตายจากโควิด-19 แสดงให้เห็นความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขประเทศไทย และการวางแผนรับมือต่อโรคโควิด-19 ในภาพรวม
ระยะฟักตัวโควิดลดลง ทำให้ติดง่าย แต่ความรุนแรงลดลง
ก่อนหน้านี้ นพ.ยง ได้กล่าวถึงระยะฟักตัวของเชื้อโควิด-19 ที่สั้นลง ติดง่ายขึ้น ความรุนแรงของโรคลดลง ว่า ตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ระยะฟักตัวของโรคในระยะแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 วัน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ระยะฟักตัวสั้นลงมาโดยตลอด จนมาถึงสายพันธุ์ปัจจุบัน โอมิครอน มีระยะฟักตัวเฉลี่ย 3 วัน นับจากวันสัมผัสโรคจนถึงมีอาการ
เมื่อระยะฟักตัวสั้นลงทำให้ระบบภูมิต้านทานที่มีอยู่ เตรียมพร้อมไว้ที่จะกระตุ้นรับการจู่โจมเข้ามา ในการระดมออกมาต่อสู้ป้องกัน ทำไม่ทัน จึงทำให้ติดต่อกันง่ายขึ้น ในบางครั้งถึงแม้จะมีระดับภูมิต้านทานเกิดขึ้นสูงแล้ว ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ระดับภูมิต้านทานที่มีอยู่ ยังพอช่วยในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของตัวไวรัสได้ในระยะเวลาต่อมา จึงเป็นเหตุให้ความรุนแรงของโรคลดลง
ในภาพรวมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย มากกว่า 90% มีภูมิต้านทานต่อโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นจากการฉีดวัคซีน หรือโดยการติดเชื้อโดยธรรมชาติ ติดเชื้อแล้ว มากกว่า 70 % ทำให้ได้รับเชื้อแล้วถึงแม้ว่าจะติดโรคได้ อาการจะน้อยลง
และในอนาคตภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และขยับเข้าตรงสายพันธุ์มากขึ้นจากการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ความรุนแรงของโรคก็จะลดลงตามลำดับ และในที่สุดเราก็คงต้องอยู่กับไวรัสตัวนี้ตลอดไป