สธ.เผยไทยพบโควิด XBB แล้ว 2 ราย มาจากสิงคโปร์ รักษาหายแล้ว พร้อมจับตาโอไมครอนพันธุ์ย่อย เหตุมีโอกาสหลบภูมิคุ้มกันมากสุด ย้ำอย่าตระหนก แม้แพร่เร็วแต่ไม่รุนแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วงวันหยุดยาว 8-14 ต.ค. 2565 ได้มีการตรวจสายพันธุ์ 128 ตัวอย่าง ยังเป็นโอไมครอนทั้งหมด ส่วนเดลตา อัลฟา เบตา ไม่เจอแล้ว และส่วนใหญ่ยังเป็นโอไมครอน BA.4/BA.5 126 ตัวอย่าง ซึ่ง BA.5 พบมากที่สุด ส่วน BA.2 พบเล็กน้อยเพียง 2 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ BA.2.75 ยังไม่พบในสัปดาห์นี้
จากการติดตามสถานการณ์ขององค์การอนามัยโลกยังไม่พบสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวลใหม่เพิ่มเติม ยังเป็นโอไมครอน แต่โอไมครอนแตกลูกหลาน ทำให้มีสายพันธุ์ที่ต้องติดตามข้อมูลใกล้ชิด เช่น BA.5 ที่มีลูกหลานเป็น BF.7 BF.14 หรือ BQ.1 ส่วน XBB ที่ย่อ X มาจาก Cross คือ ลูกผสม เกิดมาจาก BJ.1 มาบวกกับ BA.2.75
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า วันนี้โอไมครอนกลายพันธุ์ไปมากมายที่น่าตกใจคือ กลายพันธุ์หลายตำแหน่งมาก โดยเฉพาะตำแหน่งสไปรก์ที่จะไปจับกับเซลล์ของมนุษย์ ทำให้ร่างกายจำไม่ได้ว่าเคยมีสายพันธุ์นี้เข้าร่างกายมาแล้ว ก็จะยอมให้เกิดการติดเชื้อขึ้น
ดังนั้น ยิ่งกลายพันธุ์มากก็จะมีโอกาสแพร่กระจายไปแย่งพื้นที่ตัวก่อนหน้าก็จะมากขึ้น เช่น กลายพันธุ์มากกว่า 7 ตำแหน่ง อาจจะแพร่เร็วขึ้น ร้อยละ 297 เมื่อเทียบของเดิม ซึ่งมีการจัดระดับการแพร่กระจายไว้ด้วย เพื่อการจับตาดูการเปลี่ยนแปลงไวรัส
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เคยมี BA.2.75 ที่พบมากในอินเดีย ไทยก็ตรวจพบเป็นระยะ วันนี้ผลรายงานผ่านจีเสด (GISIAD) สรุปว่า มี 19 ราย และยังอยู่ในการวิเคราะห์ 11 ราย เมื่อเทียบกับ BA.5 ก็ถือว่ายังไม่มาก
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับโอไมครอน มีการกลายพันธุ์จำนวนมาก และหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งที่อยู่ตรงสไปร์ทโปรตีน อย่างไรก็ตาม หากพบกลายพันธุ์มากกว่า 6 ตำแหน่งขึ้นไป เมื่อเทียบกับของเดิมอาจเร็วกว่าเป็น 100% เศษๆ หรือหากมากกว่า 7 ตำแหน่งขึ้นไปก็จะไปเร็วกว่า 200% เมื่อเทียบกับของเดิมได้ อย่างไรก็ตาม จากการเฝ้าระวังสถานการณ์การกลายพันธุ์ของประเทศไทยนั้น กรณีBA.2.75 จากฐานข้อมูล Gisaid มีรายงานรวม 19 ราย ส่วนอีก 11 ราย เป็นตระกูลลูกหลาน BA.2.75.1 BA.2.75.2 BA.2.75.3 และ BA.2.75.5 รวมแล้วประมาณ 30 ราย
ส่วนโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย XBB เป็นสายพันธุ์ผสมระหว่างสายพันธุ์ BJ.1 (BA.2.10.1.1) และ BM.1.1.1 (ฤ.2.75.3.1.1.1) โดยมีบรรพบุรุษร่วมกันคือ BA.2 ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังในประเทศไทยพบสายพันธุ์ XBB จำนวน 2 ราย รายแรกเป็นหญิงต่างชาติอายุ 60 ปี เดินทางมาจากฮ่องกง และมาตรวจในรพ.เอกชนแห่งหนึ่ง อาการไม่มาก มีไอ ขณะป่วยอาศัยโรงแรมแห่งหนึ่ง ส่วนรายที่ 2 เป็นคนไทยอายุ 49 ปี เดินทางมาจากสิงคโปร์ ไปรพ.เดียวกัน มีอาการไอ คัดจมูก ไม่ได้ไปไหน อยู่ในไทย มาตรวจจึงทำให้พบเชื้อ อาการไม่มากและหายเป็นปกติแล้ว
“แม้จะมีพันธุ์ใหม่ แต่อย่าเพิ่งตกใจ เพราะยังไม่มีหลักฐานว่า ป่วยหนัก อย่างสิงคโปร์ที่พบเชื้อนี้จำนวนมาก เขาก็ยืนยันว่า จำนวนคนไข้หนักที่เพิ่มขึ้น เป็นไปตามสัดส่วนของเชื้อที่เพิ่มขึ้น หมายความว่าตัวเชื้อไม่ได้รุนแรง แต่ที่มากเพราะคนติดเชื้อเยอะขึ้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ทั้งนี้ ส่วนสายพันธุ์ BF.7 เป็นสายพันธุ์ลูกหลานของ BA.5.2.1 มีความสามารถในการแพร่ระบาดน้อยกว่า XBB และ BQ.1.1 พบในจีน และแพร่ไปยังเบลเยียม เยอรมนี ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และอังกฤษ รวมถึงพบในไทย 2 รายเป็นชายต่างชาติอายุ 16 ปี อาศัยอยู่ในไทย อยู่ที่กรุงเทพฯ โดยเราได้ส่งข้อมูลไปจีเสดตั้งแต่ ก.ย. แต่ตอนนั้นเป็นสายพันธุ์กลุ่มของ BA.5 จนมีการแตกสายพันธุ์ออกมาก ส่วนอีกรายเป็นหญิงไทยอายุ 62 ปี บุคลากรทางการแพทย์ พบที่กรุงเทพฯ มีการรายงานข้อมูลช่วงเดือนก.ย.2565 โดยทั้งคู่ไม่ได้มีอาการรุนแรง ซึ่งทั่วโลกเจอเชื้อนี้ประมาณ 13,000 คน โดยพวกนี้เป็นเชื้อในตระกูลโอไมครอน คือ แพร่เร็วแต่ไม่รุนแรง
นอกจากนี้ ไทยยังเจอสายพันธุ์ BN.1 หรือ BA.2.75.5.1 จากฐานข้อมูลจีเสดทั่วโลกพบ 437 ราย โดยไทยมีรายงาน BN.1 บนจีเสดจำนวน 3 ราย พบเพิ่มเติมในไทย 7 ราย
“ส่วน BQ.1.1 ยังไม่พบในไทย แต่ที่น่าสนใจคือ ตัวนี้เพิ่มจำนวนค่อนข้างเร็ว ซึ่งอาจเป็นปัญหาในอนาคตได้ โดยทั่วโลกมีรายงานพันกว่าราย สำหรับสถานการณ์ Emerging variant ที่กังวลเรื่องการหลบภูมิคุ้มกัน จะพบว่า มี XBB รองลงมา BQ.1.1 และ BN.1 จึงต้องมีการเฝ้าระวังและติดตามต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สายพันธุ์ที่น่าสนใจ คือ BA.2.75.2 มี 8 ราย BN.1 มี 10 ราย BF.7 มี 2 ราย และ XBB อีก 2 ราย แต่ส่วนใหญ่คนติดเชื้อยังเป็น BA.5 พันธุ์ย่อยๆมีบ้าง แต่ขอย้ำว่า ประชาชนอย่าเพิ่งตกใจ เพราะตระกูลโอไมครอน แม้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่ไม่รุนแรง ซึ่งหากมีอาการก็ขอให้ตรวจหาเชื้อ จะได้ลดการแพร่เชื้อ เพราะหลักการหากลดการแพร่เชื้อ ก็ลดการกลายพันธุ์ได้ ดังนั้น มาตรการที่ใช้อยู่อย่างการสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะการไปอยู่ในที่คนจำนวนมากยังช่วยได้ และการล้างมือบ่อยๆ ก็ช่วยได้เหมือนเดิมอีกเช่นกัน รวมทั้งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และในกรณีที่ฉีดเข็มสุดท้ายเกิน 4-6 เดือน ขอให้มาฉีดกระตุ้น
“ทั้งนี้ สายพันธุ์โอไมครอนไม่มีความรุนแรง จึงขอประชาชนอย่าตระหนก อาจติดเชื้อมากขึ้น ฉะนั้น หากใครติดเชื้อแล้วมีอาการ ก็อาจให้ช่วยตรวจเชื้อ เพื่อระวังตัวเองไม่ให้แพร่เชื้อ เพราะตามหลักการ ถ้าแพร่เชื้อมาก โอกาสกลายพันธุ์ก็สูงขึ้น มาตรการสวมหน้ากากอนามัยยังใช้ได้ โดยเฉพาะการเข้าไปในชุมชน พบปะคนอื่นอย่างใกล้ชิด ล้างมือให้สะอาด หากมีอาการก็ตรวจหาเชื้อ ส่วนกลุ่ม 608 ก็ขอให้ไปกระตุ้นวัคซีนโควิด-19 ด้วย” นพ.ศุภกิจกล่าว
ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิดในไทยลดลงต่อเนื่องทั้งผู้ติดเชื้อ ป่วยหนัก เสียชีวิต โดยรอบสัปดาห์เสียชีวิต 53 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 และไม่ฉีดวัคซีน ส่วนอัตราครองเตียง 4.9 % กลุ่มเสี่ยงปอดอักเสบ 2.2 พันราย ต่ำกว่าที่คาดการณ์ 2.9 พันราย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเรื่อยๆ ก็คาดว่าอาจจะมีผู้ป่วยนอนรพ.เพิ่มขึ้นได้ แต่การเสียชีวิตคาดว่าต่ำ เพราะการแพร่ระบาดคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝน ต่อด้วยฤดูหนาว อาจทำให้ผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดมากขึ้น จึงแนะนำให้ตรวจ ATK เบื้องต้นก่อนพบแพทย์ เพราะช่วงนี้มีไข้หวัดอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ตรวจ RT-PCR ลดลง แต่ระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ไม่ได้ลดความเข้มข้นลง จึงขอความร่วมมือ รพ. ส่งตัวอย่างเชื้อ กลุ่มอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต ผู้ที่มาจากต่างประเทศแล้วป่วย กลุ่มคลัสเตอร์ กลุ่มที่ภูมิฯ บกพร่อง กลุ่มที่รับวัคซีนเข็มสุดท้ายยังไม่เกิน 3 เดือน แต่มีอาการป่วยจากโควิด และกลุ่มบุคลากรการแพทย์ มายังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่งทั่วประเทศ