บอร์ด สปสช.ตอกกลับ 'เอกภพ' หลังตั้งข้อสงสัยปมงบส่งเสริมสุขภาพฯ แจงไม่ได้เพิ่มงบจาก 400 ล้านบาทเป็น 2 หมื่นล้านบาท ย้ำสภาเป็นผู้ผ่านงบ-ใช้ดูแล ปชช. 66 ล้านคน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2565 นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัดส่วนผู้แทนองค์กรเอกชน เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลแก่คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมาว่า การจัดทำงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผ่านการพิจารณาจากสภาแล้ว ยิ่ง นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล เป็น ส.ส. และเป็นกรรมธิการด้วยแล้ว ก็ควรต้องทำการบ้าน เพราะสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ผ่านงบนี้มาเอง
การเข้าชี้แจงนี้ มีขึ้นหลังจากที่ นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตเรื่องงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า การเสนอของบประมาณ PP เพิ่มขึ้นจาก 400 กว่าล้านบาทในปี 2564 เป็น 2 หมื่นกว่าล้านในปี 2566 ว่ามีอะไรซุกซ่อนในรายละเอียดหรือไม่
ตลอดจนการตั้งงบประมาณ PP ยังครอบคลุมรวมไปถึงประชากรสิทธิอื่นๆ นอกจากสิทธิบัตรทอง ซึ่งเป็นการขัดต่อมาตรา 9 , 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 รวมถึงขณะนี้มีความพยายามที่จะกดดันให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. ลงนามในประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรณีบริการด้านเสริมสุขภาพและป้องกันให้แก่ประชาชนไทยทุกคน ทั้งที่อาจเป็นการลงนามในประกาศที่ขัดกฎหมายหรือไม่
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องงบประมาณ PP ที่เพิ่มจาก 400 เป็น 2 หมื่นล้านนั้น ตัวเลข 400 กว่าบาท เป็นตัวเลขต่อประชากร ซึ่งเมื่อคูณด้วยจำนวนประชากร 66 ล้านคน ก็เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ไม่ใช่หลักหมื่นล้านตามที่เข้าใจ ส่วนตัวเลข 20,000 ล้านบาท ที่เป็นวงเงินรวมนั้น ตัวเลขที่รวมงบกองทุน Long Term Care งบประมาณจัดบริการเกี่ยวกับ HIV และงบอื่นๆ ไว้แล้ว
ส่วนประเด็นที่ให้สิทธิ PP ครอบคลุมถึงสิทธิอื่นนอกเหนือจากสิทธิบัตรทองนั้น นายนิมิตร์ กล่าวว่า คงเป็นความเข้าใจกฎหมายที่ต่างกัน โดยการดำเนินงานก็บอกชัดเจนว่าจำเป็นต้องดูแลการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับคนทุกคน แต่เมื่อดูสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมและข้าราชการ สิทธิประโยชน์หลักคือการรักษา ส่วนเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคข้าราชการไม่เคยตั้งงบประมาณให้เบิกจ่ายเรื่องนี้เลย ขณะที่ระบบประกันสังคมเพิ่งมาเพิ่มเรื่องนี้ในระยะหลังแต่ก็ยังไม่ครอบคลุมเท่าบัตรทอง และในการดำเนินการก็มีการแยกแยะกันว่ารายการไหนที่ประกันสังคมจัดบริการแล้ว บัตรทองก็ไม่ต้องจัด จะได้ไม่เกิดความซ้ำซ้อน
“พอถือหลักนี้ ตามมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2565 ระบุว่าคนทุกคนมีสิทธิได้รับการดูแลสุขภาพจากระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะฉะนั้นเมื่อประกันสังคมกับข้าราชการได้สิทธิการรักษาพยาบาลไปแล้วก็มาใช้บัตรทองไม่ได้ แต่ถ้ารายการไหนไม่มีเหมือนที่ระบบหลักประกันสุขภาพจ่ายให้ เขาก็มาใช้ตรงนี้ พอถือหลักการนี้ก็เลยตั้งงบประมาณสำหรับคนทุกคน โดยให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการ” นายนิมิตร์ ระบุ
นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญคือตอนที่จัดทำงบประมาณในส่วนของ PP ก็ระบุชัดเจนว่าเป็นงบประมาณสำหรับ 66 ล้านคน และตอนที่เสนอของบประมาณก็ขอสำหรับ 66 ล้านคน ระบุในเอกสารชัดเจน แต่เมื่อคณะที่ปรึกษาของนายอนุทินเข้าใจว่าทำไม่ได้ และนายอนุทินในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ไม่ยอมลงนามในประกาศ และต้องการทำหนังสือสอบถามคณะรัฐมนตรีให้มอบหมายให้ สปสช. ดำเนินการก่อน ดังนั้นในขณะนี้ก็คงต้องรอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายอย่างชัดเจนมา สปสช. ดำเนินการ เมื่อคณะรัฐมนตรีมอบหมายแล้ว สปสช. ก็จะสามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 18 (14)
อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนการสอบถามและขอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ สปสช.ดำเนินการนั้น ไม่มีใครทราบว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใด ผลกระทบที่จะตามมาจากการที่นายอนุทินไม่ยอมลงนามประกาศฉบับนี้คือเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จัดทำแผนงบประมาณไว้ จะไม่สามารถโอนไปให้หน่วยบริการได้ ดังนั้นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพทุกประเภททุกสังกัดจะได้รับผลกระทบก่อน เพราะสถานพยาบาลต้องเปิดบริการทุกวัน เมื่อมีผู้ป่วยมารับบริการก็ต้องให้บริการ ต้องรักษาไปก่อน แต่เมื่อให้บริการไปแล้วก็ไม่สามารถเบิกเงินได้
“คนที่เดือดร้อนอันดับแรกคือหน่วยบริการ หากหน่วยไหนพอมีเงินเหลือก็อาจกระทบไม่มาก เรื่องยาก็อาจมียาเหลือในสต๊อก หรือมีเงินบำรุงเหลือพอจัดซื้อยาได้ แต่หน่วยบริการในสังกัดอื่นที่ไม่ได้มีเงินเยอะจะเริ่มมีปัญหา การรอคำตอบจากคณะรัฐมนตรีใช้เวลานานแค่ไหนไม่มีใครตอบได้ กระทรวงสาธารณสุขคงต้องดูว่าตัวเองจะเอาอย่างไร เพราะถ้ายังไม่ลงนาม ความเดือนร้อนก็ไปตกอยู่กับหน่วยบริการ” นายนิมิตร์ กล่าว
นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกแนวทางหนึ่งที่มีการเสนอขึ้นมา คือปรับปรุงประกาศให้สิทธิในการรับบริการ PP แยกเฉพาะคน 48 ล้านคนในสิทธิบัตรทอง ส่วนผู้มีประกันสังคมและข้าราชการยังไม่ต้องใช้สิทธินี้ ซึ่งแนวทางนี้บอร์ด สปสช. ไม่เห็นด้วย เพราะจะเกิดความเหลื่อมล้ำ คน 2 กลุ่มนี้รวมกันกว่า 10 ล้านคนก็จะไม่สามารถรับบริการได้ อาจต้องรอความชัดเจนหรือจ่ายเงินเอง เช่น ลูกของข้าราชการที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนก็ต้องจ่ายเงินเอง รวมทั้งการส่งเสริมป้องกันโรคอื่นๆ เช่น การป้องกัน HIV วัคซีนตับอักเสบซี การคัดกรองมะเร็ง คัดกรองเบาหวาน-ความดัน ก็ต้องรอไปก่อนหรือไม่ก็จ่ายเงินเองยังไม่รวมเรื่องเงินส่งเสริมสุขภาพอื่นๆ เช่น Long Term Care งบประมาณกองทุน กปท. ซึ่งถ้าไม่ลงนาม เงินก็โอนเข้ากองทุนไม่ได้ แต่ถ้าแก้ไขให้ได้สิทธิเฉพาะสิทธิบัตรทอง โครงการแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่ที่เป็นนโยบายของนายอนุทินก็จะแจกได้แค่สิทธิบัตรทองเท่านั้น
“ถ้าเลือกแนวทางนี้มันจะเกิดความเหลื่อมล้ำ ถ้าประสงค์จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำวุ่นวายแบบนั้นก็เอา ซึ่งนายอนุทินก็ต้องพิจารณาตัดสินใจว่าจะเลือกทางไหน ส่วนบอร์ด สปสช. ทั้งหมดมีความเห็นร่วมกันแล้วว่าควรลงนามให้ประกาศมีผลบังคับใช้โดยเร็ว” นายนิมิตร์ กล่าว
กมธ.สธ.ชี้งบส่งเสริมสุขภาพ สปสช. ส่อผิดกฎหมาย ย้ำหยุดบีบ 'อนุทิน' ให้รีบเซ็น
อนึ่งก่อนหน้านี้ นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย กรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ได้เชิญทางสำนักงบประมาณ และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้าร่วมในการพิจารณา การใช้งบประมาณส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยให้สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการ และผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามข้อกฎหมาย และอาจจะมีประเด็นข้อทุจริตด้วย เพราะไม่มีการดำเนินการตรวจสุขภาพจริง เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาจากปีที่ 2564 กรณีคลินิกอบอุ่น หลายแห่ง ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ได้ชี้มูลแล้ว
นพ.เอกภพ กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามกดดันให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐนตรี และ รมว.สาธารณสุข ลงนามอนุมัติงบประมาณปี 2565 ก้อนนี้ โดยให้รวบไปกับก้อนใหญ่ทั้งก้อนของ สปสช. ทั้งที่ยังมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย และทางปฏิบัติที่นำคนซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบบัตรทองมาใช้สิทธิเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่ข้อกฎหมายระบุชัดเจนว่าทำไม่ได้ นอกจากไปแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องก่อน
นพ.เอกภพข กล่าวว่า ในระยะเร่งด่วน ให้หน่วยงานส่งเรื่องกลับให้ ครม. อนุมัติเรื่องใหม่ เพื่อให้เกิดความถูกต้องเหมือนในปี 2565 มติคณะรัฐมนตรีชัดเจนว่าเห็นชอบ อนุมัติ และมีการมอบให้คณะกรรมการดำเนินการ แต่ในปีงบประมาณ 66 มติคณะรัฐมนตรีมีเพียงเห็นชอบ อนุมัติ ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยไม่ได้มีมติให้มอบคณะกรรมการดำเนินการ แล้วไปใช้วิธีการให้ กรรมการ สปสช. ยกมือโหวตให้ชนะนั้น จะให้ประธานคณะกรรมการ ลงนาม ไม่น่าจะถูกต้อง จึงควรให้สำนักงบประมาณ ส่งเรื่องกลับไป ครม. เพื่อแก้ไขข้อความให้ถูกต้องเสียก่อน
ส่วนในระยะยาว ในข้อกฎหมายเดิม พ.ศ.2545 ใน มาตรา 9 และ10 เขียนชัดว่าให้ สปสช. คุยกับข้าราชการและประกันสังคม ให้เรียบร้อยใน 1 ปี และถ้าทำไม่ได้ต้องเสนอ ครม.ปีละ 1 ครั้ง แต่ไม่เคยแจ้งมาก่อนเลย ดังนั้นต้องคุยรายละเอียด กับกรมบัญชีกลาง เพื่อยกร่างพระราชกฤษฎีกา ในการโอนเฉพาะสิทธิ เฉพาะงานส่งเสริมสุขภาพ เพื่อแก้ไขกฎหมายก็สามารถทำได้
ทั้งนี้ ทาง คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข มีมติว่า จะทำหนังสือส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ทั้งระยะสั้น และระยะยาว ต่อไป
แพทย์ชนบทจี้ ‘อนุทิน’ เร่งลงนามประกาศใช้งบหลักประกันสุขภาพปี 66
ขณะเดียวกัน ทางด้าน ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า ความจริงบางอย่างที่ญี่ปุ่นคงไม่รู้ หลักประกันสุขภาพไทย แลกเปลี่ยนกับหลักประกันสุขภาพญี่ปุ่น ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ญี่ปุ่นเขาคงไม่รู้ว่า งบหลักประกันสุขภาพปี 2566 ของไทย ซึ่งทุกปีมีการลงนามประกาศหลักเกณฑ์การใช้งบตั้งแต่กันยายน พอ 1 ตุลาคมขึ้นปีงบใหม่ก็สามารถโอนงบมาให้โรงพยาบาลต่างๆได้เลย ที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้นมาตลอด แต่ปีงบ 2566 นี้
วันนี้ 28 พฤศจิกายน 2565 แล้ว 59 วันแล้ว รมต. อนุทิน ชาญวีรกูล ก็ยังไม่ยอมลงนาม ดองไว้ไม่รีบแก้ปัญหา ไม่มีแววจะยอมลงนาม กลับมาจากญี่ปุ่นแล้วรีบมาจัดการปัญหานี้ด้วย โรงพยาบาลทั้งรัฐเอกชนคลินิกอบอุ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรองบอยู่
นอกจากนี้ ชมรมแพทย์ชนบท ยังโพสต์ข้อความต่อว่า 59 วันแล้วที่โรงพยาบาลรองบอยู่ งบมีสำนักงบประมาณพร้อมโอน
สปสช. ก็ทำประกาศหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายงบหลักประกันสุขภาพปี 2566 เสร็จและผ่านบอร์ด สปสช. ตั้งแต่ 4 กรกฎาคม 2565 แปลว่า หาก รมต. ลงนาม ภายใน 1 ตุลาคม 2565 งบ UC ก็จะพร้อมโอนสู่โรงพยาบาลต่างๆในทันที
นับจาก 1 ตุลาคม 2565 นี่ก็ 59 วันแล้วที่ รมต.ไม่ลงนาม ปัญหาที่อ้างไม่เซ็นต์ที่ประชุมบอร์ดก็แก้ปัญหาให้แล้ว
ข่าวว่ามีผู้บริหาร สธ. ชงว่า โอนช้า โรงพยาบาลก็ไม่เดือดร้อน ประโยคนี้ไม่จริง หลายโรงพยาบาล คลินิกอบอุ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็ก เงินบำรุงมีน้อย เขาย่อมขาดสภาพคล่อง
59 วันแล้วยังไม่ยอมลงนาม จึงแจ้งมาเพื่อให้สาธารณชนทราบ