‘ศาลปกครองสูงสุด’ พิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาด ‘คณะอนุญาโตตุลาการ’ ที่สั่งให้ ‘ทรู’ จ่ายเงินตามสัญญาร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ให้ ‘ทีโอที’ 1.2 พันล้าน พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
......................................
เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 10/2551 หมายเลขแดงที่ 55/2557 ลงวันที่ 26 มิ.ย.2557 และปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการฯ ที่ให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ผู้ร้อง) ชดใช้เงินตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนเพื่อขยายบริการโทรศัพท์ให้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (ผู้คัดค้าน) เป็นเงิน 1,217.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
“เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ข้อ 17 ของสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนฯ กำหนดว่าเงินค่าบริการในส่วนของโทรศัพท์สองล้านเลขหมาย ผู้คัดค้านจะแบ่งรายได้ที่ได้รับจริงก่อนหักค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ร้องในอัตราร้อยละแปดสิบสี่ (84 %) เงินค่าบริการในส่วนของโทรศัพท์หกแสนเลขหมายที่เพิ่มขึ้น ผู้คัดค้านจะแบ่งรายได้ที่ได้รับจริงก่อนหักค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ร้องในอัตราร้อยละเจ็ดสิบเก้า (79%)
ต่อมา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2546 ได้มีการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 โดยแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามของคำว่า “บริการ” และ “สถานบริการ” ของพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2534 และในวันเดียวกัน ได้มีการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 เพื่อปรับปรุงพิกัดภาษีสรรพสามิตสำหรับการประกอบกิจการด้านบริการ และกำหนดให้การบริการบางประเภทที่ไม่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชนหรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต้องเสียภาษีสรรพสามิต
ซึ่งพระราชกำหนดดังกล่าว กำหนดให้เรียกเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคมในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 50 และมีการออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราและภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68) ลงวันที่ 28 มกราคม 2546 กำหนดลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคมสำหรับกิจการโทรศัพท์พื้นฐาน โดยให้จัดเก็บจากรายรับจากการให้บริการโทรศัพท์ภายในประเทศในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2
และต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ให้ความเห็นชอบแนวทางการดำเนินการหักค่าภาษีสรรพสามิตออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่คู่สัญญาภาคเอกชนจะต้องชำระให้แก่คู่สัญญาภาครัฐตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ โดยให้คู่สัญญาภาคเอกชนสรุปยอดเงินที่ต้องชำระภาษีให้คู่สัญญาภาครัฐทราบทุกเดือน เพื่อให้คู่สัญญาภาครัฐสามารถคืนเงินค่าภาษีสรรพสามิตให้กับคู่สัญญาภาคเอกชนเพื่อนำไปชำระค่าภาษีสรรพสามิตต่อไป
จากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม 2546 ถึงเดือนธันวาคม 2549 ผู้คัดค้านได้ส่งเงินจำนวน 1,479.62 ล้านบาท ให้แก่ผู้ร้องเพื่อนำไปชำระภาษีสรรพสามิต หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 23มกราคม 2550 ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 โดยกำหนดให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามจำนวนรายรับที่แต่ละฝ่ายได้รับ
ซึ่งเมื่อพิจารณามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ดังกล่าวแล้ว เห็นว่า เป็นมติคณะรัฐมนตรีในกรณีภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคมซึ่งได้พิจารณาทั้งกิจการโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือวิทยุคมนาคมระบบเชลลูล่าด้วย โดยในกิจการโทรศัพท์พื้นฐานนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติให้คู่สัญญาภาคเอกชนที่ต้องชำระภาษีสรุปยอดเงินค่าภาษีให้คู่สัญญาภาครัฐทราบทุกเดือน เพื่อให้คู่สัญญาภาครัฐสามารถคืนเงินค่าภาษีให้กับคู่สัญญาภาคเอกชนเพื่อนำไปชำระค่าภาษีต่อไป
ส่วนกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่านั้น กำหนดให้คู่สัญญาภาคเอกชนมีสิทธินำเงินค่าภาษีสรรพสามิตที่ได้ชำระแล้วตลอดทั้งปี (ไม่รวมดอกเบี้ย ค่าปรับ หรือเงินเพิ่มใดๆ) มาหักออกจากจำนวนเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่คู่สัญญาภาคเอกชนต้องจ่ายให้คู่สัญญาภาครัฐเมื่อสิ้นปีดำเนินการได้
มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงเป็นวิธีการบริหารจัดการที่กำหนดให้คู่สัญญาภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกิจการโทรศัพท์พื้นฐานหรือกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า ชดเชยค่าภาษีสรรพสามิตให้แก่คู่สัญญาภาคเอกชนที่มีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมาย ซึ่งผู้คัดค้านและผู้ร้อง ก็ได้ยอมรับที่จะปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
โดยข้อเท็จจริงปรากฎต่อมาว่า ผู้คัดค้านได้มีหนังสือ ลงวันที่ 20 มีนาคม 2546 ถึงผู้ร้อง ความว่า ผู้คัดค้านจะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 โดยจะรอข้อมูลการคำนวณภาษีจากผู้ร้องทุกเดือน และผู้คัดค้านจะทำการโอนค่าภาษีให้ผู้ร้องเพื่อนำไปชำระภาษีสรรพสามิต และต่อมา ผู้คัดค้านได้ส่งมอบเงินค่าภาษีสรรพสามิตให้ผู้ร้องนำไปชำระภาษีสรรพสามิต
อันแสดงว่าคู่สัญญาได้ตกลงเปลี่ยนแปลงวิธีการชำระผลประโยชน์ตอบแทนจากที่กำหนดในสัญญาแล้ว และถึงแม้ต่อมามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ได้ถูกยกเลิกโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 แต่ก็เป็นการยกเลิกหลังจากที่มีการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเดิมไปแล้ว อีกทั้งคณะรัฐมนตรีไม่ได้มีมติให้ยกเลิกมติเดิมโดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่นที่มีมติแต่อย่างใด
นอกจากนั้น มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 รวมถึงประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราและภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68 ลงวันที่ 28 มกราคม 2546 ก็ไม่ได้ลบล้างหน้าที่ของผู้เสียภาษีตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติภาษีสรรพาสามิต พ.ศ.2527 เนื่องจากเป็นเพียงการกำหนดว่า ให้นำเงินส่วนใดมาชำระภาษีสรรพสามิตเท่านั้น
โดยหน้าที่เสียภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ยังคงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องอยู่เช่นเดิม ซึ่งถือเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาปรับโครงสร้างรายได้ของรัฐเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยคณะรัฐมนตรีเลือกที่จะลดรายได้ในส่วนของประโยชน์ตอบแทนที่คู่สัญญาฝ่ายเอกชนต้องจ่ายให้แก่คู่สัญญาภาครัฐ มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด
อีกทั้งในปัญหานี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 32/2548 กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภายื่นคำร้องว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่า การยอมให้มีการหักภาษีสรรพสามิตออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่บริษัทเอกชนต้องจ่ายให้รัฐโดยผ่าน ทศท. และ กสท. ซึ่งเป็นคู่สัญญาเดิม เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานทั้งสองได้แปรรูปเป็นบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว รายได้ที่เป็นส่วนแบ่งรายได้ที่เป็นค่าใช้ประโยชน์จากสัมปทานซึ่งเคยส่งมอบให้รัฐก็จะตกเป็นของผู้ถือหุ้น
การที่รัฐกำหนดให้เรียกเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคมโดยให้หักจากส่วนแบ่งรายได้ที่ผู้ประกอบการรายเก่าต้องจ่าย ย่อมทำให้รัฐยังคงได้รับรายได้ในส่วนนี้ต่อไป โดยแปลงส่วนแบ่งรายได้บางส่วนเป็นภาษีสรรพสามิต มิได้มีการเปลี่ยนแปลงในค่าส่วนแบ่งรายได้และไม่ใช่การแปลงหรือแก้ไขสัญญาสัมปทานแต่อย่างใดเพราะผู้ประกอบการรายเก่ายังคงต้องเสียส่วนแบ่งรายได้เท่าเดิม
ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวนี้สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.155/2563 ซึ่งได้พิจารณาในประเด็นปัญหาที่ว่า การออกประกาศกระทรวงการคลัง และมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ชำระภาษีสรรพสามิตโดยหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่ผู้รับสัมปทานต้องชำระ เป็นการฝ่าฝืนต่อหน้าที่ในการเสียภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 เนื่องจากผู้รับภาระในการชำระภาษีที่แท้จริง คือ คู่สัญญาภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว
และกรณีดังกล่าวเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานที่มีมูลค่าลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งต้องเสนอต่อคณะกรรมการประสานงานและรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือไม่ โดยในคดีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า การชำระผลประโยชน์ตอบแทนตามประกาศกระทรวงการคลังและมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่อย่างใด
ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาเป็นลำดับข้างต้น ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 10/2551 หมายเลขแดงที่ 55/2557 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2557 ที่ชี้ขาดว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 มีผลทำให้ส่วนแบ่งรายได้ของผู้คัดค้านลดลง แต่ส่วนแบ่งรายได้ของผู้ร้องยังคงเท่าเดิม จึงขัดต่อพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527
และเป็นมติที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ และให้ผู้ร้องชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาพิพาทเป็นเงินจำนวน 1,217.50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 1,217.50 ล้านบาท นั้น เป็นคำขี้ขาดข้อพิพาทที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลต้องเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว
อีกทั้งเป็นคำชี้ขาดข้อพิพาทที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งการบังคับตามคำขี้ขาดดังกล่าวย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลปกครองสูงสุดต้องปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวตามมาตรา 43 (4) และมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 10/2551 หมายเลขแดงที่ 55/2557 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2557 และปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและผู้คัดค้าน นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย” คำพิพากษาศาลปกครองคดีหมายเลขดำที่ อ.741-742/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อ.901-902/2565 ลงวันที่ 30 ก.ย.2565 ระบุ
สำหรับคดีนี้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ผู้ร้อง) ฟ้องว่า ผู้ร้องและบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (ผู้คัดค้าน) ได้ทำสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ ซึ่งต่อมาเกิดข้อพิพาทขึ้นคู่กรณีจึงได้เสนอข้อพิพาทดังกล่าวต่อคณะอนุญาโตตุลาการเป็นข้อพิพาท หมายเลขดำที่ 10/2551 หมายเลขแดงที่ 55/2557 โดยมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงตามคำเสนอข้อพิพาท เป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 10/2551 หมายเลขแดงที่ 55/2557 ลงวันที่ 26 มิ.ย.2557 และปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2546 และวันที่ 11 ก.พ.2546 มีผลทำให้ส่วนแบ่งรายได้ของผู้คัดค้านลดลง แต่ส่วนแบ่งรายได้ของผู้ร้องยังคงเท่าเดิม จึงขัดต่อพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527
และเป็นมติที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ และมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาพิพาทเป็นเงินจำนวน 1,217.5 ล้านบาท บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,217.5 ล้านบาท จึงเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามข้อตกลงแห่งสัญญาพิพาท
อีกทั้งเป็นคำชี้ขาดข้อพิพาทที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดได้ตามมาตรา 34 วรรคสี่ และมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ.2545 เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นไปตามข้อตกลงแห่งสัญญาพิพาท
การบังคับตามคำชี้ขาดย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงต้องปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว
ผู้คัดค้านจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
อ่านประกอบ :
'ศาลปค.สูงสุด'นัดตัดสิน คดี'ทรู'ร้องถอนคำชี้ขาด'อนุญาโตฯ'สั่งชดใช้ TOT 1.2 พันล. 27 ต.ค.