สธ.เตรียมจัดหาวัคซีนฝีดาษลิง รุ่น 3 เล็งฉีดเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คาดเข้าไทย 1 พันโดส ครึ่งหลังเดือน ส.ค.นี้ ยันพบผู้ติดเชื้อยืนยันในประเทศ 2 รายเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงสถานการณ์ฝีดาษลิงว่า ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.2565 ทั่วโลกมีผู้ป่วย ยืนยัน 22,812 ราย ใน 75 ประเทศ เสียชีวิต 3 ราย ที่ประเทศสเปน 2 ราย บราซิล 1 ราย แนวโน้มทั่วโลกขาขึ้น สูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรปหลายประเทศ
ส่วนประเทศแถบเอเชียเริ่มพบหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ป่น ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดคนเดินทางจากต่างประเทศ แต่เริ่มมีแนวโน้มติดในประเทศ เช่น สิงค์โปร์มีผู้ป่วยมากกว่า 10 ราย ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิต แม้ความรุนแรงของโรคต่ำเมื่อเทียบกับโควิด-19 โดยพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนสมองอักเสบ และมะเร็งร่วมด้วย
นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยยืนยัน 2 ราย และยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติม โดยกรณีรายแรกที่เป็นชายชาวไนจีเรีย หลังมีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กับค้นหาเชิงรุกในภูเก็ตจากประวัติที่ได้ ทำมา 1-2 สัปดาห์ พบเสี่ยงคัดกรอง 50 กว่าราย ไม่พบผู้ป่วยใหม่ในพื้นที่ และมีระบบเฝ้าระวังต่อเนื่อง ยืนยันว่าฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อง่าย ต้องสัมผัสใกล้ชิด โดยเฉพาะเพศสัมพันธ์คือการสัมผัสใกล้ชิดเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ และกรณีรายที่ 2 ชายไทย มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดชายต่างประเทศ มีผู้สัมผัสร่วมบ้าน 18 คน ทุกคนผลตรวจเป็นลบ แต่คุมไว้สังเกตอาการจนครบ 21 วัน ส่วนชาวเบลเยี่ยม ที่คาดว่าจะเป็นเหตุการติดเชื้อ เบื้องต้นน่าจะออกจากต่างประเทศแล้ว ซึ่งกำลังติดตามจากหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อไป
“สำหรับวัคซีนฝีดาษวานรนั้น ต้องย้ำว่าโรคนี้ไม่ได้รุนแรง ไม่ได้ติดต่อง่าย ซึ่งโรคจะต่างกับโควิด-19 จึงไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้กับคนไทยทุกคน แต่ต้องเลือกกลุ่มที่มีความเหมาะสม โดยการจะฉีดวัคซีนต้องคำนึง 4 ปัจจัย คือ 1.ประสิทธิภาพ 2.ผลข้างเคียง 3.สถานการณ์การระบาดของโรค และ4.ความเป็นไปได้ของการจัดบริการ ขณะนี้กำลังจัดหาวัคซีนรุ่นที่ 3 โดยให้องค์การเภสัชกรรม(อภ.) เป็นผู้ประสานเข้ามาอย่างช้าน่าจะช่วงครึ่งเดือนหลัง ส.ค.นี้” นพ.โอภาส กล่าว
เมื่อถามว่าวัคซีนฝีดาษลิงที่จะนำเข้ามามีจำนวนเท่าไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เบื้องต้น 1 พันโดส โดยฉีดคนละ 2 โดส ส่วนรายละเอียดการฉีดเว้นห่างเท่าไหร่ และจะเลือกกลุ่มใดในการฉีดนั้นจะมีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคฯ พิจารณาความเหมาะสมต่อไป
นพ.โอภาส กล่าวถึงกลยุทธ์ 3 ด้าน เพื่อการป้องกันควบคุมโรคฝีดาษวานรของประเทศไทย คือ 1.Prevent ใช้การป้องกัน คัดกรองคนเดินทางต่างประเทศ ระบุกลุ่มเสี่ยงกลุ่มไหน เน้นสื่อสาร ลดโอกาสเสี่ยง/ร่วมกิจกรรมเสี่ยง ทั้งในและต่างประเทศ เลี่ยงใกล้ชิดผู้ป่วย/กิจกรรมเสี่ยง เพิ่มการรับรู้พฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งเพศสัมพันธ์สัมผัสใกล้ชิดก็เสี่ยง WHO ระบุว่า ชายรักชายมีความเสี่ยงติดเชื้อสูงสุดและจำกัด ป้องกันแพร่ระบาดวงกว้าง
2.Detect การเฝ้าระวังในสถานพยาบาล หากมีป่วยตุ่มฝู้ป่วยหนองต้องตรวจห้องปฏิบัติการ และ3.Respond ถ้าเจอผู้ป่วยจะมีการระบุไทม์ไลน์ ค้นหาผู้ป่วยความเสี่ยง ควบคุมกลุ่มเสี่ยงไม่ให้แพร่กระจายเชื้อต่อไป ที่ผ่านมาสามารถค้นหาแหล่งโรคแบละป้องกันไม่ให้กระจายวงกว้าง
“มาตรการโควิด-19 เนื่องจากโรคมีการติดต่อง่าย รุนแรงสูง มาตรการใช้ค่อนเข้างเข้มงวดเคร่งครัด มาตรการทางกฎหมาย มาตรการสังคมมีมาก แต่ฝีดาษลิงไม่รุนแรงมาก ติตต่อยาก กลุ่มเสี่ยงเป็นเป้าหมายเฉพาะ ดังนั้น มาตรการที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ น่าจะเพียงพอในการเฝ้าระวัง แต่มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งสถานการณ์ในไทยพบผู้ป่วยยืนยันเพียง 2 ราย ต่างจากบางรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ที่ทั้งประเทศมีการรายงานผู้ป่วยยืนยันแล้วกว่า 5,000 ราย”นพ.โอภาสกล่าว
เมื่อถามว่าวัคซีนฝีดาษลิงที่จะนำเข้ามามีจำนวนเท่าไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เบื้องต้น 1 พันโดส โดยฉีดคนละ 2 โดส ส่วนรายละเอียดการฉีดเว้นห่างเท่าไหร่ และจะเลือกกลุ่มใดในการฉีดนั้นจะมีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคฯ พิจารณาความเหมาะสมต่อไป
ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เดิมการตรวจเชื้อฝีดาษวานร จะต้องตรวจในห้องชีวนิรภัยระดับ 3 แต่ล่าสุดท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามให้สามารถตรวจเชื้อในห้องชีวนิรภัยระดับ 2 ได้ และขณะนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งสามารถตรวจหาเชื้อฝีดาษลิงได้ด้วยวิธีพีซีอาร์ และรายงานผลใน 24 ชั่วโมง ล่าสุดศูนย์วิทยาศาสตร์ที่สมุทรสาครตรวจไปแล้วเมื่อวานนี้
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการเก็บตัวอย่างนั้นจะมีรายละเอียดว่า ต้องตรวจอย่างไรบ้าง แต่จริงๆ หากไม่สามารถตรวจได้ทั้งหมดแต่ขอให้มีการตรวจจาก Throat swab ก็สามารถส่งตรวจได้ และบุคลากรผู้ทำการตรวจขอให้สวมชุด PPE ป้องกันตัวเอง แม้จะไม่ได้ติดกันง่าย แต่การป้องกันตนเองก็เป็นสิ่งที่ดี
พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีแนวทางปฏิการวินิจฉัย การดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อกรณีโรคฝีดาษวานร ฉบับวันที่ 31 ก.ค.2565 ซึ่งได้ผ่านการประชุมของศูนย์ EOC เมื่อช่วงเช้าวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการแจ้งรายละเอียดต่างๆในการวินิฉัย การดูแลรักษา โดยหลักๆ หากพบการติดเชื้อ ก็จะมีการแอดมิททุกรายในโรงพยาบาล และให้ดำเนินการรักษาในห้องแยกผู้ป่วยโรคติดเชื้อ เป็นต้น
ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรครุนแรง อาทิ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่นผู้ติดเชื้อเอชไอวี โรคมะเร็งอวัยวะต่างๆ ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกมาภายใน 2 ปี ผู้ที่เป็นโรคที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี หญิงตั้งครรภ์ /ระหว่างให้นมบุตร เป็นต้น