'บิ๊กตู่' แถลงย้ำจุดยืนไทย 3 ข้อ เวทีอาเซียน เน้นมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน หวังทุกฝ่ายหารือตรงไปตรงมา บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ชี้ปัญหาความตึงเครียดต้องแก้ด้วยสันติวิธี ย้ำไทยมีจุดยืนแก้ปัญหาเมียนมาด้วยฉันทามติ 5 ข้อ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 13 พ.ย. เวลา 10.40 น. ณ ห้อง Ballroom III ชั้น Lobby (L) โรงแรมสกคา พนมเปญ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) ครั้งที่ 17 โดยมีผู้นำหรือผู้แทนจากประเทศที่เข้าร่วม EAS 17 ประเทศ เลขาธิการอาเซียน นายชาร์ล มีแชล ประธานคณะมนตรียุโรป (President of the European Council) และนายจาง หมิง เลขาธิการองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation - SCO) เข้าร่วมประชุม เพื่อทบทวนความร่วมมือในรอบปีที่ผ่านมา กำหนดทิศทางความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยสนับสนุนให้จัดการกับความท้าทายร่วมกัน ตามแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชา เพื่อกำหนดอนาคตของภูมิภาคที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดย EAS ถือเป็นส่วนสำคัญของสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง ในฐานะเวทีหารือเชิงยุทธศาสตร์ระดับผู้นำที่เปิดกว้างและสร้างสรรค์ ซึ่งทุกประเทศล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพของภูมิภาค และโลกโดยรวม
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำ 3 ประการ เพื่อกำหนดอนาคตของภูมิภาคที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังนี้
ประการแรก บทบาทและคุณค่าของ EAS ที่เปิดโอกาสให้มีกระบวนการหารือและการเจรจาอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งไทยเชื่อว่า จะนำไปสู่การสร้างสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคที่จะช่วยส่งเสริมสันติภาพที่ถาวรและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน และเรียกร้องให้ทุกประเทศปรับกระบวนทัศน์ไปสู่การหันหน้ามาร่วมมือกัน ซึ่งทุกประเทศมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ได้ตามความถนัดและศักยภาพของแต่ละประเทศ
ทั้งนี้ ไทย ยังมุ่งเน้นการรับมือกับประเด็นท้าทายร่วมกัน และผลักดันความร่วมมือแห่งอนาคต อาทิ การพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐกิจและเทคโนโลยีดิจิทัล อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือบีซีจี ซึ่งเป็นวาระสำคัญที่ไทยผลักดันในกรอบเอเปกที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ด้วย
ประการที่สอง ยึดมั่นในหลักการสำคัญร่วมกัน อาทิ ความเป็นแกนกลางของอาเซียน การเปิดกว้าง การมีส่วนร่วม และหลักการสามเอ็ม กล่าวคือ ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน การเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน
ประการที่สาม การแก้ไขข้อขัดแย้งโดยสันติ คือหนทางสู่การป้องกันการขยายตัวของปัญหา ลดความตึงเครียด และทางออกสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยไทยยึดมั่นและส่งเสริมให้ฝ่ายต่างๆ เคารพและดำเนินการใดๆ บนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงประเด็นคาบสมุทรเกาหลี
นอกจากนี้ ไทยยังสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการขับเคลื่อนฉันทามติ 5 ข้อเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา และพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยให้ประชาชนเมียนมากว่า 54 ล้านคน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมยืนยันความปรารถนาให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน และพร้อมที่จะสานต่อบทบาทที่สร้างสรรค์ในการเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
ประการสุดท้าย ท่านนายกฯ ได้เชิญชวนให้ผู้นำเข้าร่วมการประชุมนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนที่ประเทศไทยจะจัดขึ้นในต้นปี 2566
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมต่างๆ ทั้งสิ้น 26 ฉบับ โดยเอกสารผลลัพธ์ที่ผู้นำอาเซียนรับรอง ประกอบด้วย เอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน 16 ฉบับ และในกรอบอื่นๆ กับคู่เจรจา 10 ฉบับ โดยมีเอกสารสำคัญ ได้แก่ แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนในโอกาสครบรอบ 55 ปีของอาเซียน (ASEAN Leaders’ Statement on the 55th Anniversary of ASEAN) และแถลงการณ์วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วย “อาเซียน เอ.ซี.ที. : รับมือความท้าทายร่วมกัน” (ASEAN Leaders’ Vision Statement on “ASEAN A.C.T.: Addressing Challenges Together)
โดยในเวลาประมาณ 12.30 น. ณ ห้อง Ballroom I และ II โรงแรมสกคาฯ นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมพิธีปิด และพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้แก่อินโดนีเซีย ซึ่งจะเป็นประธานอาเซียนใน 2566 จากนั้นในเวลา 15.15 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมภริยา และคณะออกเดินทางกลับประเทศไทย โดยจะเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ในเวลาประมาณ 16.35 น. ในวันเดียวกัน (13 พฤศจิกายน 2565)