ศาลปกครองนครสวรรค์มีคำพิพากษาคดีบ่อขยะศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ สั่งหน่วยงานรัฐ-เอกชน เร่งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานทั้งใน-นอกโรงงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2565 ศาลปกครองนครสวรรค์ได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ส. 1/2565 คดีหมายเลขแดง ที่ ส. 1/2565 หรือ คดีบ่อฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ในพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านม่วงชุม ตำบลคลองกระจัง อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสี่ฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และที่ 4 (องค์การบริหารส่วนตำบลคลองกระจัง และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองกระจัง) ไม่ควบคุมกำกับดูแลการประกอบกิจการฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (บริษัท เอกอุทัย จำกัด) ปล่อยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ประกอบกิจการก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวน ฝุ่นฟุ้งกระจาย ปล่อยน้ำเสียออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ทำให้น้ำบนผิวดินและน้ำใต้ดินมีสารปนเปื้อนส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสี่และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ หรือดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังตามรายงานผลตรวจสอบของพยานผู้เชี่ยวชาญกรมทรัพยากรน้ำบาดาลและกรมควบคุมมลพิษว่าพบค่าโลหะหนัก สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และสารพิษต่างๆ ในบ่อน้ำโรงงานและบ่อน้ำของชาวบ้านภายนอกโรงงานมีค่าเกินมาตรฐานประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน และพบค่าไอระเหยสารอินทรีย์มีค่าเกินระดับที่สามารถรับรู้กลิ่นได้ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และผลตรวจสอบสารอินทรีย์ระเหยง่ายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 5 ที่ตรวจพบสารไวนิลคลอไรด์ในบ่อสังเกตการณ์ที่ 3 และที่ 9 มีค่าเกินมาตรฐาน การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 มิได้พิจารณาสั่งการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ประกอบกิจการให้เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขตามที่ได้รับการอนุญาต จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้มีมาตรการใดๆ เพื่อระงับและแก้ไขเหตุรำคาญดังกล่าวให้หมดสิ้น จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเช่นกัน
พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ในการควบคุมกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ให้เป็นไปตามที่ได้รับการอนุญาตตามประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 เรื่อง การกำจัด สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 รวมทั้งดำเนินการระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ไม่ดำเนินการ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้อำนาจตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 แล้วแต่กรณีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ต่อไป ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และที่ 4 ใช้อำนาจตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หรือมาตรา 28/1 ระงับเหตุรำคาญที่เกิด จากการประกอบกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และที่ 4 ดำเนินการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 จัดทำแผนฟื้นฟูแหล่งน้ำ ผิวดินและน้ำใต้ดินและดำเนินการตามแผนดังกล่าวให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และปรับปรุงแก้ไขน้ำภายในโรงงานให้มีสภาพปลอดภัยก่อนปล่อยลงสู่ธรรมชาติ และดำเนินการอุดกลบบ่อน้ำบาดาลเพื่อป้องกันการปนเปื้อนไปสู่พื้นที่อื่นๆ ตามข้อเสนอแนะและผลการตรวจของพยานผู้เชี่ยวชาญ และรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวให้ศาลทราบ จนกว่าเหตุเดือดร้อนรำคาญจะหมดสิ้นไป