สธ.แจงโอไมครอน BA.2.75 เป็นสายพันธุ์ย่อย ยังไม่มีข้อมูลแพร่เร็วหรือรุนแรง ชี้ไม่พบสัญญาณโควิดกลายพันธุ์ผิดปกติ ขออย่าตื่นตระหนก ยัน BA.5 ยังครองไทยเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า เมื่อช่วง 1-2 วันที่ผ่านมามีข่าวว่าเจอโควิดสายพันธุ์โอไมครอน BA.2.75.2 จำนวน 1 รายนั้น ในวันนี้จึงจะมาสื่อสารข้อมูล โดยภาพรวมจากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตรวจเชื้อเบื้องต้นไปทั้งหมด 359 ราย ทั้งที่เดินทางเข้ามา และตรวจพบในประเทศ ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่ม BA.4 /BA.5 จำนวน 333 ราย โดย BA.2.75 มี 5 ราย เป็นต้น
สำหรับภาพรวมของประเทศ 93% เป็นกลุ่ม BA.4 /BA.5 ส่วนที่เหลือเล็กน้อยเป็น BA.1 BA.2 และ BA.2.75 โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า 92% เป็น BA.4 /BA.5 ส่วนภูมิภาคพบประมาณ 94% ทั้งนี้ เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมออกมาในจำนวน 803 ราย พบว่า สายพันธุ์ BA.2.75 มีจำนวน 9 ราย แต่ส่วนใหญ่ยังเป็น BA.5 อยู่ที่ 688 รายหรือประมาณ 85% ของจำนวนทั้งหมด และอีก 106 รายเป็น BA.4 ซึ่งข้อมูลสอดคล้องกับโลกที่ BA.5 พบมากขึ้น
ส่วนข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานที่มีจุดต่อท้าย โดยต้องเข้าใจว่า การกลายพันธุ์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างจับตาการกลายพันธุ์ในตำแหน่งต่างๆ มีความหมายอย่างไร ว่าจะส่งผลต่อการแพร่ระบาด ความรุนแรง การหลบวัคซีนหรือไม่ ทั้งนี้ BA.2.75 เป็นตัวแม่ แต่เมื่อมาเป็น BA.2.75.2 ก็จะเพิ่มตำแหน่ง R346T และ F486S ซึ่งมีการสังเกตในห้องแลปว่า จะมีผลต่อการแพร่ระบาด หรือความรุนแรงหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่พูดกันถึง BJ.1 ซึ่งเป็นข้อมูลรวบของสายพันธุ์ BA.2.10.1 ซึ่งไม่ใช่พันธุ์ใหม่ แต่ยังเป็น BA.2 แต่เป็นลูกหลานที่งอกออกมา และจริงๆ ก็มีตัวอื่นๆอีก ซึ่งบางอันไม่มีปัญหาก็จบ สงบหายไป แต่เราก็มีระบบเฝ้าดู
"ข้อมูลใน GISAID ซึ่งเราได้จับตาดูข้อมูล BA.2.75 และลูกหลานพบในไทย จากการถอดรหัสพันธุกรรมมีทั้งหมด 9 ตัวอย่าง มีทั้งแพร่ 2 ราย กรุงเทพมหานคร 5 ราย ตรัง 1 ราย และสงขลา 1 ราย ซึ่งจังหวัดไม่ได้มีความหมาย ไม่ได้มีปัญหา เพียงแต่ถูกส่งข้อมูลมา โดยในกรุงเทพฯ เราพบสายพันธุ์ย่อยของ BA.2.75 ซึ่งเราเจอ BA.2.75.1 , BA.2.75.2 BA.2.75.3 อย่างละ 1 ราย ซึ่งหากจะนับว่าทั้งสามรายเป็นรายแรกก็ได้ก็ไม่เป็นไร ที่เหลือใน 9 รายก็เป็นตัวแม่" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกเฝ้าจับตาสายพันธุ์โควิด โดยข้อมูลล่าสุดสิ้นเดือนสิงหาคม 2565 เทียบ 2 สัปดาห์(ระหว่างวันที่ 15-21 ส.ค. กับ 22-28 ส.ค.) เห็นว่า BA.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 84.8% เป็น 86.8% ซึ่งคล้ายๆประเทศไทย ส่วน BA.4 สัดส่วนจาก 6.8% ลดลงเหลือ 4.2% ขณะที่ BA.2 จาก 2.6% เป็น 2.5% ขณะที่ BA.2.75 จาก 0.9% เป็น 1.2% ขึ้นมาเล็กน้อย นี่คือสถานการณ์จริงระดับโลก ดังนั้น อย่าไปจับเฉพาะจุดว่า ที่นั่นเจอ 3 ราย
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า หลายคนไปหยิบเอาข้อมูลบางอย่างขึ้นมา อย่าง BA.2.75 ที่มีเรื่องอำนาจการเพิ่มจำนวน โดยจากรายงานที่ส่งมาทั่วโลก และคนเอามาโพสต์แบบไม่มีข้อมูล โดยนำเมื่อมาเทียบกับ BA.5 ถึง 114% ซึ่งเท่าเศษๆ คนจึงกังวลว่า เร็วขึ้นอีกหรือไม่ ข้อเท็จจริงคือ อันนี้เป็นข้อมูลสันนิษฐาน แต่ของจริงต้องพิสูจน์ว่า จริงหรือไม่ ต้องดูสัดส่วนก่อน ซึ่งตอนนี้การตรวจการกลายพันธุ์ในโลก ณ ขณะนี้ไม่ได้ทำมากเท่าเดิม บางประเทศไม่ได้ซีเรียส หน้ากากอนามัยก็ถอด แต่ของไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ เราก็นำมาจับตาเฝ้าระวังในประเทศ
"สำหรับข้อมูลที่เราเอาไปโพสต์ใน GISAID ก็เพื่อให้เห็นว่าเราโปร่งใส ใส่ข้อมูลข้อเท็จจริง อย่างข้อมูล BA.2.75 รวมลูกหลานไทยมี 9 อย่าง ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.ย.65 สำหรับข้อมูลการพบ BA.2.75 หลายสัปดาห์แล้ว เป็นเพศชายอายุ 82 ปี ซึ่งเป็นรายที่ 6 และรายที่ 7 เป็นชายชาวต่างชาติอายุ 48 ปี เป็นสายพันธุ์ข้อมูล BA.2.75.1 ส่วนรายที่ 8 เป็นคนไทยอายุ 73 ปี เป็นข้อมูล BA.2.75.2 ที่บอกว่าพบรายแรก และรายที่ 9 เป็นชายต่างชาติ พบเชื้อข้อมูล BA.2.75.3 ทั้งหมดไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่มีอาการอะไรมาก ส่วนใหญ่หายและออกจากรพ.แล้ว" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขอให้เชื่อมั่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับเครือข่ายการตรวจสายพันธุ์ทั่วโลก ทำการเฝ้าระวังและส่งรายงานในระบบ GISAID อย่างสม่ำเสมอ หากอันไหนมีสัญญาณจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกว่า ต้องดูตรงไหนเป็นพิเศษ เราก็จับตาดู และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจจับได้ ไม่ได้ช้า ไม่ได้มีปัญหา ไม่ต้องกังวล
"สรุป คือ ณ วันนี้ในประเทศไทยยังเป็น BA.5 พบสัดส่วน 85% ส่วน BA.4 พบ 13% ส่วนBA.2.75 รวมถึงสายพันธุ์ย่อยเพียง 1% ดังนั้น ขออย่าตื่นตระหนกจากข้อมูลบางคนไปโพสต์ในโซเชียลฯ ขอให้ตั้งสติ" นพ.ศุภกิจ กล่าว