กรมสอบสวนคดีพิเศษเปิดปฏิบัติการปราบโกง 'Electrical Shock' ทลายแหล่งขุดเงินดิจิทัลเลี่ยงภาษีในกรุงเทพฯ-นนทบุรี 41 จุด ยึดเครื่องขุดเงินดิจิทัลกว่า 2,000 ตัว มูลค่ารวมกว่า 400 ล้านบาท เผยทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละกว่า 500 ล้านบาท (มีคลิป)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 หน้าอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ/โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ เพื่อเปิดยุทธการปราบโกงสายฟ้าฟาด หรือปฏิบัติการ 'Electrical Shock' โดยมีพันตำรวจโท เฉลิมชนม์ อุณหเสรี รองผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ รักษาการผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ และนายชวภณ สินพูนภักดิ์ ผู้อำนวยการส่วนคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ 2 สนธิกำลังร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมศุลกากร การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดปฏิบัติการ 'Electrical Shock' เข้าตรวจค้นอาคารพาณิชย์ต้องสงสัยลักกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นจุดทำเหมืองขุดเงินดิจิทัล จำนวน 41 จุด ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานคร ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละกว่า 500 ล้านบาท
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคำร้องเรียน การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี มีการลักลอบตั้งเหมืองขุดเงินดิจิทัลโดยเฉพาะบิทคอยน์โดยผิดกฎหมาย มีการนำเครื่องมือที่ใช้ ในการขุดบิทคอยน์มาจากต่างประเทศ และมีการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้า ทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงมอบหมายให้กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศเป็นหน่วยงานรับผิดชอบสืบสวน โดยมีการประสานงานกับการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งกรมศุลกากร จนพบจุดต้องสงสัยมากกระจายตัวในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งการทำเหมืองขุดบิทคอยน์ดังกล่าวจะใช้กระแสไฟฟ้าปริมาณมากขนาดเทียบเท่ากับโรงงานอุตสาหกรรม แต่มีการลักลอบต่อไฟตรง โดยไม่ผ่านมิเตอร์วัดไฟ อันเป็นการลักกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา และอาจมีความผิดอาญาอื่นที่เกี่ยวข้องอีกหลายฐานความผิด
ซึ่งกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ได้ดำเนินการสืบสวนจนพบกลุ่มนายทุนที่มีพฤติการณ์จัดหาอาคารพาณิชย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกว่า 41 แห่ง เช่าไว้เพื่อใช้เป็นจุดวางเครื่องขุดเงินดิจิทัล โดยแต่ละอาคารจะวางเครื่องขุดเงินดิจิทัล จุดละประมาณ 100 เครื่อง มีการลักลอบต่อไฟตรงเข้าตัวอาคาร โดยไม่ผ่านมิเตอร์วัดไฟ ทำให้ เสียค่าไฟฟ้าต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก จากที่ต้องเสียค่าไฟฟ้าประมาณเดือนละ 500,000 บาทต่อแห่ง แต่มีการจ่ายค่าไฟจริงเพียงแห่งละประมาณ 300 - 2,000 บาทเท่านั้น ทำให้การไฟฟ้านครหลวงเสียหายกว่า 20 ล้านบาท ต่อเดือน หรือปีละเกือบ 300 ล้านบาท
ดังนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญาเพื่อเข้าค้นอาคารพาณิชย์ต้องสงสัย จำนวน 41 แห่ง เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานการลักไฟฟ้า เพื่อกล่าวโทษดำเนินคดีอาญา และร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยึดเครื่องขุดเงินดิจิทัลกว่า 2,000 ตัว มูลค่ารวมกว่า 400 ล้านบาท ไว้เพื่อตรวจสอบ รวมทั้งตรวจสอบกับกรมศุลกากรว่ามีการนำเข้าราชอาณาจักรไทย โดยผ่านพิธีการทางศุลกากร โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากเข้าข่ายการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษก็จะได้รับคดีดังกล่าวไว้ทำการสอบสวนต่อไป อนึ่ง จากการสืบสวนขยายผลยังพบว่าปัจจุบันมีการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้า เพื่อทำเหมืองขุดเงินดิจิทัลจำนวนมากในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยการนำเข้าเครื่องขุดเงินดิจิทัลมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสาธารณรัฐประขาชนจีน มาติดตั้งในอาคารพาณิชย์ที่มีค่าเช่าในราคาไม่สูงนัก จากนั้นจะทำการลักลอบต่อไฟตรงเข้าตัวอาคาร เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในการขุดเงินสกุลดิจิทัล แล้วปล่อยให้เครื่องขุด เปิดทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีผู้พักอาศัยในอาคารดังกล่าวแต่อย่างใด
การกระทำดังกล่าวนอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังทำให้เกิดความเสี่ยงการเกิดอัคคีภัย เนื่องจากเหมืองขุดเงินสกุลดิจิทัลมีการใช้ไฟฟ้าสูงเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าในโรงงาน จึงทำให้เกิดความร้อนสูง ซึ่งเป็นการใช้อาคารพาณิชย์ผิดประเภท โดยในประเด็นนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการขยายผลต่อไป กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังเจ้าของอาคารพาณิชย์หรือผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ให้ช่วยกันสังเกตบริเวณโดยรอบ หากพบสถานที่ต้องสงสัยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนกรณี ที่เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าจะมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่นั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการสืบสวนขยายผลต่อไป