เจ้าสัว ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ห่วงขีดความสามารถการแข่งขันไทยลด ขณะที่ ‘FDI’ ต่างชาติเริ่มไม่มาแล้ว หวังไทยมีรัฐบาลที่มีความ ‘มั่นคง’ ช่วยดึงดูดการลงทุน ด้าน 'ซีอีโอปูนซิเมนต์ไทย’ หนุนภาครัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน 'GREEN'
........................................
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยภายในงาน 3 มุมมองของผู้บริหารองค์กร ในหัวข้อ ‘ความยั่งยืน 3 มุมมอง... SURVIVE or SUSTAIN’ ซึ่งจัดโดยสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ คือ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเริ่มหายไป และเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไม่ค่อยมาไทยแล้ว
“สิ่งหนึ่งที่ผมว่าเมืองไทยน่าเป็นห่วง คือ competitiveness (ความสามารถในการแข่งขัน) ของเรา เริ่มจะหายไป คือ เราเคยมี FDI (เงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมาแล้ว ถ้าจะมา ก็ไปเวียดนามก่อน ไปอินโดนีเซียก่อน อย่างอินโดนีเซียตอนนี้ Hot มาก Hot มากจริงๆ การเมืองมั่นคง ประธานาธิบดีก็อยู่ได้ มีระบบเลือกตั้งประชาธิปไตยมาจนเขาคิดว่าจะต่ออายุให้ โจโควี (โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย) อยู่ต่อไหม ไม่ควรให้หมดใน 10 ปี
อันนี้ ไม่แก้รัฐธรรมนูญเอง ประชาชนเรียกร้องมา แต่เขาก็ไม่ได้ทำ ซึ่งที่จะบอกคือ เงินในโลกนี้ มันไปเร็ว มี Hot money (เงินร้อน) กับ Money ที่จะไปลง เงินก็เลือกลงได้ แล้ว (เงินลงทุน) ก็ไปเวียดนามเป็นหลัก และเราจะเห็นว่า เมื่อเวียดนามเปิดประเทศมา ประธานาธิบดีอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นทรัมป์ เป็นไบเดน ไปหมด แต่ไม่เคยมาเมืองไทย เขาไปเพราะเรื่องธุรกิจ ญี่ปุ่นก็ไป ไทยก็ไป ก็แสดงว่าความน่าสนใจของเมืองไทยในการดึงดูด FDI มันน้อยลง
จึงต้องดูว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ไม่อย่างนั้นประเทศจะไม่มีอุตสาหกรรมที่แข็งแรงได้ต่อไป ซึ่งเรื่อง EV เป็นส่วนหนึ่ง แต่ในภาพรวม ผมคิดว่ามีผลกระทบค่อนข้างเยอะ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการศึกษา และสังเกตได้ว่าเวลาพูดถึงรายได้ประเทศ ไม่ค่อยมีการพูดถึง FDI แล้ว มันแสลงใจ เพราะไม่ได้มาจริง พูดถึงตัวเลข 10 ล้าน 20 ล้านคนของนักท่องเที่ยว ดังนั้น อันนี้ในระยะกลางและระยะยาว เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจมาก สำหรับคนที่จะเติบโตขึ้นมาในอนาคต” นายสารัชถ์ กล่าว
นายสารัชถ์ กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น แต่ไม่ใช่ว่าประเทศไทยไม่ดี หรือไม่น่าอยู่ โดยเมืองไทยยังคงมีอนาคตอยู่ เพียงแต่รัฐบาลต้องมีความมั่นคง หรือมี stability คือ รัฐบาลสามารถอยู่ได้ครบเทอม มีการเลือกตั้ง และไม่ว่าจะดีหรือจะเลว ก็ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบ
“รัฐบาลต้องมี stability (ความมั่นคง) เพราะถ้าไม่มี stability ก็จะทำให้การดึงดูดการลงทุน หรือการตัดสินใจต่างๆไม่ค่อยดี อย่างเวียดนาม ที่ปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ หรืออินโดนีเซียที่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม ทุกประเทศที่พูดถึงเขามี stability รัฐบาลเขาสามารถอยู่ได้ครบเทอม มีการเลือกตั้ง จะดีจะเลวก็เป็นไปตามระบบของมันไป ซึ่งผมคิดว่าเป็นจุดสำคัญ ส่วนเมืองไทยก็ยังน่าอยู่ เพราะอย่างไรเราก็อยู่เมืองไทย ก็พยายามทำธุรกิจในเมืองไทยให้ดีขึ้น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ได้สัมผัสหรือมองเห็น ผมเห็นว่า มันเริ่มกัดกร่อนในเรื่องความสามารถในการแข่งขันของเราขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างสมัยก่อน ปตท. เรียกว่าโชติช่วงชัชวาล แต่ตอนนี้แก๊สก็หมดแล้ว จะไม่มีเหลือแล้ว ไม่โชติช่วงแล้ว ทุกอย่างก็เหมือน ลูกมากยากจน หลายๆอย่างที่เคยเป็น motto ในอดีต ก็เปลี่ยนไป ซึ่งวันนี้ผมไม่รู้ว่าวันนี้รัฐบาลไทยมี motto อะไร แต่ผมคิดว่าเรายังไปได้ แต่มีสิ่งที่เรายังเป็นห่วงเป็นใยและอยากให้ดีขึ้นกว่าเดิม” นายสารัชถ์ กล่าว
นายสารัชถ์ กล่าวด้วยว่า “นอกจากนี้ การมีรัฐบาลที่มั่นคงแล้ว ถ้าระบบกฎหมายที่มีอยู่ อย่างที่เราเห็นการตัดสินต่างๆมาแล้ว ถ้ามันไม่รู้สึกฝืนใจประชาชน ฝืนความรู้สึกของคนไทยมากเกินไป คนก็อยู่ร่วมสังคมเดียวกันได้ ไม่เกิดความขัดแย้ง ไม่เกิดอะไรได้ ก็เป็นความหวังที่มีขึ้น พวกนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ”
ด้าน นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอายุของคนไทยก็เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของคนไทยลดลงนั้น เป็นสิ่งต้องมาร่วมกันคิดว่า จะทำอย่างไรให้ประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพน่าอยู่ รวมทั้งจะทำให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น และต้องเป็นการลงทุนที่ดึงดูดคนที่มีศักยภาพเข้ามาในประเทศไทย
“บ้านเราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า พวกเราแก่ลงทุกวัน แล้วลักษณะของการที่ประชากรอายุมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งจะเป็น exponential คือ จะ reverse (ย้อนกลับ) ยากมากเลย และถ้าลองไปถามพวกน้องๆว่า อยากมีลูกไหม เขาบอกว่าปัจจุบันแค่เอาตัวอยู่ไม่รอด อยู่ให้ได้ก่อน...เมื่อคนทำงานก็ไม่มี คนที่จะใช้เงินก็ไม่พอ เพราะเมื่อคนอายุมากแล้ว บางคนก็ไม่ค่อยใช้แล้ว และส่วนใหญ่จะต้องเอาไปดูแลในเรื่องค่ารักษาหรือเรื่องอะไรต่างๆ
ซึ่งเรื่องนี้ ผมคิดว่าแก้ไม่ง่าย จะเพิ่มจำนวนประชากร และเราอยากจะเพิ่มจำนวนประชากรที่ดีๆด้วย จะได้แข่งกับคนอื่นได้ เพราะมันเป็น generation lack (การขาดรุ่น) จะไปบอกให้ผมไปมีลูกใหม่ ไม่มีทางเลย ยากมาก ดังนั้น เรื่องหนึ่งที่บ้านเราต้องคิด คือ นอกจากความสามารถในการแข่งขันแล้ว ความสามารถในการแข่งขันคนของเราจะด้อยลงไป เนื่องจากค่าเฉลี่ยอายุคนของเราที่เยอะขึ้น เราจะต้องเจออย่างนี้ เห็นอยู่แล้วอีก 3 ปี 5 ปี ก็เท่านี้ ถ้าไม่ทำอะไร ก็อยู่ไม่ได้ ต้องทำให้กรุงเทพฯน่าอยู่ ทำให้มีการลงทุนมากขึ้น แต่จะลงทุนอย่างไรให้มีการดึงดูดคนให้เข้ามา” นายรุ่งโรจน์ กล่าว
นายรุ่งโรจน์ ยังกล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้ ตนเห็นว่าภาครัฐต้องมีบทบาทในการขับเคลื่อนการลงทุน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับเรื่อง GREEN (เศรษฐกิจสีเขียว) คือ จะทำอย่างไรให้สังคม กฎระเบียบ นโยบายการลงทุน และการกำกับดูแล รวมทั้งความน่าอยู่ของสังคม มีความเป็น GREEN ให้ได้ ซึ่งมีหลายประเทศ เช่น ในยุโรป และสหรัฐ มีการทำและมีการลองผิดลองถูกมามากแล้ว ซึ่งน่าจะสามารถปรับมาใช้ให้สอดคล้องกับประเทศไทยได้
“เราไม่มีเงินในกระเป๋ามาก ถ้าเราจะต้องลง ก็ลงในเรื่องเกี่ยวกับพวก GREEN จะเป็นประโยชน์ และถ้าจะลงในเรื่อง GREEN ที่ว่านั้น จะต้องประกอบด้วยกฎระเบียบที่ช่วยให้บริษัทฯมีแรงจูงใจในการลงทุนพวกนั้น ช่วยเรื่องการบริโภคของคน ให้คนอยากบริโภคของที่ไม่เป็น burden resources และเรื่องการจัดการของเสีย (waste management) ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่อง GREEN ไม่อย่างนั้นพังหมดแน่ คือ บ้านเราจะเป็นบ้านที่สกปรกที่สุด บ้านไม่น่าอยู่” นายรุ่งโรจน์ กล่าว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ประชากรของประเทศไทยลดลงต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี และเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว ต่างจากประชากรอินโดนีเซีย เวียดนาม ที่มีคนหนุ่มสาวและคนในวัยทำงานเป็นจำนวนมาก และถ้าไปดูก็จะพบว่าคนรุ่นใหม่ของไทยส่วนใหญ่ไม่อยากมีลูกแล้ว เพราะไม่อยากมีภาระ จึงไปเลี้ยงสุนัข เลี้ยงแมวแทน จึงทำให้ประชากรโดยรวมลดลง ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหา
โดยการสร้างความปลอดภัยให้ดีขึ้น การสร้างมาตรฐานและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น และการให้บริการสาธารณะสุขที่ครอบคลุม รวมทั้งภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแลคนที่มีลูกด้วย เพื่อให้คนกล้ามีลูกมากขึ้น หรืออย่างในแคนาดาที่จำนวนประชากรลดลง ก็แก้ปัญหาโดยการรับคนจากนอกประเทศเข้าไป ซึ่งตอนนี้ประชากร 20% ในแคนาดาเป็นคนต่างชาติที่อพยพเข้ามา แต่ถ้าจะให้เขามาก็ต้องยอมให้คนเหล่านี้มีสิทธิ์ในบ้านและที่อยู่อาศัย