นัดอ่านคำพิพากษา ‘ศาลปกครองสูงสุด’ คดี ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ ร้องเพิกถอนคำสั่ง ‘คณะอนุญาตตุลาการ’ สั่งชดใช้ ‘ทีโอที’ 1.2 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% กรณีข้อพิพาทร่วมทุนขยายโทรศัพท์ 27 ต.ค.นี้
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 27 ต.ค. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 1615/2557 คดีหมายเลขแดงที่ 1924/2561 และคดีหมายเลขดำที่ 498/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 1925/2561 ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ผู้ร้อง) กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (ผู้คัดค้าน) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง (ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ)
คดีนี้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ผู้ร้อง) ฟ้องว่า ผู้ร้องและบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (ผู้คัดค้าน) ได้ทำสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ ซึ่งต่อมาเกิดข้อพิพาทขึ้นคู่กรณีจึงได้เสนอข้อพิพาทดังกล่าวต่อคณะอนุญาโตตุลาการเป็นข้อพิพาท หมายเลขดำที่ 10/2551 หมายเลขแดงที่ 55/2557 โดยมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงตามคำเสนอข้อพิพาท เป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 10/2551 หมายเลขแดงที่ 55/2557 ลงวันที่ 26 มิ.ย.2557 และปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2546 และวันที่ 11 ก.พ.2546 มีผลทำให้ส่วนแบ่งรายได้ของผู้คัดค้านลดลง แต่ส่วนแบ่งรายได้ของผู้ร้องยังคงเท่าเดิม จึงขัดต่อพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527
และเป็นมติที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ และมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาพิพาทเป็นเงินจำนวน 1,217.5 ล้านบาท บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,217.5 ล้านบาท จึงเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามข้อตกลงแห่งสัญญาพิพาท
อีกทั้งเป็นคำชี้ขาดข้อพิพาทที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดได้ตามมาตรา 34 วรรคสี่ และมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ.2545 เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นไปตามข้อตกลงแห่งสัญญาพิพาท
การบังคับตามคำชี้ขาดย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงต้องปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว
ผู้คัดค้านจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด