เสวนาวาระ 8 ปีนายกรัฐมนตรี ‘ประยุทธ์’ แนะมีสปิริตเหมือนทหารรุ่นพี่ก่อนเกิดวิกฤติ ‘เจษฎ์ โทณะวณิก’ แนะลาพักร้อนหลัง 24 ส.ค.ลดความขัดแย้ง-แรงกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ข้องใจหากไม่นับย้อนหลังยุค คสช. ระหว่างปี 57-60 ถือว่าใช้อำนาจอะไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2565 คณะกรรมการญาติพฤษภา 35 และสภาที่ 3 จัดการเสวนาหัวข้อ ‘วาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ’
นายอดุลย์ เชียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า ได้รับการประสานจาก ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า 8 สถาบัน และ 8 สถานีโทรทัศน์ที่จะร่วมกันโหวต กรณีการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เหมือนกรณีอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 รัฐมนตรีหรือไม่
ด้าน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีความสำคัญต่อบ้านเมือง ทั้งในแง่ของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เพราะเป็นการวางกรอบกติกาในรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้จะช่วยสร้างและส่งต่อให้กับคนรุ่นหลัง เพราะฉะนั้นตนเชื่อว่าศาลจะสร้างระบบการเมือง และขจัดความขัดแย้ง
ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จุดยืนที่ตนร่วมลงชื่อไล่นายกรัฐมนตรี เพราะที่ผ่านมาให้โอกาสในการบริหารบ้านเมือง แต่ฆ,ษญไม่ประสบความสำเร็จ และอยากให้เป็นบรรทัดฐานเป็นตัวอย่างที่ดี ในอดีตมีนายทหารทุกคนมีสปิริต และรับผิดชอบทางการเมือง เช่น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประกาศจะอยู่ 15 เดือน ทั้งที่ด้วยอำนาจจะไปต่อก็ได้ , พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก็อยู่ในเวลาที่จำกัด เพราะไม่อยากให้มีวิกฤตบ้านเมือง , พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านก็รู้จักพอ หรือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่เป็นนายกรัฐมนตรี 10 เดือน เมื่อเจอวิกฤติต่างๆ ก็รับผิดชอบ
“ทำให้ถูกตั้งคำถามกรณี พล.อ.ประยุทธ์ว่ามีสปิริต และจริยธรรมผู้นำทางการเมืองหรือไม่ ผมยังเชื่อว่าทุกภาคส่วนที่เคยสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เหลือพื้นที่ไว้วางใจ และส่วนตัวเชื่อว่าประเทศอยู่ได้ ถ้าไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ หรือ 3 ป. เพราะยังมีคนเก่งและมีความสามารถมาทำหน้าที่ได้” ผศ.วันวิชิต กล่าว
นายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความชัดเจนในตัวมันเอง ไม่จำเป็นต้องเถียงกัน วันนี้รัฐธรรมนูญมีทางออกแต่ทุจริตบิดเบือนอำนาจ ต้องเปลี่ยนแปลงประเทศกันอีกครั้งหนึ่ง บนพื้นฐานที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย รักษาไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ไม่อย่างนั้นเราจะเจอปัญหาแบบนี้ ถึงเวลาจะออกกฎหมายก็เอา ถึงเวลาไม่เอากฎหมายจะเสกสรรค์ปั้นแต่ง สังคมก็วุ่นวาย และถูกทำให้แตกแยก ถ้าแตกแยกอย่างนี้ขับเคลื่อนประเทศไม่ได้ การบริหารผู้นำประเทศก็เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า การตีความกฎหมายวันนี้ เราต้องตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะครบวาระ 8 ปีเมื่อไร รธน.ปี 2560 กำหนดไว้ว่า ดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปีรวมกัน ครม.ที่เป็นก่อนประกาศให้ถือเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ด้วย วิธีคำนวณวาระ 8 ปี หากตีความตรงไปตรงมาคือครบวาระวันที่ 24 ส.ค.2565 หากตีความอีกแบบ คือ มาตรา 158 จะบังคับใช้ย้อนหลังไม่ได้ หากนับเช่นนี้จะต้องเริ่มนับเมื่อ รธน.ปี 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560 แต่การคิดแบบนี้จะเป็นเรื่องอันตราย เพราะจะเท่ากับว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2557-2560 จะถือเป็นการใช้อำนาจอะไร
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวด้วยว่า แม้หลายคนจะใช้เรื่องอำนาจรัฏฐาธิปัตย์มาอธิบาย แต่จริงๆถือว่าความเป็นรัฎฐาธิปัตย์สิ้นสุดหลังมีการโปรดเกล้าฯ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติแล้ว ดังนั้นหากอ้างความเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ช่วงเวลาหลังจากนั้นก็จะถือว่าเป็นกบฎ และการตีความอีกแบบคือเอาแค่มาตรา 158 แต่ไม่เอามาตรา 264 โดยอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรเลย เป็นเพียงความต่อเนื่องในการบริหาร ซึ่งการใช้กฎหมายแบบนี้จะไม่สามารถนำมาซึ่งระบบนิติธรรมได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ในทัศนะของตนหากไม่นับวาระตั้งแต่ปี 2557 ก็จะเป็นเรื่องที่แปลก
หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่อง แล้วดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ภายในเวลา 24.00 น. ของวันที่ 23 ส.ค. แม้วันที่ 24 ส.ค.จะยังสามารถดำรงตำแหน่งได้ตามนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยแล้วจะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะในวันที่ 26 ส.ค.ที่จะมีการประชุมกำหนดผู้บัญชาการเหล่าทัพ หากท่านไปนั่งเป็นประธานการประชุมแล้วแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญจะทำได้หรือไม่ ทั้งนี้หาก พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ และคืนเงินเดือนในช่วงหลังจากวันที่ 24 ส.ค.จะเป็นการลดความขัดแย้งในบ้านเมืองได้ จะเป็นการช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์เองในการป้องกันปัญหา และช่วยลดแรงกดดันต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญ คงจะไม่ยื้อเวลาการพิจารณาออกไปนานอย่างแน่นอน
“การชุมนุมไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ชุมนุมไปเลย แต่อย่าลุกลามไปเรื่องอื่น เพราะพลังจะถูกลดทอน เมื่อรู้ว่าเป้า 3 เป้า ถ้าทำลายเป้ากลางได้ ค่อยไปคุยอีก 2 เป้า ทำไมไปแยกพลังไปอีก 2 ส่วน เลยเหลือพลังเพียง 1 ส่วน ที่พูดไปอาจขัดใจใคร แต่ผมมองว่าไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบัน ตอนนี้ให้ไล่ พล.อ.ประยุทธ์อย่างเดียว เชื่อว่าจะเกิดผลเหมือนยุคไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว